ไส้เลื่อน เป็นอีกปัญหากวนใจ ที่พบบ่อยในนักกีฬาหรือผู้ที่มีการออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ โดยไส้เลื่อนนักกีฬาจะมีความคล้ายคลึงกับไส้เลื่อนขาหนีบ แต่มีวิธีการรักษาและอาการบาดเจ็บที่แตกต่างกัน ฉะนั้นแล้วการรู้เท่าทันเพื่อที่จะสามารถรับมือได้อย่างถูกต้องเป็นอีกเรื่องที่ไม่ควรละเลย
วิธีรับมือกับโรค ไส้เลื่อนนักกีฬา ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ก็เสี่ยงเป็น
นายแพทย์ชนินทร์ ปั้นดี ศัลยแพทย์ด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคไส้เลื่อนนักกีฬา (Sports Hernia) หรือไส้เลื่อนฮ็อกกี้ มีอาการคล้ายไส้เลื่อนแต่ไม่มีการเลื่อนของลำไส้ออกนอกช่องท้อง สามารถพบได้มากในกลุ่มนักกีฬาที่มีการวิ่งเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็ว หรือมีการเคลื่อนไหวบิดหมุนบริเวณข้อต่อสะโพกอย่างรุนแรง เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล วิ่ง กระโดดสูง เบสบอล ฟันดาบ ฮ็อกกี้น้ำแข็ง มวยปล้ำ เป็นต้น ที่จะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อขาหนีบ (Adductor) ช่องท้องส่วนล่างของนักกีฬา พบได้บ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
สาเหตุของโรคไส้เลื่อนนักกีฬา
เกิดจากความอ่อนแอของกล้ามเนื้อในช่องท้องส่วนล่างบริเวณขาหนีบและข้อต่อสะโพกที่มีการใช้งานหนัก หรือความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อขาหนีบที่มีแรงตึงมากกว่ากล้ามเนื้อหน้าท้องด้านล่าง ทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อและการฉีกขาดของเส้นประสาทบริเวณขาหนีบ
ลักษณะอาการไส้เลื่อนนักกีฬา
จะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป มีอาการสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวโดยไม่มีการเลื่อนของลำไส้ โดยมีอาการปวดหรือเจ็บแบบเสียดๆท้องน้อยส่วนล่าง ขาหนีบ อัณฑะ ต้นขา อาจมีอาการขณะจามแรง ๆ ออกกำลังกายหรือซิทอัพ ส่วนไส้เลื่อนขาหนีบจะมีอาการปวดจุกขาหนีบที่มีความสัมพันธ์กับก้อนขาหนีบ รู้สึกมีก้อนเข้าออกได้บริเวณขาหนีบ มักมีอาการขณะลุกขึ้นหลังจากนอนหรือนั่ง ขณะไอ จาม หรือเบ่งอุจจาระ อาการจะเป็นๆ หายๆ เนื่องจากอาการที่คล้ายกันและทับซ้อนกับโรคอื่นๆเช่น Osteitis Pubis การบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังส่วนเอว ข้อต่อสะโพก ช่องท้อง และระบบทางเดินปัสสาวะ การตรวจวินิจฉัยจะต้องซักประวัติอาการของผู้ป่วยทางคลินิก การตรวจร่างกายร่วมกับการตรวจ MRI เพื่อตรวจแยกรอยโรคที่ต่างกัน นอกจากนี้นักกีฬาหลายคนอาจมีกล้ามเนื้อขาหนีบอ่อนแรงหรือเกิดการฉีกขาด อาจส่งผลให้ Sports Hernia พัฒนาเป็นไส้เลื่อนในช่องท้องได้หากกล้ามเนื้อผนังหน้าท้องอ่อนแอลงอีก
ขั้นตอนการรักษา
สามารถรักษาแบบประคับประคองด้วยการพักการใช้งานของกล้ามเนื้อบริเวณขาหนีบหรือหยุดกิจกรรม ประคบเย็น กระตุ้นด้วยไฟฟ้า ทานยาแก้ปวดลดบวม ฉีดยา กายภาพบำบัด เสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานโดยการบริหารกล้ามเนื้อขาหนีบให้แข็งแรง การฝึก Hip Adduction หรือการนอนในท่าคว่ำโดยให้งอสะโพกด้านที่มีอาการและหมุนออกด้าน
หากทำการรักษาแบบประคับประคองแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นใน 6 – 8 สัปดาห์ โดยเฉพาะในนักกีฬาอาชีพ การผ่าตัดแบบเปิดหรือการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (Herniorharrphy) ด้วยการเสริมความแข็งแรงของผนังช่องท้องโดยการเสริมตาข่าย Mesh Repair แผ่นสารสังเคราะห์เพื่อฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อผนังหน้าท้อง หรืออาจร่วมกับการซ่อมแซมกล้ามเนื้อขาหนีบที่มีปัญหาในกรณีที่มีสาเหตุจากความไม่สมดุลของกล้ามเนื้อขาหนีบ
หลังผ่าตัด จะมีอาการตึงแผลบริเวณขาหนีบเล็กน้อย ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 1 – 2 วัน หลังผ่าตัดต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้มีแรงดันในช่องท้องสูงในช่วง 4 – 6 สัปดาห์แรก เช่น ห้ามยกของหนักหรือออกกำลังกายหักโหม หลีกเลี่ยงการเบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะ และหลีกเลี่ยงการบิดและหมุนลำตัวอย่างกะทันหัน
โรคไส้เลื่อนนักกีฬา เป็นอาการที่ไม่สามารถชะล่าใจได้ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้อักเสบเรื้อรังจนรุนแรง ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย หากมีอาการควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ถูกต้องทันที สอบถามหรือปรึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่ ศูนย์ศัลยกรรม รพ.กรุงเทพ โทร. 0 2310 3000 โทร 1719 หรือ แอดไลน์ @bangkokhospital