นิ่ว นิ่วในไต อัญชัน แกนกล้วย\l

แพทยศาสตร์ จุฬาฯ วิจัยพบ อัญชันและแกนกล้วย ลดความเสี่ยงนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

การดื่มน้ำน้อยเสี่ยงทำให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ล่าสุด คณะแพทย์ จุฬาฯ วิจัยเครื่องดื่มสกัดเข้มข้นจากอัญชันและแกนกล้วย ลดความเสี่ยงการเกิดนิ่วได้สำเร็จ

Home / HEALTH / แพทยศาสตร์ จุฬาฯ วิจัยพบ อัญชันและแกนกล้วย ลดความเสี่ยงนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

การดื่มน้ำน้อยเสี่ยงทำให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ล่าสุด คณะแพทย์ จุฬาฯ วิจัยเครื่องดื่มสกัดเข้มข้นจากอัญชันและแกนกล้วย ลดความเสี่ยงการเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะได้สำเร็จ

อัญชันและแกนกล้วย ลดความเสี่ยงนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

Young woman sitting on the bed with pain in stomach

นิ่วปัสสาวะ พบได้ทั่วไป โดยเฉพาะประชากรในประเทศเขตร้อน

นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือ นิ่วปัสสาวะ เป็นโรคเก่าแก่ พบมาตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ ปัจจุบันก็ยังพบได้ทั่วไป โดยเฉพาะประชากรในประเทศเขตร้อน เช่น คนไทย ซึ่งจากการสำรวจพบว่าเป็นโรคนี้ราวร้อยละ 16-17 ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนใหญ่เป็นผู้อาศัยอยู่ในภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยในปี 2563 จากการสำรวจในชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบผู้ป่วยเป็นนิ่วปัสสาวะแบบไม่แสดงอาการสูงถึงร้อยละ 12 นิ่วปัสสาวะส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ไต จึงมักเรียกว่า นิ่วไต และนิ่วจริงๆ แล้วมีหลากหลายชนิดขึ้นอยู่กับแร่ธาตุที่เป็นองค์ประกอบในก้อนนิ่ว แต่ชนิดของนิ่วที่พบได้บ่อยที่สุด คือ นิ่วแคลเซี่ยมออกซาเลต

คนที่เป็นโรคนิ่วระยะแรกมักไม่รู้ตัว

“คนที่เป็นโรคนิ่วระยะแรกมักไม่รู้ตัว เพราะก้อนนิ่วขนาดเล็กและไม่มีอาการผิดปกติใดๆ จะรู้ตัวต่อเมื่อก้อนนิ่วใหญ่ขึ้น อุดกั้นระบบทางเดินปัสสาวะ มีอาการปวดร้าว ปัสสาวะขัด บางคนฉี่เป็นเลือด คนไข้เคยเปรียบอาการปวดนิ่วว่าหนักกว่าปวดท้องคลอด ปัญหาคือนิ่วเป็นซ้ำได้ และถ้าเป็นซ้ำบ่อย ไตก็เสื่อมเร็วขึ้น ในที่สุดก็จะนำไปสู่โรคไตวายเรื้อรัง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย บุญหล้า ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงภัยเงียบของโรคนิ่วไต พร้อมอธิบายวิธีการรักษาที่รู้จักกันทั่วไป คือ การรับประทานยาลดขนาดก้อนนิ่ว ทำให้นิ่วไม่โตขึ้นหรือเล็กลงและหลุดออกง่ายขึ้น หากนิ่วขนาดใหญ่ขึ้นก็จะใช้คลื่นเสียงสลายก้อนนิ่ว หรือหากมีขนาดใหญ่มากก็จำเป็นที่จะต้องผ่าตัดนำก้อนนิ่วออกมา

ผศ.ดร.ชาญชัย เน้นว่านทั่วไปมักไม่ค่อยตระหนักถึงอันตรายของโรคนิ่วปัสสาวะ คิดว่าเป็นโรคไกลตัว คิดว่าไม่อันตรายถึงชีวิต จึงละเลยการป้องกันการเกิดนิ่วปัสสาวะ ซึ่งล่าสุดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้เผยแพร่นวัตกรรมป้องกันการเกิดนิ่วปัสสาวะ ที่อร่อยและได้ประโยชน์ — เครื่องดื่มสกัดเข้มข้นจากสมุนไพรไฮโดรซิทลา (HydroZitLa) จากสมุนไพรไทย “อัญชัน” และ “แกนกล้วย”

สาเหตุของการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

นวัตกรรมป้องกันนิ่วปัสสาวะในรูปแบบเครื่องดื่มไฮโดรซิทลา พัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดนิ่วปัสสาวะ การวิจัยและพัฒนาไฮโดรซิทลาสำเร็จได้ด้วยทีม ซึ่งประกอบด้วย ผศ.ดร.ชาญชัย บุญหล้า ผศ.ดร.ณัฐธิดา โชติช่วง นายบัณฑิตย์ ประชาภิบาล นางสาวณัฐชา มะดาเร็ด และนิสิต ป.โท-เอก ที่ช่วยกันทำงานวิจัย ผศ.ดร.ชาญชัย เผย

