มะเร็งตับ

มะเร็งตับ ดับชีวิตคนไทย 73 รายต่อวัน อีกหนึ่งวิกฤตสุขภาพที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตคนไทย

โรคมะเร็งตับ คร่าชีวิตชายไทยเป็นอันดับ 1 และหญิงไทยเป็นอันดับ 2 อีกทั้ง ประเทศไทยยังติดอันดับ 5 ของโลก

Home / HEALTH / มะเร็งตับ ดับชีวิตคนไทย 73 รายต่อวัน อีกหนึ่งวิกฤตสุขภาพที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตคนไทย

นอกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นวิกฤตสุขภาพที่ผู้คนทั่วโลกรวมถึงชาวไทยตื่นกลัวแล้วเพราะยอดผู้ติดเชื้อโควิดดสูงขึ้นทุกวัน! ทว่าอีกหนึ่งวิกฤตสุขภาพที่ ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตคนไทยและเศรษฐกิจของประเทศมานานอย่างต่อเนื่อง คือ โรคมะเร็งตับ ซึ่งถือเป็นปัญหาสุขภาพระดับชาติที่คร่าชีวิตชายไทยเป็นอันดับ 1 และหญิงไทยเป็นอันดับ 2 อีกทั้ง ประเทศไทยยังติดอันดับ 5 ของโลกที่พบผู้ป่วยมะเร็งตับสูงสุด โดยมีอัตราของการพบผู้ป่วยมะเร็งตับอยู่ที่ 21 รายต่อประชากร 100,000 คน

ประเทศไทยติดอันดับ 5 ของโลกที่พบผู้ป่วย มะเร็งตับ สูงสุด

จากความร้ายแรงของวิกฤตสุขภาพทั้งสองโรค เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันจะพบว่า ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา (1 มิถุนายน 2563 – 1 มิถุนายน 2564) ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่จากไวรัสโควิด-19 อยู่ที่ 156,370 ราย และมีตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ 1,012 ราย ในขณะที่ปี 2563 เพียงปีเดียว พบว่าตัวเลขผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่อยู่ที่ 27,394 ราย แต่ทว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับกลับอยู่ที่ 26,704 คน หรือคิดเป็น 73 คนต่อวัน โดยเฉลี่ย ซึ่งนับได้ว่าสูงกว่าโควิด-19 ถึง 26 เท่าตัว

กลุ่มเสี่ยงของโรคมะเร็งตับ

ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงของโรคมะเร็งตับ ได้แก่

  • ผู้ที่ดื่มสุรา (30%) ผู้
  • ที่มีภาวะไขมันเกาะตับจากการบริโภคอาหารไขมันสูงและผู้ที่เป็นโรคอ้วน (30%)
  • ผู้ที่สูบบุหรี่หรือได้รับสารแอลฟาท็อกซินที่ปนเปื้อนเชื้อรา (30%)
  • ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี และผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (10%) เป็นต้น

สถิติพบว่าผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ย 40 ปีขึ้นไป ซึ่งช่วงวัยนี้ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า โรคมะเร็งตับคร่าชีวิตผู้คนมากกว่าและสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศไทยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าไวรัสโควิด-19 แม้แต่น้อย

การตรวจคัดกรอง การวินิจฉัย และการรักษา

ในด้านการตรวจคัดกรอง การวินิจฉัย และการรักษา แม้มะเร็งตับส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนอย่างน่าตกใจ แต่กลับยังมีข้อจำกัดหลายด้านเมื่อเทียบกับไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อ มีการส่งตัวผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้ารับการรักษาอย่างเป็นระบบ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูง ส่วนประชาชนทั่วไปก็รับการจัดสรรวัคซีนเพื่อให้เกิดภูมิต้านทานและลดความรุนแรงของโรคหากติดเชื้อ ในทางกลับกัน มะเร็งตับเป็นภัยซ่อนเร้น ไม่แสดงอาการในระยะแรกของโรค ทำให้ผู้ป่วยรู้ตัวช้า กว่าจะมาพบแพทย์ก็ลุกลามกลายเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้ายในที่สุด นอกจากนี้ ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาสำรวจและคัดกรองผู้มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งตับอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งตับไม่มีโอกาสได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ยังไม่มีการระบุยาที่ใช้ในรักษามะเร็งตับชนิดที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ไว้ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงทำให้ผู้ป่วยมะเร็งตับมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตภายในเวลาเพียง 3-6 เดือนเท่านั้น

ศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ แพทย์เฉพาะทางด้านระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ กล่าวถึงข้อจำกัดสำคัญในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับว่า “โรคมะเร็งตับบางเคสอาจรักษาได้ด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งแปลว่าไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนจะสามารถผ่าตัดได้ ทำให้แพทย์ต้องรักษาแบบประคับประคอง เนื่องจากยารักษามะเร็งแบบพุ่งเป้า และยาภูมิคุ้มกันบำบัดแบบผสมผสานที่มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งในเนื้อตับยังไม่ได้ถูกระบุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ผู้ป่วยสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศก็จะไม่สามารถเข้าถึงยาเหล่านี้ได้ ดังนั้น ความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการพิจารณาการเบิกจ่ายยาจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกมาตรฐานการรักษาในปัจจุบัน และช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งตับได้ในที่สุด”

คุณพงศ์พสิน นวลละออ อดีตผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ ได้มาบอกเล่าประสบการณ์ ในเดือนมิถุนายน เดือนแห่งการเฉลิมฉลองให้กับผู้รอดชีวิตจากมะเร็งทั่วโลก (Cancer Survivors Month) เกี่ยวกับโรคนี้ว่า “ความรู้สึกแรกเมื่อตรวจเจอมะเร็งตับ คือสภาพจิตใจห่อเหี่ยว ท้อแท้ หมดหวัง จากที่เคยใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติก็กลับเบื่ออาหาร ถ่ายเป็นสียางมะตอยสัปดาห์ละครั้ง ตอนนั้นเป็นช่วงปลายปี 2553 แต่แค่เพียงปีกว่าๆ มะเร็งกลับลุกลามไปถึงระยะสุดท้าย”

สัญญาณของโรคมะเร็งตับ

ถึงแม้ว่ามะเร็งตับจะเป็นโรคที่คุกคามร่างกายของคนเราอย่างเงียบๆ โดยไม่แสดงอาการ แต่การหมั่นสังเกตสุขภาพร่างกายของตนเองและสำรวจประวัติความเจ็บป่วยของคนในครอบครัว ว่าเคยมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับหรือ มีอาการอื่นๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งตับ อาทิ โรคดีซ่าน ตรวจพบก้อนบริเวณท้อง ปวดท้องแบบโรคกระเพาะอย่างต่อเนื่อง และภาวะไขมันพอกตับหรือตับเริ่มแข็ง เป็นต้น หากสำรวจตัวเองแล้วพบความเสี่ยงก็ควรรีบพบแพทย์แต่เนิ่นๆ ศ.พญ.วัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ขอให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และซี ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งตับทุกคนอดทนรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการไปพบแพทย์ตามนัด สุดท้ายนี้ดิฉันอยากให้กำลังใจว่า ถ้าเราตรวจเจอมะเร็งตับในระยะที่ 1 โอกาสที่สามารถรักษาให้หายขาดมีได้สูง”

โรคมะเร็งตับป้องกันได้

โรคมะเร็งตับสามารถป้องกันได้ เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ “การปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดก็เป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ผมไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสม พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อถนอมตับที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนใหม่ให้ทำงานได้อย่างดีที่สุด ผมอยากฝากถึงผู้ป่วยคนอื่นๆ ที่กำลังต่อสู้กับโรคอยู่ว่าการเป็นมะเร็งไม่ได้แปลว่าต้องเสียชีวิตเสมอไป เราต้องมีความหวังและเชื่อมั่นในความก้าวหน้าทางการแพทย์” คุณพงศ์พสินกล่าวปิดท้าย

สำหรับวันนี้ที่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน จึงอยากให้พิจารณาสิทธิบัตรทอง 30 บาท สำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับ ซึ่งเป็นวิกฤติสุขภาพที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตประชาชนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่กลับเป็นโรคที่ไม่ได้รับความใส่ใจด้านการตรวจคัดกรองและการรักษาเท่าที่ควร ทำให้กว่าผู้ป่วยจะมาถึงมือแพทย์ก็มักอยู่ในระยะท้ายๆ ของโรค และเสียชีวิตในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ฉะนั้น สิทธิในการเข้าถึงยาจะช่วยให้ผู้ป่วยจำนวนมากมีโอกาสได้รับการรักษาที่เหมาะสมและยืดระยะเวลาที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น