EV car Mercedes-Benz รถยนต์ไฟฟ้า เมอร์เซเดส-เบนซ์

Mercedes-Benz ย้ำ! มุ่งมั่นผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจากโลกสู่ไทย

เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยภายใต้กลยุทธ์เปลี่ยนโลกให้สะอาดอย่างต่อเนื่อง

Home / AUTO / Mercedes-Benz ย้ำ! มุ่งมั่นผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจากโลกสู่ไทย

เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนโลกให้สะอาดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามนโยบายระดับโลกของ Mercedes-Benz AG และกลยุทธ์ในการก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัวทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยภายในทศวรรษนี้

ด้วยนโยบายระดับโลกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอจี ในการยกระดับจากกลยุทธ์ “ไฟฟ้านำ” (electric first) เป็น “ไฟฟ้าเท่านั้น” (electric only) เพื่อตั้งเป้าภายในปี 2568 เป็นต้นไป จะนำเสนอผลิตภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดทุกโมเดลภายใต้โครงสร้างรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ 3 แบบ ได้แก่ MB.EA, AMG.EA และ VAN.EA 

สำหรับประเทศไทยก็ได้ตอกย้ำเดินหน้าการนำเสนอผลิตภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดตั้งแต่ต้นทางสายการผลิตสู่การการบริการหลังการขายให้สอดคล้องไปกับแผนบรรเทาสภาวะอากาศระยะยาวของรัฐบาลไทยที่ต้องการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2593 และ 2608 ตามลำดับ และตอบโจทย์ความต้องการยานยนต์ ระดับลักชัวรีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อาทิ การเปิดตัวรถยนต์รุ่น EQS รถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบคันแรก พร้อมแผนการประกอบรถยนต์รุ่นนี้ในประเทศไทยภายใต้มาตรฐานการทำงานระดับโลกเพื่อเตรียมพร้อมจำหน่ายทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศในปี 2565 รวมถึงแผนการลงทุนด้านยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดำเนินงานของโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ทั้งรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ ต่อยอดจากความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ PHEV ระดับลักชัวรี เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก้าวไปในทิศทางเดียวกันกับเทรนด์ยานยนต์โลก

Mercedes-Benz

มร. โรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้เลือกให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 7 ที่ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่และโรงงานประกอบรถยนต์ที่เรามีทั่วโลก เพราะเรามั่นใจในศักยภาพของตลาด และเล็งเห็นความสำคัญของการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมไปถึงการที่เรามีความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกับภาครัฐในการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นปัจจัยหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศ”

“ขณะเดียวกัน แรงงานไทยก็เป็นแรงงานที่มีฝีมือ การตั้งโรงงานประกอบรถยนต์และผลิตแบตเตอรี่ในไทยด้วยมาตรฐานการผลิต โดยเฉพาะมาตรฐานการทดสอบแบตเตอรี่ในระดับสูงสุด จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้เติบโตรุดหน้า ตอบรับเทรนด์ e-mobility ของโลก และยังประโยชน์ให้กับทั้งประเทศไทย ซัพพลายเออร์ไทย และคนไทยอย่างต่อเนื่องในอนาคต”

Mercedes-Benz

แบรนด์เมอร์เซเดส-เบนซ์ มีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยาวนานกับประเทศไทย ย้อนกลับไปไกลถึงปีพ.ศ. 2448 เมื่อมีรถยนต์ Mercedes-Benz คันแรกเข้ามาในประเทศไทย ก่อนจะใกล้ชิดยิ่งขึ้นอีกเมื่อได้จับมือกับบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ ในฐานะผู้จำหน่ายรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์อย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2493 หรือกว่า 70 ปีมาแล้ว

ปัจจุบัน หลังฉลองความสำเร็จของการประกอบรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ในประเทศไทยครบ 100,000 คันไปตั้งแต่ปี 2559 ทางบริษัทฯ ได้ริเริ่มให้มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ภายใต้การดูแลของบริษัท ธนบุรี เอ็นเนอร์ยี่ สตอเรจ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด (TESM) ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่ได้รับอนุญาตจากเมอร์เซเดส-เบนซ์แต่เพียงผู้เดียว

โดยโรงงานแห่งนี้ มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการผลิตแบตเตอรี่ทั้งสำหรับรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดรุ่นต่าง ๆ อาทิ รุ่น C-Class, E-Class และ GLC รวมถึงรุ่น S 580 e ที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุด และแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์รุ่น EQS ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% คันแรกจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ที่จะมีการประกอบในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมขับเคลื่อนยานยนต์สมัยใหม่ ภายใต้กรอบแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวและมลพิษต่ำ โดยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง เพื่อผลักดันทิศทางของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

Mercedes-Benz ภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ด้วยเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าระดับพรีเมียมของประเทศ โดยไม่ได้มุ่งเน้นแต่เพียงแค่การขายรถยนต์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมองถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทยด้วยการลงทุนผลิตรถยนต์และแบตเตอรี่ในประเทศ สนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศและส่งมอบโอกาสทางด้านความรู้ความเชี่ยวชาญให้กับแรงงานชาวไทย ซึ่งสามารถนำไปวิจัยต่อยอดให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ ต่อไปได้

ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากนโยบายและมาตรการที่เอื้อหนุนจูงใจให้เกิดการลงทุนในประเทศ ทั้งในแง่ของการสนับสนุนผู้ผลิตยานยนต์สมัยใหม่ การกระตุ้นความต้องการของตลาดยานยนต์ไฟฟ้า การวางแผนขยายจำนวนสถานีชาร์จ รวมถึงการสร้างโครงข่ายสนับสนุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต และการวางแผนดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน