โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ให้บริการคลินิกสุขภาพเพศ พื้นที่ปลอดภัยให้คำปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศโดยเฉพาะ พร้อมติงผู้ใช้ยาฮอร์โมนผิดวิธีอาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
จุฬาฯ เปิดคลินิกสุขภาพเพศ พื้นที่ปลอดภัยให้คำปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศโดยเฉพาะ
โลกสมัยใหม่เปิดเสรีและรับรองสิทธิของคนข้ามเพศมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปมด้านสุขภาพของคนกลุ่มนี้ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ กลับไม่เป็นที่พูดถึงหรือเป็นเรื่องที่พูดคุยกันในวงจำกัด ความรู้สึกเป็น “คนอื่น” ในร่างกายตัวเองกลายเป็นเรื่องเฉพาะคนบางกลุ่มที่สนใจศึกษา หลายหัวข้อสนทนา อาทิ อัตลักษณ์ทางเพศโดยกำเนิดที่ไม่สอดคล้องกับเพศสภาพปัจจุบัน กายเป็นชายแต่ใจปรารถนาจะเป็นหญิง หรือสลับกัน ทำนองนี้ ก็ล้วนถูกปัดให้เป็นปัญหาด้านอัตลักษณ์ส่วนบุคคล ไม่ใช่ประเด็นสาธารณะที่ คนทั้งสังคมพึงใส่ใจ ศูนย์บริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพเฉพาะทางที่ได้รับการออกแบบและสร้างขึ้น เพื่อคนข้ามเพศโดยเฉพาะจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนในสังคมปัจจุบัน
จากโจทย์ข้างต้นทำให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดตั้ง “คลินิกสุขภาพเพศ” โดยร่วมมือกับคณาจารย์จากสาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้บริการสารพัดปัญหาสุขภาพแบบครบวงจรเพื่อย้ำความสำคัญของคนข้ามเพศในสังคมไทยปัจจุบัน นอกจากนั้น คลินิกสุขภาพเพศแห่งนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เฉพาะทางให้แก่แพทย์ นักเรียนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจ อีกทั้งยังเป็นศูนย์วิจัยระดับนานาชาติด้านสุขภาพของคนข้ามเพศร่วมกับ Center of Excellence in Transgender Health (CETH) แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย
“การจัดตั้งคลินิกสุขภาพเพศ เกิดขึ้นเพื่อบริการทางการแพทย์ให้แก่คนข้ามเพศโดยเฉพาะ ซึ่งก่อนนี้ไม่มีคลินิกเฉพาะทางด้านนี้ คนไข้จะใช้ยาฮอร์โมนอย่างไม่มีมาตรฐาน ฉีดฮอร์โมนกันเอง ไม่ก็กินยาคุมกำเนิด กินยาฮอร์โมนตามเพื่อนซึ่งเป็นการใช้ยาที่ผิดวิธี บางรายไปใช้บริการคลินิกใต้ดินที่ไม่ได้รักษาโดยแพทย์เฉพาะทางยิ่งเสี่ยงอันตราย” รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้ก่อตั้งคลินิกสุขภาพเพศ กล่าวถึงที่มาของคลินิกสุขภาพเพศที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานภายใต้การกำกับดูแลของคณาจารย์แพทย์ จุฬาฯ ที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ อาทิ คลินิกศัลยกรรมเพื่อการข้ามเพศ คลินิกบูรณาการสุขภาพวัยรุ่น การบริการเฉพาะคนตามความต้องการที่หลากหลาย คนข้ามเพศมีความต้องการที่หลากหลายและแตกต่างกัน การให้คำปรึกษาของแพทย์จึงต้องเน้นให้บริการเป็นรายบุคคล
อ.นพ.ธนภพ บำเพ็ญเกียรติกุล อาจารย์พิเศษสาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำคลินิกสุขภาพเพศ อธิบายว่า “การให้คำปรึกษาของแพทย์ขึ้นอยู่กับผู้รับบริการแต่ละคนว่าอยากปรับเปลี่ยนร่างกายของตนเองอย่างไร เพื่อให้เขารู้สึกดีกับร่างกายของตนเอง เราจะคอยให้ข้อมูลว่าสิ่งที่เขาอยากจะเป็น ทำอย่างไร จึงจะเป็นได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมที่สุด”
