ผิวลอกเป็นขุย รังแค โรคต่อมไขมันอักเสบ โรคผิวหนัง โรคผิวหนังอักเสบ โรคเซ็บเดิร์ม

ทำความเข้าใจ โรคเซ็บเดิร์ม โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน และวิธีดูแลตัวเองให้ผื่นไม่กำเริบ

บริเวณที่พบบ่อยของผื่นเซ็บเดิร์มคือบริเวณใบหน้า โดยจะขึ้นที่หัวคิ้ว ข้างจมูก หลังหู ซึ่งเป็นบริเวณที่พบได้บ่อยที่สุด กลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรคนี้คือเด็กแรกเกิด–2เดือน

Home / HEALTH / ทำความเข้าใจ โรคเซ็บเดิร์ม โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน และวิธีดูแลตัวเองให้ผื่นไม่กำเริบ

โรคเซ็บเดิร์ม หรือ ชื่อเต็ม โรค Seborrheic Dermatitis เป็นโรคที่มีภาวะผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมันในชั้นผิวหนัง ถือเป็นโรคเรื้อรัง ที่มีสาเหตุหลายอย่างด้วยกัน เช่น ระดับของฮอร์โมนที่แปรปรวน หรือจากเชื้อยีสต์ เชื้อราบางตัว รวมถึงจากพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และส่งผลต่อชีวิตประจำวัน โดยจะส่งผลต่อจิตใจโดยตรง ทำให้ขาดความมั่นใจจากโรคผิวหนังเรื้อรัง ทั้งนี้การทำความเข้าใจต่อตัวโรค รวมถึงการควบคุมก็มีส่วนในการรักษา

บริเวณที่พบบ่อยของผื่นเซ็บเดิร์มคือบริเวณใบหน้า โดยจะขึ้นที่หัวคิ้ว ข้างจมูก หลังหู ซึ่งเป็นบริเวณที่พบได้บ่อยที่สุด ในคนที่มีอาการรุนแรงจะพบบริเวณหน้าอกหรือแผ่นหลังด้วย ขณะที่บางรายก็อาจเกิดที่บริเวณหนังศีรษะเพียงอย่างเดียว กลุ่มเสี่ยงของการเกิดโรคนี้คือเด็กแรกเกิด – 2 เดือน ส่วนมากจะเกิดผื่นที่บริเวณศีรษะหรือใบหน้า และอีกหนึ่งช่วงอายุคือ ช่วงที่กำลังจะเข้าสู่วัยรุ่น ลักษณะการเกิดคือเมื่อเริ่มมีการสร้างต่อมไขมันในไขมันขึ้นมาแล้วผื่นจะกำเริบขึ้น และปรากฎที่บริเวณใบหน้าและลำตัว

ผื่นเซ็บเดิร์มสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในหน้าร้อนและหน้าหนาว โดยหน้าร้อนต่อมไขมันบริเวณผิวหน้าจะสร้างซีบุ่มหรือไขมันออกมามาก ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ผื่นเซ็บเดิร์มเกิดได้มากขึ้น ส่วนในหน้าหนาว เมื่ออากาศแห้งเกินไปก็จะกระตุ้นให้เกิดผื่นเซ็บเดิร์มได้เช่นกัน

อากาศที่แห้งนั้นทำให้หลายคนมักพบกับปัญหาผิว อาการคันบริเวณผิวและหนังศีรษะ รวมถึงอาการระคายเคืองต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน หรือโรคเซ็บเดิร์ม ก็มีโอกาสที่อาการกำเริบได้ในช่วงที่มีอากาศแห้ง บริเวณที่พบบ่อย คือ ใบหน้า บริเวณหัวคิ้ว ข้างจมูก หลังใบหู หรือหนังศีรษะ ในบางรายที่มีอาการรุนแรงจะพบที่บริเวณหน้าอกหรือแผ่นหลังด้วย อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวัง คือ ฝุ่นละออง PM 2.5 เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศ ทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นมากขึ้น นอกจากจะส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจ และสุขภาพผิวโดยตรงแล้ว ฝุ่นละออง PM 2.5 จะไปทำปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) กับชั้นฟิล์มไขมันเคลือบผิว (Sebum) ที่ทำหน้าที่เสมือนเกราะปกป้องผิว ทำให้เกิดการระคายเคือง อักเสบ อุดตัน นำมาซึ่งปัญหาผิว

อาการของโรค

  • มีผื่นในบริเวณที่มีต่อมน้ำมันมาก ในระยะรุนแรงผื่นอาจขยายตัวเป็นบริเวณกว้าง เพราะต่อมน้ำมันมีอยู่ทั่วร่างกาย
  • มีการอักเสบของผิวหนัง มีอาการแดง ผื่น รู้สึกคัน ผิวหนังลอกเป็นสะเก็ดแผ่นๆ สะเก็ดจะมีลักษณะมัน ต่างจากสะเก็ดของโรคสะเก็ดเงิน ที่มีลักษณะขาวขุ่นแแห้ง
  • บางรายจะมีอาการแสบหากโดนเหงื่อ โดนแสงแดด และมักจะเกิดอาการในบริเวณที่มีต่อมน้ำมันมากก่อนบริเวณอื่น หรือมีรังแคมากที่บริเวณศีรษะแม้จะสระผมเป็นประจำ ก็ยังมีรังแแค ซึ่งเป็นไปได้ว่าไม่ได้เกิดจากความสกปรก แต่เกิดจากโรคเซ็บเดิร์มที่ทำให้ผิวหนังเกิดการลอก

ข้อควรปฏิบัติหลังเกิดผื่นเซ็บเดิร์ม ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ถูกวิธี โดยโรคนี้รักษาได้ไม่ยาก และมีการใช้ยาทาเพียง 1-2 ชนิดเท่านั้น ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตนให้ถูกต้อง และควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางทุกชนิด กรณีที่อยากแต่งหน้าปกปิดผื่นเซ็บเดิร์ม เป็นเรื่องที่ไม่แนะนำให้ทำ เพราะอาจไปกระตุ้นให้อาการแย่ลงหรือกลายเป็นผื่นชนิดอื่น เช่น การแพ้สัมผัสครีมหรือเครื่องสำอางบางตัว และอาจทำให้เกิดสิวได้อีกด้วย นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงสภาวะความเครียดและควรพักผ่อนให้เพียงพอ ควรหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และดื่มน้ำเยอะๆ พยายามทำร่างกายให้แข็งแรง รวมถึงการเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่มีมาตรฐาน เลือกค่า PH ที่บอกความเป็นกรดด่างไม่ให้มากเกินไป หลีกเลี่ยงการใช้ครีมหรือเครื่องสำอางที่มัน และมีส่วนประกอบระคายเคืองผิว เช่น AHA หรือ วิตามินA สำหรับคนที่เป็นเซ็บเดิร์มบริเวณศีรษะ ควรใช้แชมพูสระผมที่ไม่ระคายเคืองหนังศีรษะ

อ้างอิงที่มาจาก สถาบันโรคผิวหนัง
อ.พญ.สุธินี รัตนิน สาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
พญ.อรอุมา พันธ์อภิวัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและความงาม