สารเคมี สารพิษ ทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ เมื่อถูกนำเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าผ่านทางปากโดยการกิน การสัมผัส หรือการสูดดม ล้วนแล้วก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ทั้งนั้น หากได้รับอันตรายจากสารเคมี ควรติดต่อแพทย์โรงพยาบาลให้เร็วที่สุด แต่ในระหว่างนั้นต้องทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วย เพื่อช่วยลดโอกาสอันตรายที่อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารเคมี สารพิษ เบื้องต้น
สารพิษ จำแนกตามลักษณะการออกฤทธิ์ ได้ 4 ชนิด ดังนี้
- ชนิดกัดเนื้อ (Corrosive ) สารพิษชนิดนี้จะทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายไหม้ พอง ได้แก่ สารละลายพวก กรดและด่างเข้มข้น น้ำยาฟอกขาว
- ชนิดทำให้ระคายเคือง (Irritants ) สารพิษชนิดนี้จะทำให้เกิดอาการปวดแสบ ปวดร้อน และอาการอักเสบในระยะต่อมา ได้แก่ ฟอสฟอรัส สารหนู อาหารเป็นพิษ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์
- ชนิดที่กดระบบประสาท (Narcotics ) สารพิษชนิดนี้จะทำให้หมดสติ หลับลึก ปลุกไม่ตื่น ม่านตาหดเล็ก ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน พิษจากงูบางชนิด
- ชนิดที่กระตุ้นระบบประสาท (Dililants) สารพิษชนิดนี้จะทำให้เกิดอาการเพ้อคลั่ง ใบหน้าและผิวหนังแดง ตื่นเต้นชีพจรเต้นเร็ว ช่องม่านตาขยายได้แก่ ยาอะโทรปีน ลำโพง
7 อาการบ่งบอก ว่าอาจได้รับสารพิษ
- แสบร้อน หรือมีรอยแดง บริเวณปาก ริมฝีปาก
- ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายสารเคมี น้ำมัน หรือสีทาบ้าน
- อาเจียน หายใจไม่ออก
- ชัก
- หมดสติ
- ง่วงซึม
- สับสน งุนงง เบลอๆ
หากมีอาการดังกล่าว ให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในระหว่างทางที่จะไปหาหมอ หรือรอหมอมารับ ดังคำแนะนำต่อไปนี้
การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษทางการหายใจ
สารพิษที่เข้าสู่ทางการหายใจ ได้แก่ ก๊าซพิษ ซึ่ง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- ก๊าซที่ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน เกิดอาการ วิงเวียน หน้ามืด เป็นลมหมดสติ ถึงแก่ความตายได้ เช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจน ไนโตรเจน ปัจจุบันพบว่าก๊าซที่ทำให้เกิดปัญหาค่อนข้างบ่อย ได้แก่ คาร์บอนมอนนอกไซด์ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ๆ ที่มีปัญหาการจราจรคับคั่ง อากาศเป็นพิษ คาร์บอนมอนนอกไซด์ เป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อหายใจเข้าไปในร่างกาย ก๊าซนี้จะแย่งที่กับออกซิเจนในการจับกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่สามารถไปยังเนื้อเยื่อทั่วร่างกายได้ ร่างกายจึงมีอาการของการขาดออกซิเจน ซึ่งถ้าช่วยเหลือไม่ทันจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เช่น ในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตในรถยนต์
- ก๊าซที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ คอ หลอดลม และปอด ถ้าได้รับในปริมาณมากอาจทำให้ตายได้ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไม่มีสีแต่มีกลิ่นฉุน พบได้ในโรงงานอุตสาหกรรม ใช้ทำกรดกำมะถัน