สำหรับคนข้ามเพศบางคน การได้แสดงพฤติกรรมเป็นเพศที่ตนเองต้องการ เช่น การสวมเสื้อผ้า การใช้สรรพนาม การรัดหรือเสริมหน้าอก ก็สามารถทำให้ตนเองพอใจและมีความสุขโดยที่ไม่ต้องเข้ารับยาฮอร์โมนหรือผ่าตัดแปลงเพศ ในขณะบางคนพอใจแค่การได้รับยาฮอร์โมนโดยที่ไม่ต้องผ่าตัดแปลงเพศ หรือแม้แต่คนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ แต่ละคนก็พึงพอใจส่วนที่เข้ารับการผ่าตัดไม่เหมือนกัน
ภัยจากการใช้ยาฮอร์โมน สาเหตุการเสียชีวิตที่พบมากในกลุ่มคนข้ามเพศ
การใช้ยาฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศเป็นวิธีการรักษาที่คนข้ามเพศนิยมเพื่อเปลี่ยนสรีระให้มีลักษณะแบบเพศที่ตนต้องการ คนจำนวนมากใช้โดยไม่ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากไม่ตระหนักถึงอันตรายที่ตามมา โดยเฉพาะภัยจากยาคุมกำเนิด กล่าวคือ การใช้ยาฮอร์โมนในปริมาณมากเพื่อเร่งผล หรือใช้ผิดประเภทหรือผิดขนาดอาจส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด สาเหตุของการเสียชีวิตซึ่งพบมากในกลุ่มคนข้ามเพศ
อ.นพ.อัมรินทร์ สุวรรณ สาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำคลินิกสุขภาพเพศ ให้ทัศนะต่อเรื่องนี้ว่า “ร่างกายของคนข้ามเพศแต่ละคนไม่เหมือนกัน ยาที่เหมาะสมกับแต่ละคนจึงต่างกัน บางคนเหมาะที่จะรับ ยากิน บางคนได้ยาทา หรืออาจได้ยาแบบเดียวกันแต่ต่างโดส ซึ่งแพทย์จะแนะนำได้ดีที่สุด”
สำคัญที่สุดคือ การใช้ยาฮอร์โมนไม่ใช่วิธีที่จะใช้ได้กับทุกคน บางรายไม่อาจใช้ยาฮอร์โมนได้เลย เช่น คนไข้ที่มีโรคมะเร็งเต้านม กล้ามเนื้อหัวใจตาย หลอดเลือดหัวใจตีบ คนไข้ที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ มีความเข้มข้นของเลือดมากเกินไป คนไข้ที่มีค่าตับหรือค่าไขมันผิดปกติ เป็นต้น
การผ่าตัดแปลงเพศ
อ.นพ.ธนภพ กล่าวว่า “คนข้ามเพศมีความต้องการที่หลากหลาย อย่างผู้ชายข้ามเพศส่วนใหญ่ที่มาตัดมดลูกรังไข่ก็เพราะเขาอยากกำจัดสิ่งที่ไม่ใช่ของผู้ชายทิ้งให้หมด มันไม่ใช่ของเขา บางคนกลับไม่คิดมากกับเรื่องนี้ ปล่อยให้อยู่ในร่างกายของเขาต่อ หรือบางคนอยากตั้งท้องหรือมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด เขาก็ไม่ตัดมดลูก ช่องคลอดหรือรังไข่ออก ขณะที่มีชายข้ามเพศเพียง 3-4 เปอร์เซ็นต์ของชายข้ามเพศทั้งหมดทั่วโลกเท่านั้นที่ผ่าตัดเพื่อสร้างอวัยวะเพศชายใหม่ ความต้องการของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน”
คลินิกสุขภาพเพศมีบริการผ่าตัดแปลงเพศสำหรับชายและหญิงข้ามเพศ โดยทำงานร่วมกับคลินิกศัลยกรรมเพื่อการข้ามเพศ จำแนกรูปแบบการผ่าตัดเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- การผ่าตัดหน้าอก (Top Surgery)
ประกอบด้วยการตัดหน้าอกและการเพิ่มขนาดของหน้าอก - การผ่าตัดอวัยวะเพศ (Bottom Surgery)
ประกอบด้วยการตัดมดลูกและรังไข่ การสร้างอวัยวะเพศชายใหม่ การสร้างช่องคลอดใหม่และการตัดอัณฑะ - การผ่าตัดอื่น ๆ
หมายถึงการเสริมสะโพก การเหลาลูกกระเดือก การเหลากราม การเปลี่ยนโครงหน้าให้เป็นหญิงหรือชาย
ผู้รับบริการจะได้รับการพิจารณาก่อนรับการผ่าตัดแต่ละชนิดอย่างละเอียดตามเกณฑ์มาตรฐานของประเทศไทย โดยเบื้องต้นต้องผ่านการวินิจฉัยและยืนยันจากจิตแพทย์ว่ามีความประสงค์ที่จะแปลงเพศจริง ไม่ใช่ความปรารถนาเพียงชั่วขณะ เนื่องจากการผ่าตัดจะทำได้ครั้งเดียว หากแปลงเพศแล้วไม่อาจแปลงกลับมาดังเดิมได้ การตัดสินใจที่ผิดพลาดอาจส่งผลกระทบต่อผู้รับบริการทั้งชีวิต หากใครไม่ผ่านการวินิจฉัยของจิตแพทย์ย่อมผ่าตัดไม่ได้ นี่คือข้อห้ามสำคัญของคลินิก นอกจากนี้อาจต้องผ่านการดำเนินชีวิตในวิถีของคนข้ามเพศมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี และสำหรับการผ่าตัดบางชนิดก็ควรได้รับยาฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศแล้วอย่างน้อย 1 ปี ส่วนใครที่แพ้ยาสลบ ไม่สามารถดมยาได้ รวมทั้งใครที่ร่างกายไม่อาจผ่าตัดได้ก็จะไม่ได้รับบริการการผ่าตัดเพื่อการข้ามเพศจากทางคลินิกเช่นกัน
