โตโยต้า มอเตอร์คอร์ปอเรชั่น (โตโยต้า) เปิดตัวยานยนต์ต้นแบบรุ่น “LQ” (แอลคิว) ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยสามารถสร้างความสัมพันธ์ด้านอารมณ์ระหว่างรถกับผู้ขับขี่ได้ ถือเป็นเจเนอเรชั่นที่พัฒนาต่อยอดจากยานยนต์ต้นแบบรุ่น โตโยต้า คอนเซปต์-ไอ (TOYOTA Concept-i) ซึ่งได้ทำการแนะนำไปในงาน 2017 Consumer Electronics Show ในปี 2560
ยานยนต์ต้นแบบ LQ มีความสามารถในการขับขี่อัตโนมัติทั้งมี “Yui” (ยุอิ) ตัวแทนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สุดชาญฉลาด มีความสามารถในการตอบโต้ ซึ่งออกแบบให้เรียนรู้ผู้ขับขี่และเป็นผู้สร้างประสบการณ์ในการขับเคลื่อนที่เฉพาะส่วนบุคคล
โตโยต้า LQ ใหม่ พัฒนาขึ้นตามหลักการดังกล่าว ภายใต้แนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ว่า “เรียนรู้ เติบโต รัก” “(Learn, Grow, Love)” โดยโตโยต้าร่วมกับสถาบันวิจัยโตโยต้า (Toyota Research Institute หรือ TRI) พัฒนา “Yui” และเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติของโตโยต้า LQ ซึ่งจะทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ในการขับเคลื่อนที่เฉพาะบุคคล ผ่านการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรถกับผู้ขับขี่ จากการเรียนรู้และตอบสนองความชอบและความต้องการของแต่ละบุคคล โดยชื่อรุ่น LQ ยังสื่อถึงความมุ่งหวังของโตโยต้าว่า วิธีการนี้จะเป็นการส่งสัญญาณ (cue) ถึงแนวทางการพัฒนายนตรกรรมในอนาคต ที่สามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านอารมณ์ระหว่างรถกับผู้ขับขี่ได้
คุณลักษณะเด่นและเทคโนโลยีของยานยนต์ต้นแบบ Toyota LQ ใหม่ ประกอบด้วย
1. “Yui” ผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนที่และตัวแทนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สุดชาญฉลาดในตัวรถ (Onboard Artificial Intelligence Agent) ที่มอบประสบการณ์การขับขี่เฉพาะบุคคล ตามสภาวะด้านอารมณ์และความพร้อมด้านความปลอดภัย ยนตรกรรมนี้ ออกแบบให้รองรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบสามารถตอบโต้กับผู้ขับขี่ ผ่านการสื่อสารด้วยเสียงในรูปแบบของการปฎิสัมพันธ์ที่นั่ง ติดตั้งฟังก์ชั่นให้เพิ่มความพร้อมด้านความปลอดภัยหรือลดความเครียดให้กับผู้ขับขี่ ตลอดจนการออกแบบแสงภายในตัวรถ เครื่องปรับอากาศ การใช้กลิ่นหอม และยังมาพร้อมเทคโนโลยีการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับรถ หรือ Human-Machine Interactions (HMI) เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ขับขี่จะได้รับ ความปลอดภัยและความสะดวกสบาย นอกจากนั้น “Yui” ยังสามารถเลือกและเล่นดนตรีให้ สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมขณะขับขี่ ทั้งยังสามารถให้ข้อมูลตามเวลาจริงแบบ real time ตามหัวข้อที่ผู้ขับขี่สนใจได้
นอกเหนือจากการวิจัยที่ร่วมมือกับสถาบันวิจัยโตโยต้า (Toyota Research Institute หรือTRI) โตโยต้ายังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรอื่นๆ ในการพัฒนาและทดลองใช้งานตัวแทนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ “Yui” ประกอบด้วย
JTB Corporation: สนับสนุนข้อมูลด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและเส้นทางเดินรถ ตลอดจนเส้นทางที่เหมาะสมกับความชอบของผู้ขับขี่