- ก๊าซที่ทำให้อันตรายทั่วร่างกาย ได้แก่ ก๊าซอาร์ซีน ไม่มีสีกลิ่นคล้ายกระเทียม พบได้ในโรงงานอุตสาหกรรมใช้ทำแบตเตอรี่ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตก ปัสสาวะเป็นเลือด ดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง
ขั้นการปฐมพยาบาล
- กลั้นหายใจและรีบเปิดประตูหน้าต่าง ๆ เพื่อให้อากาศถ่ายเท มีอากาศบริสุทธิ์เข้ามาในห้อง ปิดท่อก๊าซ หรือขจัดต้นเหตุของพิษนั้น ๆ
- นำผู้ป่วย ออกจากบริเวณที่เกิดเหตุไปยังที่มีอากาศบริสุทธิ์
- ประเมินการหายใจและการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่มีให้ผายปอดและนวดหัวใจ
- นำส่งโรงพยาบาล
การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษทางผิวหนัง
สารพิษที่สามารถเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่พบบ่อยเกิดได้แก่ สารเคมี และสารพิษที่เกิดจากการถูกสัตว์มีพิษกัดหรือต่อย เช่น ต่อ แตน ผึ้ง ตะขาบ แมงป่อง แมงกะพรุนไฟ งูพิษ
การปฐมพยาบาลเมื่อสารเคมีถูกผิวหนัง
- ล้างด้วยน้ำสะอาดนาน ๆ อย่างน้อย 15 นาที
- อย่าใช้ยาแก้พิษทางเคมี เพราะความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาอาจทำให้เกิดอันตรายมากขึ้น
- บรรเทาอาการปวดและรักษาช็อค
- ปิดแผล แล้วนำส่งโรงพยาบาล
การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารกัดเนื้อ (Corrosive substances )
กรด ด่าง เป็นสารเคมีที่พบในชีวิตประจำวัน นำมาใช้ในครัวเรือน และโรงงานอุตสาหกรรม เช่น กรดซัลฟริก กรดไฮโดรคลอริก โซเดียมคาร์บอเนต
อาการและอาการแสดง
- ไหม้พอง ร้อนบริเวณริมฝีปาก ปาก ลำคอและท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ และมีอาการภาวะช็อค ได้แก่ ชีพจรเบา ผิวหนังเย็นชื้น
การปฐมพยาบาล
- ถ้ารู้สึกตัวดีให้ดื่มนม
- อย่าทำให้อาเจียน
- รีบนำส่งโรงพยาบาล
การปฐมพยาบาลเมื่อสารเคมีเข้าตา
- ล้างตาด้วยน้ำนาน 15 นาที่ โดยการ เปิดน้ำก๊อกไหลรินค่อย ๆ
- อย่าใช้ยาแก้พิษทางเคมี เพราะความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาอาจทำให้เกิดอันตรายมากขึ้น
- บรรเทาอาการปวดและรักษาช็อค
- ปิดตา แล้วนำส่งโรงพยาบาล
การปฐมพยาบาลผู้ที่ได้รับสารพิษทางปาก
ผู้ช่วยเหลือต้องทำการประเมินผู้ที่ได้รับสารพิษก่อน แล้วจึงพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือ ดังนี้
- ทำให้สารพิษเจือจาง ในกรณีรู้สึกตัวและไม่มีอาการชัก โดยการดื่มน้ำชาซึ่งหาได้ง่าย แต่ถ้าได้นมจะดีกกว่า เพราะว่าจะช่วยเจือจางสารพิษแล้ว ยังช่วยเคลือบและป้องกันอันตรายต่อเยื่อบุทางเดินอาหาร
- นำส่งโรงพยาบาล เพื่อทำการล้างท้องเอาสารพิษออกจากกระเพาะอาหาร
- ทำให้ผู้ป่วยอาเจียน เพื่อเอาสารพิษออกจากกระเพาะอาหาร ในกรณีที่ต้องใช้เวลานานในการนำส่งผู้ป่วย เช่น ใช้นิ้วล้วงคอ ใช้ไม้พันสำลีกวาดคอซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้ รู้สึกอยากขย้อน อยากอาเจียน
ที่มา : สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน ( ประเทศไทย ) ในพระราชูปถัมภ์