ผ้าอนามัย ของใช้จำเป็นที่ผู้หญิงต้องใช้กันทุกเดือน เพื่อรองรับการไหลของประจำเดือน โดยมีหลายแบบ ได้แก่ ผ้าอนามัยแบบแผ่น แบบถ้วย แบบกางเกง และผ้าอนามัยแบบสอด ซึ่งล่าสุด ราชกิจจาฯ ได้ประกาศให้ ผ้าอนามัยแบบสอด เป็นเครื่องสำอาง ในบทความนี้จะรวมข้อมูลของผ้าอนามัยแบบสอดว่ามีจุดเด่นอย่างไร ใช้อย่างไร
จุดเด่นของ ผ้าอนามัยแบบสอด
- ผ้าอนามัยแบบสอด มีขนาดเล็กและเก็บได้ง่ายกว่าผ้าอนามัยประเภทอื่นๆ
- ควบคุมการไหลของประจำเดือนได้ดีกว่า โดยเลือดที่ไหลออกมาจะไปแช่อยู่ในผ้าอนามัยแบบสอดช่วยให้เลือดนั้นไม่ไปสัมผัสกับผิวโดยตรง
- เหมาะสำหรับผู้หญิงที่ต้องทำกิจกรรมในวันมีประจำเดือนโดยไม่ต้องกลัวว่าจะซึมเปื้อน เช่น ว่ายน้ำ เล่นกีฬา เดินป่า ปีนเขา เดินทางไกล
- ใส่แล้วให้สัมผัสสบาย ไม่เสียดสีที่ผิวหนัง มีความคล่องตัว ใส่เสื้อผ้าแบบแนบเนื้อก็ไม่เห็นขอบเห็นรอย ใส่จีสตริงได้สบายๆ
- ราคาเริ่มต้นตั้งแต่หลักสิบประมาณ 60 บาทขึ้นไป จนถึงหลักร้อย (200-300 บาท โดยประาณ)
วิธีใส่ ผ้าอนามัยแบบสอด
- ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบ ผ้าอนามัยแบบสอด เพื่อป้องกันเชื้อโรค
- แกะผ้าอนามัยออกมาจากซองพลาสติก แนะนำให้เลือกซื้อแบบที่มีซองพลาสติกหุ้มไว้ (เพื่อมั่นใจในเรื่องความสะอาด)
- จับที่ปลาย ด้านผ้าอนามัยที่มีเชือกห้อย แต่ในบางยี่ห้อจะมีก้านให้ดันผ้าอนามัยเข้าไป
- จากนั้นดันผ้าอนามัยเข้าไปให้สุดแล้วดึงก้านออกมา (กรณีถ้าไม่มีก้านส่วนใหญ่จะบอกว่า ให้ดันเข้าไปประมาณ 2 ข้อนิ้ว คือตำแหน่งที่ดีที่สุดที่ใส่แล้วสบาย ไม่เจ็บ)
- เมื่อใส่เสร็จเรียบร้อยจะมีเชือกห้อยออกมา ซึ่งเอาไว้จับเวลาที่จะเปลี่ยนผ้าอนามัยแบบสอด (แนะนำให้เปลี่ยนทุก 4-6 ชม. เพื่อลดการอับชื้น และความสะอาด
- เวลาจะทิ้งผ้าอนามัย อย่าลืมห่อให้เรียบร้อยมิดชิด แล้วทิ้งถังขยะได้ปกติ
ไขข้อสงสัย คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับ ผ้าอนามัยแบบสอด
จริงหรือ? ผ้าอนามัยแบบสอด ทำให้ช่องคลอดขยาย เยื่อพรหมจารีย์ขาด
- ผ้าอนามัยแบบสอด ไม่ทำให้ช่องคลอดขยาย และเยื่อพรหมจารีย์ของผู้หญิงมีรูสำหรับให้ประจำเดือนไหลออกมา ดังนั้นไม่ใช่สาเหตุทำให้เยื่อพรหมจารีย์ขาด และผ้าอนามัยแบบสอดเมื่อเข้าไปในรูด้านในแล้วจะขยายตามสรีระของคนนั้นๆ ซึ่งไม่ได้มีผลทำให้ช่องคลอดขยาย
ใส่ผ้าอนามัยแบบสอดแล้วจะปัสสาวะยังไง?
- ช่องปัสสาวะกับช่องคลอด เป็นคนละส่วนกัน การใส่ผ้าอนามัยแบบสอดจึงไม่เกี่ยวกับการปัสสาวะ เวลาปัสสาวะให้จับเชือกที่ยื่นออกมาไว้ด้วยเพื่อกันเลอะ แต่มันจะไม่หลุดออกมาเอง
เวลาใส่หรือถอด เจ็บมั้ย?
- ส่วนใหญ่ จะบอกว่า ไม่เจ็บ แต่สำหรับมือใหม่อาจมีรู้สึกเจ็บ หรือระคายเคืองบ้าง เพราะทำไม่ถูกวิธีหรืออาจจะเกิดการเกร็งทำให้ใส่ผ้าอนามัยไม่เข้าไม่ตรงรู ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บได้นั่นเอง
- เมื่อถึงเวลาต้องการจะเปลี่ยนหรือถอดออกมา ให้ดึงเชือกตรง บางคนสงสัยว่าผ้าอนามัยที่ชุ่มไปด้วยประจำเดือนจะขยายขึ้น แล้วตอนดึงออกมาจะเจ็บไหม ..ส่วนใหญ่ ตอบว่า “ไม่เจ็บ”
ทำไมสอดผ้าอนามัยไปถึงข้อนิ้วที่สอง
ตำแหน่งที่ผ้าอนามัยควรเข้าไปอยู่ ประมาณได้เท่าการสอดนิ้วเข้าไปที่ข้อนิ้วสอง เพื่อให้ผ้าอนามัยหลุดเลยจากบริเวณที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองเข้าไป แต่ไม่ต้องกลัวว่าจะเข้าไปลึกหรือหลุดเข้าไปเลย เพราะตัวผ้าอนามัยจะมีเชือกร้อยยาวออกมาด้านนอก และเชือกนี้ผ่านกระบวนการมาตราฐานจะไม่หลุดแยกออกจากผ้าอนามัย หากสอดผ้าอนามัยเข้าไปแล้วรู้สึกไม่สบายตัว หรือระคายเคืองนั่นเพราะว่าผ้าอนามัยยังไม่อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
หากลืมแล้วใส่ไว้นานเกิน จะเกิดการติดเชื้อหรือไม่?
ประจำเดือนที่ผ้าอนามัยซึมซับไว้ ยังไม่ได้ออกมาสัมผัสกับภายนอก จึงไม่เกิดการติดเชื้อภายนอก แต่ก็ไม่ควรทิ้งผ้าอนามัยไว้นานเกินไป ทางที่ดีควรเปลี่ยนทุก 4-6 ชม. จะดีที่สุด
คำแนะนำในการเลือกซื้อ ผ้าอนามัยแบบสอด
ซื้อผ้าอนามัยแบบสอด ควรซื้อทั้งกล่อง มีหลายร้านที่นำมาแยกขาย โดยเฉพาะตามสระน้ำ ด้วยหวังให้ซื้อง่ายสำหรับคนใช้ครั้งเดียว ชิ้นเดียว แต่การทำเช่นนั้นอาจทำให้ผ้าอนามัยสัมผัสเชื้อต่างๆ หรือจากนิ้วมือของผู้สัมผัส หากเจอผ้าอนามัยแกะแล้วแม้ว่าจะยังมีห่อพลาสติกหุ้มอยู่ก็ไม่สมควรซื้อ แต่หากเป็นผ้าอนามัยบรรจุกล่องจะมีพลาสติกและการสอดใส่ให้ทำตามคำแนะนำอย่าง เคร่งครัด มือของเราจะไม่สัมผัสกับผ้าอนามัยเลย
#ผ้าอนามัยไม่มีภาษี ติดเทรนด์ทวิตเตอร์
หลังจากการประกาศ ผ้าอนามัยแบบสอด เป็นเครื่องสำอาง ได้เกิดแฮชแท็ก #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี มาแรงบนทวิตเตอร์ หลายความเห็นมองว่า ผ้าอนามัยนั้นเป็นของใช้จำเป็นต้องใช้กันทุกเดือนเป็นสิ่งที่ประชาชนควรได้ใช้ฟรี ซึ่งในหลายๆ ประเทศได้ ยกเลิกภาษี/ลดภาษีผ้าอนามัยกันไปแล้ว
ประเทศที่ยกเลิกภาษีผ้าอนามัย
ไอร์แลนด์, จาไมก้า, ไนคารากัว, ไนจีเรีย, แทนซาเนีย, เลบานอน และมาเลเซีย
บทความที่เกี่ยวข้อง