หากใครได้ติดตามข่าวการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม ของ นุ๊กซี่ อัญพัชญ์ ในวัยเพียง 34ปี หลังจากที่เธอใช้เวลาในการรักษาตัวอยู่เกือบปี ซึ่งจุดเริ่มต้นของการค้นพบ โรคมะเร็งเต้านม ของเธอนั้นมาจากการคลำเจอก้อนที่เต้านม และในตอนนั้นเองที่เธอได้ออกมาเล่าถึงอาการของเธอว่า “นุ๊กซี่ คลำเจอก้อนที่นม แต่ชล่าใจยังไม่ได้ไปหาหมอ และทิ้งช่วงเวลาไปกว่า3เดือน จนกระทั่งก้อนมันใหญ่ขึ้น และเริ่มมีน้ำปนเลือดไหลออกมาจากนม เลยรีบไปหาหมอ ผลออกมาคือเป็นมะเร็งเต้านม ระยะที่ 2-3″ (อ่านเรื่องราวอาการป่วยมะเร็งของ นุ๊กซี่ ได้ที่นี่)
ซึ่งโรคมะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งอันดับ 1 ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงทั่วโลก และอัตราการรอดชีวิตนั้นจะลดลง เมื่อพบที่ระยะท้ายๆ และโดยมากแล้ว ผู้ป่วยก็มักจะมีอาการเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3-4 ไปแล้วเป็นส่วนมาก นั่นส่งผลให้ การรักษาชีวิตมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ดังนั้นแล้วสิ่งที่ทำได้คือการหมั่นตรวจความผิดปกติในร่างกายของตนเองเป็นประจำ เพื่อให้เราสามารถรับมือกับโรคได้ทันและมีอัตราการรอดชีวิตได้มากยิ่งขึ้น
หากตรวจพบตั้งแต่ระยะ 0 – มีอัตราการรอดชีวิต 100 % (ขนาดเล็กมากๆ อาจตรวจเจอได้ยาก)
หากตรวจพบมะเร็งระยะที่ 1 – มีอัตราการรอดชีวิต 99 % (มักจะก้อนเนื้อขนาดเล็กๆไม่เกิน 2ซม.)
หากตรวจพบมะเร็งระยะที่ 2 – ก้อนเนื้อขนาด 2 – 5 เซนติเมตร และมะเร็งกระจายไปต่อมเหลือง มีอัตราการรอดชีวิต 86 %
หากตรวจพบมะเร็งระยะที่ 3 – ก้อนเนื้อขนาดมากกว่า 5 เซนติเมตร และมะเร็งกระจายไปต่อมเหลือง มีอัตราการรอดชีวิต 52 %
หากตรวจพบมะเร็งระยะที่ 4 – มะเร็งกระจายไปอวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด ตับ และกระดูก มีอัตราการรอดชีวิต 16 %
ปัจจุบันยังคงไม่มีวิธีป้องการเกิดโรค วิธีที่ดีที่สุดคือการตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรกเมื่อ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมปีละ 1 ครั้ง
และสัญญาณที่ผิดปกติที่บ่งบอกว่าไม่ควรชะล่าใจ ที่คุณสามารถมองเห็นได้ด้วยตนเอง หรือตรวจพบได้ด้วยตนเองมีดังนนี้
-ขนาด หรือรูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป
-ผิวเต้านมมีรอยแดง, ผื่นแดงร้อนบวมหนาคล้ายเปลือกส้ม, แผลเปิดที่รักษาไม่หายที่เต้านม, แผลหรือผื่นรอบหัวนมที่รักษาไม่หายขาด
-คลำพบก้อนผิดปกติที่เต้านมหรือบริเวณรักแร้
-มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เช่น มีรอยบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม
-หัวนมบุ๋ม
-มีของเหลวไหลออกจากหัวนม เช่น น้ำเลือดหรือน้ำเหลือง
-ปวดเต้านมที่ไม่สัมพันธ์กับประจำเดือน
-หากพบว่ามีอาการผิดปกติ ควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ผ่านการวินิจฉัยด้วยเครื่องแมมโมแกรมดิจิตอล 3 มิติ ร่วมกับการทำอัลตราซาวนด์ เพราะการพบมะเร็งตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถรักษาให้หายขาดได้
ท่าสำหรับการตรวจคลำเต้านมด้วยตนเอง เพื่อตรวจสอบความผิดปกติเบื้องต้น
ท่าตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง ขณะอาบน้ำ
เริ่มจากยกมือไว้เหนือศีรษะข้างเดียวกับเต้านมที่จะตรวจ แล้วใช้ปลายนิ้วมืออีกข้างมาคลำเต้านมข้างที่ยกมือไว้ จากนั้นกดและค่อยๆคลำเบาๆ หมุนไปโดยรอบเต้านม ฐานหัวนม หัวนม และลองบีบหัวนมว่ามีน้ำเลือด น้ำเหลืองไหลออกมาหรือไม่ จากนั้นคลำไปที่บริเวณรักแร้และเหนือไหปลาร้าทั้งสองข้างด้วย
ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง ท่ายืนหน้ากระจก
ยืนตัวตรงแล้ว ยกมือทั้งสองข้างให้สูงเหนือศีรษะ จากนั้นสังเกตเต้านมทั้งสองข้าง ไม่ควรมีรอยนูน รอยบุ๋มจากก้อนมะเร็งดึงรั้งลงไป เต้านมทั้งสองข้างควรอยู่ในระดับเดียวกัน
การคลำในแนวขึ้นลง (up and down)
โดยเริ่มคลำจากส่วนล่างด้านนอกของเต้านมถึงกระดูกไหปลาร้า โดยใช้นิ้วมือ 3 คือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง คลำในแนวขึ้นลง จากใต้เต้านมถึงกระดูกไหปลาร้า คลำสลับกันไปเรื่อยๆ จนทั่วทั้งเต้านม
การคลำในแนวรูปลิ่ม (wedge)
เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมจนถึงฐาน แล้วขยับนิ้วมือจากฐานถึงหัวนมคลำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ให้ทั่วเต้านม
การคลำในแนวก้นหอยหรือตามเข็มนาฬิกา (circles)
เริ่มคลำจากส่วนบนของหัวนม แล้ววนนิ้วมือไปตามแนวก้นหอยเป็นวงกลม วนไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงฐานเต้านมและบริเวณรอบรักแร้
การตรวจเต้านมด้วยตนเองควรตรวจอย่างน้อยเดือนละครั้ง และช่วงเวลาที่ควรตรวจ คือ ช่วง 7 วันหลังจากมีประจำเดือน เพราะเป็นช่วงที่เต้านมไม่ตึงมากจึงสามารถคลำหาก้อนได้ง่าย หากพบความผิดปกติความรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมในทันที
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก พญ.พรพรหม ตั้งคติขจรกิจ โรงพยาบาลเวชธานี