“น้ำมันปลา” หรือ “fish oil” นั้น สกัดมาจากปลาทะเลน้ำลึก พบมากในปลาแซลมอน และปลาทูน่า โดยสกัดมาจากผิวหนังของปลา เนื้อปลา และตัวปลา ปลาทะเลมีกรดไขมันหลายชนิด แต่กรดไขมันที่มีมากในน้ำมันปลาทะเล คือ Docosahexaenoic acid (DHA) และ Eicosapentaenoic acid (EPA) ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวใน กลุ่มโอเมก้า3 ขณะเดียวกันก็พบได้ในปลาน้ำจืด เช่น ปลาดุก ปลาช่อน และปลาสวาย แต่อาจมีปริมาณโอเมก้า 3 ที่ต่ำกว่า อีกทั้งชนิดของเนื้อปลาจะมีปริมาณไขมัน DHA และ EPA แตกต่างกันไป ซึ่งกรดไขมันทั้งสองชนิดนี้มีส่วนช่วยต้านการอักเสบ ลดระดับไขมันที่เป็นอันตราย เพิ่มไขมันดีในเลือด ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ช่วยเสริมสร้างเซลล์สมองและดวงตา
น้ำมันปลา ดีต่อสตรีวางแผนท้อง และมีบุตรยาก
ในส่วนของการเสริมภาวะเจริญพันธุ์ (fertility) นั้น โอเมก้า 3 ช่วยเพิ่มการสร้าง nitric oxide ช่วยให้หลอดเลือดขยายตัวทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะสืบพันธุ์ได้ดีขึ้นมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มคุณภาพเซลล์ไข่ โดยเฉพาะผู้หญิงวัย 35 ขึ้นไปที่เซลล์ไข่เริ่มเสื่อมคุณภาพ ประสิทธิภาพในการทำงานของรังไข่ลดลง ควรทานโอเมก้า 3 ให้เพียงพอ นอกจากนี้โอเมก้า 3 ยังมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มคุณภาพของสเปิร์มอีกด้วย
ครูก้อย นัชชา ลอยซูศักดิ์ ที่ปรึกษาเตรียมตั้งครรภ์สำหรับผู้มีบุตรยากตามหลักวิทยาศาสตร์ และผู้ก่อตั้งเพจ babyandmom.co.th ได้ให้ข้อมูลว่า ไขมันมี 2 ประเภท ได้แก่ ไขมันไม่อิ่มตัว คือ ไขมันดี เป็นไขมันจำเป็น (Essential Fatty acid) ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ต้องได้รับเข้าไปจากการทานอาหาร หรือได้รับจากอาหารเสริมสกัด เช่น น้ำมันปลา หรือที่เรียกว่า Fish oil ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง ช่วยในการเสริมสร้างภาวะเจริญพันธุ์และช่วยเพิ่มคุณภาพของไข่ และเพิ่มความหนาให้กับผนังมดลูกให้พร้อมรับการฝังตัวของตัวอ่อน และไขมันอีกประเภทหนึ่งที่ผู้หญิงวางแผนท้องต้องหลีกเลี่ยงคือ ไขมันอิ่มตัว คือ ไขมันจากสัตว์ หรือไขมันทรานส์ (Trans Fat) หรือเรียกว่า ไขมันเลว ซึ่งผู้หญิงวางแผนตั้งครรภ์ต้องงด เพราะมีงานวิจัยชี้ว่า ผู้หญิงที่กินไขมันทรานส์ ( Trans Fat) ท้องยาก
มีรายงานการศึกษาวิจัย จาก National Institute of Health (NIH) สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับภาวะเจริญพันธุ์ที่เกี่ยวพันกับไขมันอิ่มตัว และภาวะเจริญพันธุ์ของผู้หญิง พบว่าการทานอาหารที่มีไข่มันอิ่มตัวสูง ทำให้เกิดภาวะไข่ไม่ตกสูงขึ้น โดยทุก 2 % ที่ทานไขมันอิ่มตัวเข้าไป ส่งผลให้ไข่ไม่ตกถึง 73% ซึ่งนอกจากจะทำให้ภาวะเจริญพันธุ์ลดลงแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดด้วย
อีกงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Aging Cell เมื่อปี 2012 จาก Harvard Medical School ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานว่าการได้รับโอเมก้า 3 จะช่วยยืดอายุระบบสืบพันธุ์และช่วยปรับปรุงคุณภาพไข่ และจากงานวิจัยของสถาบัน University of Colorado Advanced Reproductive Medicine เมื่อปี 2016 ได้นำเสนอในที่ประชุม American Society for Reproductive Medicine Meeting ได้รายงานการทดลองกับหนูทดลองที่รับโอเมก้า 3 พบว่า หนูทดลองมีไข่ที่อยู่ในภาวะเจริญพันธุ์ที่สามารถปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อนที่มีชีวิตได้มากกว่า กล่าวคือคุณภาพของเซลล์ไข่จะมีคุณภาพมากกว่าสัตว์ที่ไม่ได้รับโอเมก้า3 ซึ่งไข่ที่มีคุณภาพนี้เองมีโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนที่มีคุณภาพได้ในอนาคต (embryo development)
นักวิจัยจึงสรุปเบื้องต้นได้ว่าโอเมก้า 3 มีส่วนช่วยเพิ่มภาวะเจริญพันธุ์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของรังไข่ (ovarian reserve) การตกไข่ (ovulation) และเพิ่มคุณภาพของเซลล์ไข่ อย่างไรก็ตามยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์ต่อไป
ยังมีอีกงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The American Journal of Clinical Nutrition เมื่อปี 2016 ศึกษาพบว่าการรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 สูงมีส่วนในการ “ช่วยลดภาวะไข่ไม่ตก” (anovulation) นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนตัวสำคัญในการทำให้มดลูกหนาตัวเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์อีกด้วย
ต่อมาในปี 2017 University of Colorado Advanced Reproductive Medicine ได้ศึกษาอย่างต่อเนื่องในผลของทานโอเมก้า 3 ต่อภาวะเจริญพันธุ์ ที่ได้นำเสนอในงานสัมมนา Endocrine Society ได้เสนอผลการวิจัยที่ทดลองกับผู้หญิงที่อยู่ในภาวะอ้วน (Obese women) ซึ่งโรคอ้วนเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะมีบุตรยาก และทำให้ร่างกายอักเสบ ซึ่งการอักเสบก็เป็นสาหตุหนึ่งของการมีบุตรยากเช่นกัน ผลการศึกษาพบว่าโอเมก้า 3 ช่วยเพิ่มฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ช่วยให้ไข่ตกเป็นปกติขึ้น และฮอร์โมนตัวนี้มีส่วนช่วยให้มดลูกพร้อมรับการฝังตัวของตัวอ่อน การทานโอเมก้า 3 จึงมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ ยิ่งไปกว่านั้นโอเมก้า 3 ยังช่วยลดการอักเสบเรื้อรัง จากการทดลองพบว่าระดับค่าความอักเสบของผู้หญิงในกลุ่มทดลองลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
จากวารสาร Human Reproduction ปี 2017 เป็นงานวิจัยของ Harvard T.H. Chan School of Public Health ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำว่า การทานโอเมก้า3 เป็นการเตรียมความพร้อมอย่างหนึ่งก่อนเข้าสู่กระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว หรือเตรียมไข่ และช่วยเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์สูงขึ้น
โดย ครูก้อย นัชชา กล่าวสรุปว่า โอเมก้า 3 ในน้ำมันปลา (Fish oil) เหมาะสำหรับผู้หญิงเตรียมตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีบุตรยาก ซึ่งจากการศึกษางานวิจัยหลากหลายฉบับสามารถสรุปประโยชน์ของ โอเมก้า 3 ในน้ำมันปลา (Fish oil) ได้ดังนี้
สำหรับผู้หญิงเตรียมก่อนตั้งครรภ์