“ปกติ คนเราควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร แต่คนไทยดื่มน้ำน้อยมากเฉลี่ยเพียงวันละ 1-1.5 ลิตรเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยเฉพาะคนไทยที่อยู่ในเขตร้อนก็จะเสียน้ำจากเหงื่อมากกว่าคนภูมิภาคอื่น ทำให้ปัสสาวะเข้มข้น มีสีเหลืองจัด โอกาสที่สารก่อนิ่วจะตกผลึกจนเกิดเป็นนิ่วจึงมากขึ้น นอกจากนี้ การกินอาหารที่มีสารก่อนิ่วจำพวก “ออกซาเลต (Oxalate)” สูง เช่น ผักพื้นบ้านอย่างใบชะพลู มากก็ยิ่งทำให้มีมีโอกาสการเกิดผลึกแคลเซียมออกซาเลตในปัสสาวะสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดนิ่ว แม้แต่การกินอาหารเสริมวิตามินซีและสารให้ความหวานไซลิทอลมากเกินไปก็ทำให้มีออกซาเลตสูงในปัสสาวะแล้วก่อให้เกิดนิ่วได้เช่นกัน” ผศ.ดร.ชาญชัย กล่าว

พร้อมระบุ อีกสองสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เป็นโรคนิ่ว คือ ปริมาณตัวยับยั้งนิ่วซิเตรทในปัสสาวะต่ำ ขณะที่ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายกลับมีไม่มากพอ มีปริมาณสารอนุมูลอิสระสูง ทำให้เกิดภาวะเครียดจากออกซิเดชั่น เซลล์ไตถูกทำลายได้ง่ายและเป็นที่เกาะสะสมของผลึกนิ่วแล้วนำไปสู่การเกิดนิ่ว

“ตัวยับยั้งนิ่วคือ ซิเตรท (Citrate) มีอยู่ในผลไม้รสเปรี้ยวตระกูลส้ม ไม่ว่าจะเป็นมะนาว ส้ม ส้มโอ มะกรูด หรือพบมากในแครนเบอร์รี่และเมลอนซึ่งคนไทยมักไม่นิยมรับประทานเท่าผลไม้รสหวาน ทำให้ร่างกายได้รับซิเตรทน้อย ส่วนสารต้านอนุมูลอิสระพบในอาหารจำพวกผักและผลไม้ นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง (อาหารเค็ม) และโปรตีนสูงก็ส่งเสริมให้เกิดนิ่วปัสสาวะได้ง่ายขึ้น”

เครื่องดื่มไฮโดรซิทลา ลดความเสี่ยงของการเกิดนิ่วปัสสาวะ

จากปัญหาโรคนิ่วปัสสาวะที่พบได้สูงและเกิดซ้ำบ่อยในคนไทย และปัญหาผลข้างเคียงของการใช้ยาโพแทสเซี่ยมซิเตรทในผู้ป่วยบางราย นำมาสู่การวิจัยผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไฮโดรซิทลา ซิเตรท พลัส ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างยาแผนปัจจุบัน (modern medicine) และศาสตร์ยาสมุนไพรแผนโบราณ (traditional medicine) ที่สามารถแก้ไขสาเหตุของการเกิดนิ่วทั้งสามประการที่กล่าวข้างต้นได้ ผศ.ดร.ชาญชัย กล่าวถึงสรรพคุณของสมุนไพรหลักที่นำมาผลิตเป็นเครื่องดื่มไฮโดรซิทลา แกนกล้วย คือแกนตรงกลางเครือกล้วยแข็งๆ หลังตัดผลหวีออกแล้ว หาง่าย หากต้องซื้อ ราคาก็ไม่แพง สารในแกนกล้วยมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ และลดปริมาณออกซาเลตในปัสสาวะได้ อัญชัน เป็นสมุนไพรที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ให้สีสวยตามธรรมชาติ เมื่อนำมาสกัดพร้อมแกนกล้วย ผ่านความร้อนด้วยอุณหภูมิ เวลา และอัตราส่วนที่เหมาะสม ก็ทำให้ได้สารสำคัญที่มีสรรพคุณลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะได้

เครื่องดื่มสกัดเข้มข้นจากสมุนไพรไฮโดรซิทลา ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว ในหมวดหมู่เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในระยะก่อนคลินิก (preclinically tested) แล้ว และกำลังศึกษาทดสอบประสิทธิภาพในระยะคลินิก (clinical trial) ปัจจุบันมีจำหน่ายตามเครื่องจำหน่ายสินค้านวัตกรรมทางการแพทย์แบบอัตโนมัติ ที่ตั้งบริการตามจุดต่างๆ ทั้งที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ Siam Innovation District (SID) อาคารสยามสแควร์วัน “ดื่มไฮโดรซิทลาทุกวันแล้วคุณจะรู้สึกด้วยตัวเองว่า…ฉี่คล่อง เป็นของกล้วย…กล้วย”

“ทุกครั้งที่ดื่มน้ำก็ป้องกันนิ่วแล้ว ยิ่งดื่มไฮโดรซิทลาที่มีทั้งซิเตรทและสารต้านอนุมูลอิสระเข้าไปด้วยแล้วก็จะช่วยต้านนิ่วได้มากขึ้น” ผศ.ดร.ชาญชัย กล่าวด้วยความภูมิใจต่อว่า “อนาคต เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของผู้ขับเคลื่อนประเทศร่วมสร้างนวัตกรรมสัญชาติไทยออกสู่ตลาดให้มากขึ้น ที่ผ่านมาเราเป็นผู้รับและใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศมานาน ถึงเวลาแล้วที่เราคนไทยจะต้องสร้างเทคโนโลยีขึ้นใช้เอง และส่งขายต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศเราสามารถแข่งขันด้านเทคโนโลยีได้ และสามารถก้าวผ่าน middle-income trap เข้าสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ทีมวิจัยและพัฒนาของเรามีความเชื่อมั่นและความแน่วแน่ที่จะสร้างสรรค์เทคโนโลยีดีๆ ฝีมือคนไทยสู่เวทีสากล”