AWA Co., Ltd.: สนับสนุนดนตรีในการฟังเพลงรูปแบบออนไลน์โดยใช้ อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลาง (streaming music) ที่เหมาะสมกับเส้นทางเดินรถ และความชอบของผู้ขับขี่
NTT DoCoMo, Inc.: สนับสนุนเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็วและมีความเสถียรสูง ด้วยการติดตั้งสถานีเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 5G ขณะการทดลองขับ ในอนาคต โตโยต้าจะพัฒนาเพื่อปรับปรุงการทำงานของ “Yui” ให้มีความสามารถทำงานร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่น อาทิ สมาร์ตโฟน
2. เทคโนโลยีที่ออกแบบเพื่อมอบความปลอดภัย ความสบายใจ และประสบการณ์ในการขับเคลื่อนที่อันแสนสะดวกสบาย
2.1 ความสามารถในการขับขี่อัตโนมัติ: LQ มาพร้อมความสามารถในการขับขี่อัตโนมัติระดับ SAE2 Level 4
2.2 ระบบค้นหาและจอดรถอัตโนมัติ: (พัฒนาร่วมกับ พานาโซนิค คอร์ปอเรชั่น) ระบบนี้จะทำให้ความจำเป็นในการหาที่จอดรถหายไป ด้วยความสามารถในการขับขี่อัตโนมัติระหว่างจุดรับ-ส่ง และช่องจอดรถที่กำหนดไว้ในที่จอดรถที่อยู่ใกล้เคียง ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้มีข้อจำกัดในการเคลื่อนที่ รวมถึง ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย สตรีมีครรภ์ ผู้ที่ เดินทางพร้อมทารก และผู้ที่ไม่สะดวกในการจอดรถ
ระบบนี้ยังสร้างระยะห่างภายในที่จอดรถให้มากที่สุด ด้วยการลดระยะห่างระหว่างรถที่อยู่ใกล้เคียงถึง 20 เซนติเมตร ระบบค้นหาและจอดอัตโนมัติจะทำงานผ่านระบบที่ติดตั้งในตัวรถ เพื่อระบุตำแหน่งปัจจุบันของรถ ผ่านกล้องหลายตัว มีการใช้ระบบโซนาร์และเรดาร์ แผนที่ถนนแบบสองมิติ กล้องที่ติดตั้งในที่จอดรถและศูนย์กลางในการควบคุม ระบบเซนเซอร์และกล้องที่จอดรถ จะตรวจสอบยานพาหนะอื่น และผู้สัญจรเดินเท้า ภายในเส้นทางเดินรถที่อยู่ในระยะของระบบขับขี่อัตโนมัติและจะหยุดรถอัตโนมัติเมื่อมีการตรวจพบยานพาหนะอื่น และผู้สัญจรเดินเท้า
2.3 AR-HUD (พัฒนาร่วมกับ พานาโซนิค คอร์ปอเรชั่น): ระบบ Head up Display แบบโลกเสมือนจริง Augmented Reality Head’s Up Display (AR-HUD) ของ LQ ใช้เทคโนโลยีเสริมความเป็นจริง (Augmented Reality) เพื่อแสดงผลบนกระจกหน้ารถ Head’s Up Display (HUD) ช่วยทำให้เกิดการขับขี่ที่ปลอดภัย ด้วยการลดการเคลื่อนที่ของสายตาขณะขับขี่
ข้อมูลการขับขี่ เช่น การเตือนเมื่อเปลี่ยนเลน สัญญาณบนท้องถนน และการแนะนำเส้นทาง สามารถ แสดงผลในรูปแบบสามมิติที่เข้าใจได้ง่าย บนจอแสดงผลของกระจกหน้ารถ ด้วยหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ (เทียบเท่าขนาด 230 นิ้ว) มีมิติความลึก 7 ถึง 41 เมตร ระบบนี้จะช่วยทำให้สายตาของผู้ขับขี่จับจ้องที่ท้องถนน
2.4 ที่นั่งพร้อมระบบเตือนเพื่อความปลอดภัยและระบบผ่อนคลาย (ครั้งแรกของโลก ที่พัฒนาร่วมกับ โตโยต้า โบโชคุคอร์ปอเรชั่น): ระบบที่นั่งสุดล้ำสมัยของ LQ มีการบรรจุถุงลมแบบพองได้ จำนวนมากเข้าไปในที่นั่งที่มีระบบเครื่องปรับอากาศ ช่วยให้ผู้ขับขี่รู้สึกตื่นตัวหรือผ่อนคลาย ตามสภาพแวดล้อมขณะขับขี่ หากระบบเรียนรู้ว่าผู้ขับขี่มีอาการเหนื่อยล้า จะทำการเป่าลมภายในที่นั่งบริเวณด้านหลัง เพื่อให้เกิดลักษณะท่านั่งแบบหลังตรง พร้อมทำการปล่อยลมเย็นจากระบบหมุนเวียนภายในที่นั่ง เพื่อให้เกิดสภาวะที่ผู้ขับขี่ผ่อนคลายได้ เช่น ในขณะที่ระบบขับขี่อัตโนมัติทำงาน ถุงลมภายในที่นั่งบริเวณด้านหลังจะค่อยๆ ยุบและพอง เพื่อให้เกิดการหายใจด้วยกล้ามเนื้อกระบังลม
