ระบบทางเดินอาหาร วิธีดูแลสุขภาพ

สุขภาวะของระบบทางเดินอาหาร ขึ้นอยู่กับอาหารและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต

อาหารที่เรากินและวิถีชีวิตที่ใช้ ส่งผลต่อสุขภาวะระบบทางเดินอาหารของเรา วิธีดูแลระบบทางเดินอาหาร ให้ร่างกายสมดุล

Home / HEALTH / สุขภาวะของระบบทางเดินอาหาร ขึ้นอยู่กับอาหารและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต

ระบบย่อยอาหาร ของมนุษย์เป็นเรื่องน่าทึ่ง และหากเราใช้เวลาสักนิดไตร่ตรองดูว่าระบบทางเดินอาหารมีคุณประโยชน์ต่อเรามากแค่ไหน เราอาจจะอยากใส่ใจดูแลระบบทางเดินอาหารของเรามากขึ้นก็เป็นไปได้

อาหารที่เรากินและวิถีชีวิตที่ใช้ ส่งผลต่อสุขภาวะระบบทางเดินอาหารของเรา

ซูซาน โบเวอร์แมน ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการศึกษาและการฝึกอบรมโภชนาการระดับโลก เฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น อธิบายถึงหน้าที่ที่สำคัญของระบบทางเดินอาหารในการย่อยอาหารที่เรารับประทานเข้าไปให้เล็กลงเพื่อให้ร่างกายมีสารอาหารและพลังงานพร้อมใช้ และระบบทางเดินอาหารยังมีหน้าที่ลำเลียงขับของเสียออกจากร่างกายอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นกุญแจสำคัญต่อภูมิคุ้มกันของร่างกาย เนื่องจากเซลล์บุผิวของระบบทางเดินอาหารช่วยปกป้องร่างกายจากการรุกรานของเชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่ทำให้เราเจ็บป่วย แต่กระนั้นหลายคนก็ยังคงทำร้ายระบบทางเดินอาหารด้วยการกินอาหารที่ผ่านการแปรรูปมาอย่างหนัก หรือไม่ก็รับประทานอาหารมากเกินความจำเป็น ทานอาหารเร็วเกินไป และยังไม่ใส่ใจระบบทางเดินอาหารเท่าที่ควรจนกว่าจะเกิดความผิดปกติขึ้นข่าวดี คือเมื่อเราทานอาหารที่มีประโยชน์เข้าสู่ร่างกาย ระบบทางเดินอาหารซึ่งถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี จะทำหน้าที่ของตัวมันเองได้อย่างสมบูรณ์ตามธรรมชาติ

อาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนได้สัดส่วนช่วยเสริมสร้างการทำงานของเซลล์ในร่างกาย รวมถึงเซลล์ที่อยู่ในระบบทางเดินอาหารด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจะต้องจัดการให้ระบบทางเดินอาหารของเราได้รับอาหารที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ให้มาก รวมถึงต้องดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความจำเป็นของร่างกาย และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ นอกจากนี้เราต้องแน่ใจว่าร่างกายของเราได้รับโพรไบโอติกที่เพียงพอ ซึ่งโพรไบโอติกนี้ คือแบคทีเรียชนิดดีสายพันธุ์ที่มีประโยชน์ซึ่งมีอยู่ในอาหารบางประเภท ทำหน้าที่รักษาความสมดุลของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารของเรา

ไฟเบอร์ หรือ ใยอาหาร

ไฟเบอร์ คือ ส่วนประกอบที่อยู่ในโครงสร้างของพืช พบได้ในผลไม้ที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง ผัก ถั่ว เมล็ดธัญพืช อาทิ ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ในวัยผู้ใหญ่ควรได้รับไฟเบอร์ในปริมาณ 30 กรัมต่อวัน แต่โดยเฉลี่ยพบว่า ผู้ใหญ่กลับได้รับไฟเบอร์เพียงหนึ่งในสามเท่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวิถีชีวิตที่มีภารกิจรัดตัวนั่นเอง เมื่อเราออกจากบ้านเดินทาง เรามีแนวโน้มน้อยมากที่จะได้รับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชที่มีใยอาหารสูง ซึ่งปกติเราจะทานของพวกนี้ได้มากกว่าเมื่ออยู่ที่บ้าน ไฟเบอร์ต่างชนิดให้ประโยชน์ต่อร่างกายต่างกัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรได้รับไฟเบอร์จากหลายแหล่ง ไฟเบอร์บางประเภทอย่างที่พบในอาหาร เช่น แอปเปิ้ล ส้ม มันฝรั่ง ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เล่ย์ และถั่ว ช่วยให้เรารู้สึกท้องอิ่ม ในขณะที่ไฟเบอร์อีกประเภทที่พบในผักและธัญพืชเต็มเมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสี ช่วยในการลำเลียงอาหารไปยังลำไส้ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยป้องกันการท้องผูก