น้ำมันปลา (Fish oil) ช่วยทำให้การตกไข่เป็นปกติ การปรับสมดุลฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง ช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมน โปรเจสเตอโรน ( Progesterone ) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ไข่ตกปกติ และช่วยให้ผนังมดลูกหนาขึ้น พร้อมรับการฝังตัวของตัวอ่อน ช่วยปรับปรุงคุณภาพของเซลล์ไข่ และยืดระยะภาวะรังไข่เสื่อมออกไป
สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์
ในน้ำมันปลา (Fish oil) มี โอเมก้า 3 มี DHA ที่จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพดวงตา สมอง และ เสริมสร้างระบบประสาทของทารกให้แข็งแรง นอกจากนี้ โอเมก้า 3 ยังให้ EPA ซึ่งช่วยดูแลลูกน้อยในครรภ์ให้แข็งแรง ช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนด ช่วยเพิ่มน้ำหนักของลูกในครรภ์ ช่วยลดความเครียดหรืออาการซึมเศร้าของแม่หลังคลอดได้ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มน้ำนมสำหรับคุณแม่หลังคลอดอีกด้วย
สำหรับบุคคลทั่วไป
น้ำมันปลา (Fish oil) ช่วยดูแลสุขภาพ ลดคอเลสเตอรอล ลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเกิดจากร่างกายได้รับจากอาหารประเภทไขมันโดยตรง หรือ ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป และช่วยเพิ่มระดับไขมันดี
งานวิจัยเผยน้ำมันปลา (Fish oil) ช่วยปรับปรุงคุณภาพของสเปิร์มได้
ในส่วนของผู้ชายนั้นมีงานวิจัยหลายฉบับที่ได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ของโภชนาการและคุณภาพของสเปิร์มพบว่ามีความสัมพันธ์กัน โดยการรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 สูงช่วยปรับปรุงคุณภาพของสเปิร์มได้
นักวิจัยศึกษาต่อเนื่องถึงเรื่องของการรับประทานปลาทะเลที่มีโอเมก้า 3 และการทานอาหารเสริม Fish Oil ที่มีโอเมก้า 3 สูง ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของสเปิร์มพบว่า โอเมก้า 3 ช่วยให้สเปิร์มมีคุณภาพดีขึ้นและอาจช่วยแก้ปัญหาภาวะมีบุตรยากที่มีสาเหตุมาจากฝ่ายชาย (male Infertility)ได้
โดย ครูก้อย นัชชา ได้กล่าวว่า จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Asian Journal of Andrology เมื่อปี 2012 พบว่ าโอเมก้า 3 ช่วยเสริมการทำงานของระบบการสร้างน้ำอสุจิของมนุษย์ได้ดีขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนสเปิร์ม (sperm count) การเคลื่อนไหวของสเปิร์ม (sperm motility) และรูปร่างของสเปิร์มที่สมบูรณ์ขึ้น (sperm morphology)
จากงานวิจัยนี้ได้อ้างถึงงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Andrologia เมื่อปี 2011ได้ทำการศึกษาผู้ชายที่มีบุตรยาก 238 คน โดยให้ทานโอเมก้า 3 ประเภท EPA และ DHA ปริมาณ 1.84 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 32 สัปดาห์ พบว่า จำนวนสเปิร์มและความหนาแน่นของเซลล์สเปิร์มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น ผู้หญิงเตรียมบำรุงก่อนตั้งครรภ์ต้องเสริมด้วย Fish Oil โดยปริมาณที่ควรรับประทาน น้ำมันปลา (Fish oil) ต่อวันวันละ 500-1,000 มิลลิกรัม ทานหลังอาหาร เพื่อเพิ่มคุณภาพเซลล์ไข่และให้คุณสามีทานด้วยเพื่อสเปิร์มที่แข็งแรง สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเพื่อความปลอดภัย ครูก้อย นัชชา กล่าวสรุป.
ข้อมูลจาก: Research Talk โดย ครูก้อย นัชชา ลอยชูศักดิ์ ผู้ก่อตั้งเพจ Babyandmom.co.th