3. เทคโนโลยีและอุปกรณ์ล้ำสมัยอื่นๆ
3.1 เทคโนโลยีการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับรถ (HMI): LQ ใช้พื้นที่บริเวณหลังคาและพื้นรถเป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารเฉพาะบุคคล เพื่อแบ่งปันข้อมูลระหว่างรถกับผู้ขับขี่ แสงบนหน้าจอจะแสดงสีแตกต่างกัน เมื่อแสดงผลว่ารถกำลังเคลื่อนที่ด้วยระบบขับขี่อัตโนมัติ หรือการขับขี่โดยมนุษย์ และแสงบริเวณเท้าจะระบุว่า “Yui” กำลังสื่อสารกับผู้โดยสารท่านใด
LQ มีความสามารถในการสื่อสารข้อมูล เช่น สภาพพื้นผิวถนนให้คนที่อยู่ในและนอกตัวรถทราบ ผ่านการใช้อุปกรณ์ดิจิตัลไมโครมิเรอร์ Digital Micromirror Device (DMD) ซึ่งติดตั้งในไฟหน้าของรถระบบจะทางานผ่านกระจกเล็กๆ จำนวนหนึ่งล้านชิ้นที่อยู่ภายใน เพื่อแสดงผลสภาพพื้นผิวถนนอันซับซ้อนที่รถกำลังมุ่งหน้าไป
3.2 เทคโนโลยีหน้าจอแสดงผลแบบ Organic LED: เป็นครั้งแรกที่โตโยต้าใช้เทคโนโลยี Organic LEDs (OLEDs) สำหรับหน้าปัดรถและการแสดงผลของ LQ ซึ่งเป็นการออกแบบแผงควบคุมรอบคนขับที่มีดีไซน์ล้ำหน้า ทั้งทำให้เกิดการแสดงผลที่ชัดเจน
3.3 ระบบกรองอากาศ: (พัฒนาร่วมกับ Aisin Chemical Co., Ltd. และ Cataler Corporation) LQ ติดตั้งระบบตัวกรองอากาศแบบใหม่ที่จะย่อยสลายโอโซนในก๊าซออกซิเจน ผ่านพัดลมหม้อน้ำ ส่งผลให้โอโซนที่อยู่บริเวณพื้นดินซึ่งเป็นหนึ่งสาเหตุของหมอกควันแบบโฟโตเคมี (photochemical smog) ถูกย่อยสลายขณะรถเคลื่อนที่ โตโยต้าประเมินว่าผลจากระบบดังกล่าว จะช่วยทำให้เกิดการกรองอากาศของโอโซนประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่ในอากาศปริมาณ 1,000 ลิตร ระหว่างระยะเวลาการขับขี่ 1ชั่ วโมง
โตโยต้ามุ่งหวังว่านวัตกรรมดังกล่าว จะช่วยลดมลพิษที่ก่อให้เกิดอันตรายอย่างโอโซนจากอากาศที่เกิดขึ้นระหว่างขับขี่ และยังพิจารณาให้ยนตรกรรมที่จะจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในอนาคต มีการนำเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้
4. ดีไซน์
ห้องโดยสารของ LQ ออกแบบให้มีโครงสร้างแห่งอนาคต ดูล้ำสมัย ด้วยการนำเอา “Yui” ไว้ที่กึ่งกลางแผงควบคุม ผ่านเส้นสายที่วาดจากภายในตัวรถมายังภายนอกการออกแบบภายในดูเรียบง่ายและมีความเงางาม มีการซ่อนอุปกรณ์หลัก อย่างเครื่องปรับอากาศให้อยู่ในบริเวณที่มองไม่เห็น คอนโซลกึ่งกลางพิมพ์สามมิติ การใช้ เทคโนโลยีด้านการออกแบบ topology optimization ส่งผลให้เกิดความแข็งแรงสูงสุด และทำให้ภายในตัวรถดูทันสมัยยิ่งขึ้น ด้วยโครงสร้างอุปกรณ์ภายในห้องโดยสารที่ผู้ขับขี่มองเห็นมีจำนวนน้อยลง ประตูภายนอกตัวรถมีการใช้แก้วที่เชื่อมโดยปราศจากรอยต่อเข้ากับด้านในตัวรถ ทำให้เกิดดีไซน์ที่เป็นเอกภาพ ดูหรูหราสง่างาม
Toyota LQ จะนำมาจัดแสดงที่โซนจัดแสดงพิเศษ Future Expo ภายในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ 2019 ระหว่างวันที่ 24 ตุลาคมถึง 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 นอกจากนั้น โตโยต้ายังทำการแนะนำ “Toyota Yui Project Tours 2020” กิจกรรมทดลองขับที่เปิดให้กับสาธารณชน จัดระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 บุคคลทั่วไปสามารถ ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน เพื่อรับข้อมูลสิ่งที่สนใจและสิ่งที่ชอบล่วงหน้า โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะ ได้ร่วมกิจกรรมทดลองขับไปกับ LQ และ“Yui”