น้ำและของเหลว

การดื่มน้ำเปล่าที่เพียงพอทำให้ลำไส้และระบบทางเดินอาหารทำงานได้อย่่างสมบูรณ์ น้ำช่วยให้ใยอาหารพองตัว เป็นการเพิ่มเนื้ออุจจาระทำให้ขับถ่ายสะดวกขึ้น เราต้องการน้ำในการผลิตน้ำลาย น้ำย่อย และน้ำยังทำหน้าที่ลำเลียงสารอาหารไปยังเซลล์ต่างๆในร่างกาย ดังนั้นการดื่มน้ำอย่างเพียงพอเป็นประจำทุกวัน จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งไม่เฉพาะต่อสุขภาวะที่ดีของระบบย่อยอาหาร แต่จำเป็นต่อสุขภาพโดยรวมของร่างกาย เราควรตั้งเป้าดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว และหากเป็นไปได้ควรเป็นเครื่องดื่มที่ปราศจากแคลอรี่ (แน่นอนว่า เครื่องดื่มจำพวก ชา กาแฟ นับรวมอยู่ในของเหลวที่ดื่มเข้าร่างกายในแต่ละวันด้วย)

โพรไบโอติก

ระบบทางเดินอาหารของมนุษย์เราเป็นถิ่นที่อยู่ของจุลินทรีย์มากถึงร้อยล้านล้านเซลล์ ซึ่งรวมถึงแบคทีเรียหลากหลายสายพันธุ์ เราเรียกรวมจุลินทรีย์เหล่านี้ว่าโพรไบโอติก โดยจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นนิคมขนาดใหญ่เรียกว่า “ไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหาร” แบคทีเรียชนิดดีเหล่านี้ทำหน้าที่สำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยดูดซึมสารอาหารจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป และยังช่วยผลิตวิตามินบางตัวที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งยังทำหน้าที่ปกป้องทางเดินอาหารด้วยการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียก่อโรค ไม่เพียงเท่านี้ ระบบนิเวศขนาดเล็กที่อยู่ในร่างกายเรานี้อาจมีประโยชน์มากกว่าที่เราคิด โดยมีหลักฐานบ่งชี้ว่า ไมโครไบโอมในระบบทางเดินอาหารอาจส่งผลโดยตรงต่อน้ำหนักตัว ความจำ และอารมณ์ด้วย แม้ว่าตอนนี้อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปจากการศึกษาวิจัยที่มีเผยแพร่ออกมายังไม่มาก

โพรไบโอติกที่อยู่ในอาหารที่เรารับประทานเข้าไป ช่วยรักษาความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ (โดยใยอาหารบางประเภทที่เรียกว่า พรีไบโอติกเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของแบคทีเรียชนิดดี) ซึ่งแบคทีเรียโพรไบโอติกที่พบได้มากที่สุดในลำไส้ของเราคือ แลคโตบาซิลลัส แอซิโดฟิลลัส ซึ่งพบได้ในโยเกิร์ต นอกจากนี้แบคทีเรียชนิด“ดี”ยังพบได้ในอาหารหมัก เช่น อาหารหมักจากถั่วเหลือง (เต้าเจี้ยวมิโซะ ถั่วเหลืองหมักเทมเป) หรืออาหารดอง อย่างแตงกวาดอง ผักกาดดอง ซาวเคราท์ หรือ กิมจิ รวมถึงพบได้ในอาหารเสริมพรีไบโอติกต่างๆ

การออกกำลังกาย

การออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ ช่วยเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีต่อระบบทางเดินอาหารของเราหลายประการ เวลาที่เราออกกำลังกาย กล้ามเนื้อมีการบีบตัว การหายใจลึกขึ้น ส่งผลให้การบีบรัดตัวตามธรรมชาติของกล้ามเนื้อลำไส้ได้รับการกระตุ้นไปด้วย ซึ่งช่วยในการส่งผ่านลำเลียงอาหารไปตามระบบ การออกกำลังกายยังเป็นที่ยอมรับแพร่หลายว่าเป็นตัวช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี ซึ่งส่งผลไปถึงการช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อันเนื่องมาจากสภาวะอารมณ์ด้านลบ ความสัมพันธ์ระหว่างอวัยวะภายในกับสมองบอกเราว่า การรักษาความสมดุลของระบบทางเดินอาหารให้อยู่ในระดับดีเยี่ยมเป็นปัจจัยหลักสำคัญต่อการมีชีวิตที่ดี

การผสมผสานเข้าด้วยกัน

อาหารที่เรารับประทานและวิถีชีวิตที่เราใช้ในการรักษาสุขภาพให้ดี เป็นสิ่งเดียวกันกับที่ใช้ในการส่งเสริมสุขภาวะของระบบทางเดินอาหารให้ดีด้วยเช่นกัน การบริโภคอาหารที่มีกากใยอาหารสูง จำพวกผักผลไม้หลากสีสัน เมล็ดธัญพืช การรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย และการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญทั้งสิ้น และอย่าลืมดื่มน้ำให้เพียงพอ รวมถึงการเพิ่มแหล่งอาหารโพรไบโอติกเข้าไปในมื้ออาหารประจำวันด้วย หากเกิดความรู้สึกว่าเราได้รับใยอาหารหรือโพรไอโอติกไม่เพียงพอ การทานอาหารเสริมนับเป็นตัวช่วยที่ดี สุดท้ายนี้ แนะนำให้ใช้เวลาอิ่มอร่อยไปกับมื้ออาหาร ค่อยๆรับประทานอาหารอย่างช้าๆ ซึ่งจะไม่ส่งผลให้ระบบร่างกายของเรารวน แต่ตรงกันข้าม มันจะทำให้เราไม่ทรมานไปกับอาการอาหารไม่ย่อยที่เกิดจากการรับประทานที่เร่งรีบและมากเกินไป

ที่มา: HerbalifeThailandOfficial