สปสช. โควิด-19

เมื่อติดเชื้อ COVID-19 แล้วต้องการ Home Isolation กับ สปสช.

หากป่วยเป็นโควิด-19 แล้วต้องกักตัวที่บ้านหรือ “Home Isolation” สิ่งของจำเป็นและแนะนำให้มีเตรียมไว้ มีดังต่อไปนี้

Home / HEALTH / เมื่อติดเชื้อ COVID-19 แล้วต้องการ Home Isolation กับ สปสช.

ในสถานการณ์ COVID-19 ช่วงนี้ในประเทศเราถือว่าหนักหน่วงอยู่พอสมควร ตัวเลขผู้ป่วยรายวัน ยังคงน่าเป็นห่วง ดังนั้นการดูแลตัวเองตัวเองสำคัญมากๆ เลยนะ และถ้าใครยังไม่มั่นใจว่าตัวเองติดเชื้อหรือยัง? เป็นระดับสีไหน แล้วถ้าติดเชื้อจะมี วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้น กับ COVID-19 ยังไง ให้ไม่ไปสัมผัสผู้อื่นเพิ่มเติม วันนี้เรารวบรวมวิธีการรีเช็ก และรักษาตัวเองเบื้องต้นมาให้แล้ว

เช็กชัวร์! อาการโควิดเป็นแบบนี้ติดหรือยังนะ?

หากใครที่กำลังกังวลว่าตัวเองติดเชื้อหรือยัง โดยเฉพาะผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หรือไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเบื้องต้นขอแนะนำให้กักตัว ไม่พบปะผู้คน แล้วลองสังเกตอาการตนเองเป็นระยะเวลา 14 วัน หลังจากไปสัมผัสกับผู้ป่วยหรือไปในพื้นที่เสี่ยง แต่ถึงแม้ไม่มีความเสี่ยง ก็ให้สังเกตอาการผิดปกติของตนเองได้ 

จากข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้สำรวจและสรุปอาการที่พบได้ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 เป็นเปอร์เซ็นต์ ดังนี้

  • 88% มีไข้ สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
  • 68% ไอแห้ง ๆ
  • 38% ไม่มีเรี่ยวแรง
  • 33% ไอแบบมีเสมหะ
  • 18% หายใจลำบาก หายใจเหนื่อยหอบ
  • 14% เจ็บคอ
  • 14% ปวดหัว
  • 14% ปวดกล้ามเนื้อ
  • 11% หนาวสั่น

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ แต่จะพบได้น้อย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน คัดจมูก ท้องเสีย เป็นต้น ถ้ารู้มามีอาการดังนี้ ควรงดการสัมผัสและใกล้ชิดกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้นะ

“ป่วยเป็นโควิด” ในระดับไหน? กลุ่มสีเขียว-เหลือง-แดง คืออะไร?

เมื่อทราบว่าตัวเองติดเชื้อ ขั้นตอนแรกควรสังเกตอาการตัวเองว่าอยู่ในระดับไหน ซึ่ง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้แบ่งระดับอาการผู้ป่วยโควิด ตามระดับอาการป่วยออกเป็นสีเขียว สีเหลือง และสีแดง เพื่อการดูแลและรักษาอย่างเป็นระบบ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

สีเขียว คือ ผู้ป่วยอาการไม่มาก หรือไม่มีอาการ หรืออาการน้อยๆ เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูก ตาแดง ผื่นขึ้น ไม่มีโรคร่วม พักรักษาที่โรงพยาบาลสนาม หรือฮอสพิเทล (Hospitel) หรือสามารถรักษาตัวเองอยู่ที่บ้านได้ ด้วยการทำ Home Isolation หรือการกักตัวที่บ้านในระยะเวลา 14 วัน

สีเหลือง คือ คือ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่นๆ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม ตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1000 ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาเชื้อไวรัสโดยด่วน

