ตรวจเบาหวาน เบาหวาน

คุณควรตรวจ เบาหวาน หรือไม่? เช็คลิสต์ปัจจัยเสี่ยงเป็นเบาหวาน ดีกว่าเป็นโดยไม่รู้

ปัจจัยเสี่ยงเป็น เบาหวาน คุณมีหรือเปล่าลองเช็ค! โรคเบาหวาน หมายถึง โรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าปกติอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง

Home / HEALTH / คุณควรตรวจ เบาหวาน หรือไม่? เช็คลิสต์ปัจจัยเสี่ยงเป็นเบาหวาน ดีกว่าเป็นโดยไม่รู้

โรคเบาหวาน หมายถึง โรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าปกติอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อน ทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าปกติ หรือเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่

ปัจจัยเสี่ยงเป็น เบาหวาน คุณมีหรือเปล่าลองเช็ค!

นพ.ธวัชชัย ภาสุรกุล อายุรแพทย์ ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลนวเวช ได้กล่าวถึง ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานว่ามีหลายอย่าง และน้ำหนักของแต่ละอย่างก็ไม่เท่ากัน มีงานศึกษาปัจจัยเสี่ยงหลาย ๆ อย่างของเบาหวาน แล้วนำข้อมูลมาคำนวณเป็นคะแนนความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานในอนาคต ซึ่งสามารถใช้ทำนายความเสี่ยงในอีก 12 ปีข้างหน้าได้อย่างแม่นยำพอสมควรในคนไทย

การแปลผลคะแนนความเสี่ยง คะแนนยิ่งสูง ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มมากขึ้น คะแนนสูงสุดคือ 17 คะแนน ผู้ที่ต้องการจะรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานมากน้อยแค่ไหนก็ลองทำตามตารางดู ถ้าได้ คะแนนตั้งแต่ 6 ขึ้นไป ควรจะไปตรวจเช็คเบาหวาน

ใครควรตรวจเบาหวาน

จากตารางข้างบนจะเห็นว่า เบาหวานมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง และแต่ละอย่างก็มีน้ำหนักไม่เท่ากัน แล้วในผู้ใหญ่ที่มีโอกาสเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ถึงมากกว่า 90% ควรจะคัดกรองเบาหวานเมื่อไหร่

• ในประชากรทั่วไป ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป

• ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน (ดัชนีมวลกาย >25 กก./ตร.ม. หรือ >23 กก./ตร.ม.ในคนไทย) ที่มีข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

  1. มีประวัติเบาหวานในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง สายตรง
  2. มีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
  3. เป็นความดันโลหิตสูง หรือรับประทานยารักษาอยู่
  4. ผู้ที่มีไขมันผิดปกติ HDL <35 มก/ดล. และ/หรือ Triglyceride >250 มก/ดล. หรือรับประทานยารักษา
  5. ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย
  6. กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic ovarian syndrome) ในผู้หญิง
  7. ผู้ที่มีลักษณะทางคลินิกที่เกิดร่วมกับ “ภาวะดื้อต่ออินซูลิน” (Insulin resistance) เช่น อ้วนมาก (severe obesity) acanthosis nigricans (รอยปื้นดำ หนา ขรุขระ ที่บริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ เป็นต้น)
  8. เชื้อชาติที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อัฟริกันอเมริกัน ละติน อินเดียนแดง กลุ่มชนหมู่เกาะแปซิฟิก เป็นต้น
  9. ผู้หญิงที่อ้วน และวางแผนที่จะมีบุตร ควรตรวจเบาหวาน หรือภาวะก่อนเบาหวาน ด้วย

บุคคลเหล่านี้ควรตรวจเบาหวานใน “ทุกอายุ”

• ผู้ที่อยู่ในภาวะก่อนเบาหวาน (น้ำตาลสูงกว่าปกติ แต่ไม่ถึงเกณฑ์วินิจฉัยเบาหวาน)

  • HbA1c = 5.7-6.4%,
  • ค่าน้ำตาลหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมงขึ้นไป อยู่ระหว่าง 100-125 มก/ดล. (Impaired fasting glucose หรือ IFG คือน้ำตาลขณะอดอาหารบกพร่อง)

ควรได้รับการตรวจเบาหวาน “ทุกปี”

• ผู้หญิงที่มีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes mellitus) ควรตรวจเบาหวานตลอดไป อย่างน้อยทุก 3 ปี (กรณีที่ยังไม่เป็น)

• ผู้ที่เป็นโรคเอดส์ (HIV)

ซึ่งถ้าตรวจแล้วปกติ ควรตรวจอย่างน้อยทุก 3 ปี หรือแล้วแต่ปัจจัยเสี่ยง และผลการตรวจ

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงในภาวะก่อนเบาหวานและเบาหวานประเภทที่ 2

• ไม่มีใครทราบ “จุดเริ่มต้น” (onset) ของเบาหวาน จะเป็นเมื่อไหร่

• ส่วนใหญ่ไม่มีอาการอะไร หรืออาการน้อยจนไม่ทราบว่า นั่นคืออาการของเบาหวาน

• ถ้าชะล่าใจ หรือประมาท คิดว่าไม่เป็นอะไร อาจมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนทั้งเฉียบพลันและเรื้อรังได้

• ถ้ารู้ตัวว่าเป็นภาวะก่อนเบาหวาน สามารถป้องกัน หรือชะลอการเป็นเบาหวานในอนาคตได้

“มาตรวจเบาหวานกันเถิด” เพื่อสุขภาพที่ดีในอนาคต ไม่ต้องกลัวถ้าจะต้องเป็น ดีกว่าเป็นโดยไม่รู้ ป้องกันดีกว่ารักษา เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นเบาหวาน และป้องกันเบาหวานไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคเบาหวาน สามารถขอรับคำปรึกษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่โรงพยาบาลนวเวช โทร. 02 483 9999 www.navavej.com