การพบจิตแพทย์ก่อนแปลงเพศสำคัญอย่างไร
การเข้ารับบริการเพื่อการข้ามเพศ ทุกคนจะต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยจิตแพทย์ก่อนเสมอ คนจำนวนมากมักเข้าใจผิดคิดว่าการพบจิตแพทย์นัยว่ามีความผิดปกติทางจิต ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่ จิตแพทย์เพียงต้องการความมั่นใจว่าผู้เข้ารับบริการแน่วแน่ในเจตจำนงของตนโดยจะไม่เสียใจภายหลัง และไม่ใช่ความสับสนอย่างที่อาจเกิดขึ้นกับคนไข้จิตเภทที่มีอาการหลงคิดว่าตนอยากแปลงเพศ อยากเป็นคนข้ามเพศ มีปัญหาบุคลิกภาพหรือเป็นผู้ที่มีความสุขทางเพศจากการแต่งกายเป็นเพศตรงข้ามเท่านั้น
“คนที่อยากมีชีวิตอยู่กับเพศเดียวกัน ครองรักเป็นคู่ชีวิตก็ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติอะไร และตำราแพทย์ปัจจุบัน คนที่ต้องการข้ามเพศก็กำลังจะไม่ถูกจัดเป็นกลุ่มสุขภาพจิต (Mental Health) แล้ว หากแต่อยู่ในกลุ่มสุขภาพเพศ (Sexual Health) เพราะการแพทย์เชื่อว่าคนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนที่ผิดปกติทางจิต เพียงแต่ต้องการมีชีวิตอีกเพศเท่านั้นเอง” รศ.นพ.กระเษียร กล่าว
อายุเท่าใดจึงเข้ารับบริการแปลงเพศได้
ไม่มีการระบุชัดว่าอายุที่เหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนแปลงนั้นคือกี่ปี ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้รับบริการเป็นสำคัญ เนื่องจากบางคนต้องการข้ามเพศในวัยรุ่น อีกคนกลับต้องการหลังอายุ 40 ปีแล้ว เพียงผู้รับบริการที่มีอายุ 18-20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อนเสมอ ตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเรื่องเกณฑ์การรักษาเพื่อแปลงเพศ พ.ศ.2552 ซึ่งคลินิกสุขภาพเพศ จะดูแลเฉพาะคนไข้วัยผู้ใหญ่เป็นหลัก
วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปีจะได้รับการรักษาโดยพิจารณาเป็นรายๆ ไป ซึ่งคลินิกฯ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อและจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจากคลินิกบูรณาการสุขภาพวัยรุ่นให้บริการโดยเฉพาะ ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้ผู้รับบริการมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม
สำหรับบริการอื่น ๆ คลินิกสุขภาพเพศยังมีบริการให้คำปรึกษาแก้ปัญหาสุขภาพทางเพศด้วย เช่น ปัญหาจากวัยหมดระดู ปัญหาช่องคลอดแห้ง โรคทางต่อมไร้ท่อเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศ และผลพวงจากเพศสัมพันธ์ไม่ราบรื่น เช่น ขาดอารมณ์ทางเพศ อาการเจ็บจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยสามารถทำการนัดหมายเพื่อขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้
คลินิกสุขภาพเพศ เปิดบริการทุกวันจันทร์ เวลา 13.00 – 15.30 น. โทรนัดหมายติดต่อได้ที่ 0-2256-5286 และ 0-2256-5298 หรือติดตามเฟซบุ๊กเพจ “คลินิกสุขภาพเพศ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์” https://www.facebook.com/KCMHCMG/ เพื่อทราบรายละเอียดการรักษาหรือข้อมูลสุขภาพของคนข้ามเพศ