สีแดง คือ กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก เอกซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม ความอิ่มตัวของเลือดน้อยกว่า 96% หรือลดลงของออกซิเจนมากกว่า 3% หลังออกแรง ของค่าที่วัดได้ในครั้งแรกที่ออกแรง 

เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลซึ่งมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ที่ผ่านมา สายด่วน สปสช. 1330 ได้ช่วยทำหน้าที่ประสานงานหาเตียงแก่ผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ แต่ยังไม่มีเตียงรองรับจากการใช้เวลารอเตียงนานหลายวันก็อาจจะเสี่ยงที่อาการจะทรุดลง 

ซึ่งสำหรับผู้ป่วยระดับสีเขียว ที่สามารถ ดูแลตัวเองเบื้องต้น รับมือกับ COVID-19 ได้ สปสช.ได้มีการประสานคลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาล เพื่อจับคู่ดูแลที่บ้าน (Home Isolation) ในส่วนของกลุ่มที่สภาพที่อยู่อาศัยไม่สามารถดูแลที่บ้านได้ ก็จะเป็นการดูแลในระบบชุมชน (Community Isolation) ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) และราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ในการเฝ้าระวังอาการและติดตาม

เมื่อติดเชื้อ “โควิด ในระดับสีเขียว” และยังไม่ได้รับการติดต่อ

ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มสูงมากอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระบบการดูแลและประสานงานนำส่งผู้ป่วย แม้ว่าจะได้เพิ่มจำนวนคู่สายและจำนวนเจ้าหน้าที่ให้บริการ โดยทำงานให้บริการกันอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม ซึ่งผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ต้องการโทรเข้ามาเพื่อเข้าระบบดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน โดยโทร 1330 กด 14 จะใช้เวลารอสายนานมาก ดังนั้น สปสช.จึงได้เพิ่มช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ขึ้น

โดยเปิดให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่เข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนแล้วแต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ หรือผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน สามารถกรอกข้อมูลลงทะเบียนด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามลิงค์นี้ https://crmsup.nhso.go.th เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแล ซึ่งจะได้รับการประเมินอาการด้วยวิดิโอคอลวันละ 2 ครั้ง อาหาร 3 มื้อ พร้อมกับได้รับปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และยาฟ้าทะลายโจรและยาพื้นฐานอื่นๆ ในกรณีที่อาการแย่ลงจะมีการประสานส่งต่อรักษาที่โรงพยาบาล โดยจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อประคองอาการในระหว่างประสานรอเตียงผู้ป่วย

ทางสปสช. จึงมีการ ระดม “คลินิกเอกชนทั่วประเทศ” ร่วมเป็นกำลังสำคัญดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบ Home Isolation และตรวจโควิดด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสท์ คิท (Antigen Test Kit) หรือ ATK ช่วยแก้วิกฤติผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าไม่ถึงระบบบริการ ซึ่งขณะนี้ สปสช.เปิดรับสมัครคลินิกเอกชนเข้าร่วมเป็นหน่วยให้บริการด้านนี้ คลินิกเอกชนที่สนใจติดตามรายละเอียดได้เที่เว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.th 

ดังนั้นให้ติดต่อสถานพยาบาลที่รับการเข้าตรวจ โดยสถานพยาบาล จะดูแลผู้ป่วย โดยการส่งปรอทวัดไข้ และ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดไปให้ พร้อมคำแนะนำการใช้งานติดตามอาการผ่านระบบ telemedicine หรือ โทรศัพท์และวีดีโอคอล โดยทีมแพทย์และพยาบาล จัดส่งอาหาร 3 มื้อ หากพบว่ามีอาการทรุดลง ให้ติดต่อเพื่อประสาน พร้อมยาฟาวิราเวียร์ เพื่อช่วยประคองอาการก่อน 

สำหรับใครที่สะดวกลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ กรณีสิทธิบัตรทองยังสามารถโทรมาที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 สิทธิประกันสังคมโทร 1506 กด 6 ได้เหมือนเดิม