Community Isolation Home Isolation กักตัวที่บ้าน กักตัวในชุมชน

ความคืบหน้า แนวทางการแยกกักตัวที่บ้าน / ในชุมชน

ประเด็นสำคัญ กระทรวงสาธารณสุข ใช้มาตรการการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการกักตัวในชุมชน (Community Isolation) เพื่อให้ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย (สีเขียว) เข้าระบบการรักษาเร็ว แจกเครื่องวัดไข้ วัดออกซิเจนในเลือด…

Home / โควิด-19 / ความคืบหน้า แนวทางการแยกกักตัวที่บ้าน / ในชุมชน

ประเด็นสำคัญ

  • กระทรวงสาธารณสุข ใช้มาตรการการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการกักตัวในชุมชน (Community Isolation)
  • เพื่อให้ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย (สีเขียว) เข้าระบบการรักษาเร็ว
  • แจกเครื่องวัดไข้ วัดออกซิเจนในเลือด ส่งอาหารครบ 3 มื้อ
  • มีแพทย์พยาบาลติดตามอาการใกล้ชิดด้วยระบบเทเลเมดิซีน วันละ 2 ครั้ง ส่งต่อโรงพยาบาลเมื่ออาการเปลี่ยนแปลง

วานนี้ (10 กรกฎาคม 2564) ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วยนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงข่าวประเด็น “การแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการกักตัวในชุมชน (Community Isolation) นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวว่า

สถานการณ์การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยรายใหม่

ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้นำ 2 มาตรการ คือ การแยกกักตัวที่บ้าน และการกักตัวในชุมชนมาใช้ เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิด 19 มีจำนวนมากขึ้น อัตราการครองเตียงของกทม.และปริมณฑลเพิ่มจากเดือนที่ผ่านมาถึง 10,000 ราย จาก

  • วันที่ 9 มิถุนายน 2564 มีผู้ป่วย 19,629 ราย
  • วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 เพิ่มเป็น 30,631 ราย

โดยเป็นผู้ป่วยที่มี

  • อาการไม่มาก (สีเขียว) ร้อยละ 76
  • อาการปานกลาง (สีเหลือง) ร้อยละ 20
  • อาการหนัก (สีแดง) ร้อยละ 4

ซึ่งผู้ป่วยสีแดงเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 714 ราย เป็น 1,206 ราย ทำให้บุคลากรแบกรับภาระงานหนักมาก และการเพิ่มบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทำได้ยาก

แนวทางการแยกกักที่บ้าน-ชุมชน

สำหรับการแยกกักตัวที่บ้านและแยกกักตัวในชุมชนนั้น ซึ่งได้กำหนดเกณฑ์ของผู้ติดเชื้อ ต้องสมัครใจและสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้, สถานที่เหมาะสม ใช้จุดแข็งของไทยคือ บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) โดย 

  • Home Isolation บ้านต้องมีห้องนอนแยก
  • Community Isolation ใช้วัด หรือโรงเรียน

ซึ่งมีช่องทางสื่อสารผ่านเทเลคอนเฟอเรนซ์ วิดีโอคอล ติดตามอาการทุกวัน โดยแพทย์ พยาบาล วันละ 2 ครั้ง และมีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน รวมทั้งต้องลงทะเบียนกับสถานพยาบาล (มีแผนขยายไปยังชุมชนอบอุ่น และสถานพยาบาลใกล้บ้าน)

โดยผู้ติดเชื้อจะได้รับเครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และแนะนำวิธีทดสอบง่าย ๆ กรณีสงสัยว่าปอดมีปัญหาหรือไม่ โดยให้วัดออกซิเจนในเลือดก่อนออกกำลังกายลุกนั่ง 1 นาที และวัดซ้ำหลังทำ หากปริมาณออกซิเจนลดลงมากกว่า 3 % จะรับมารักษาที่โรงพยาบาล และมีระบบรีเฟอร์ผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน

นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวต่อว่า การแยกกักตัวที่บ้านคือการ admit ผู้ป่วยรายใหม่ไว้ดูแลที่บ้านก่อน หากอาการแย่ลงจะรับมาดูแลรักษาที่โรงพยาบาล และเป็นการบริหารจัดการเตียงให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จากที่ผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาล 14 วัน จะนำผู้ป่วยที่รักษา 7 – 10 วันแล้วอาการดีขึ้น ออกไปแยกกักตัวที่บ้าน จะช่วยให้มีเตียงเพิ่มอีกประมาณ 40 – 50%  เพื่อรับผู้ป่วยใหม่

สำหรับการแยกกักตัวในชุมชน กรมการแพทย์ กทม. โรงเรียนแพทย์ ได้เตรียมสถานที่แล้ว ส่วนใหญ่ใช้สถานที่โล่งๆ เช่น ศาลาวัด หรือหอประชุมโรงเรียน นอกจากนี้ยังสามารถใช้แคมป์คนงานหรือหมู่บ้านที่มีที่แยกตัวให้กับผู้ติดเชื้อ และไม่ควรเกิน 200 คนเพื่อลดแออัด และสิ่งแวดล้อมถูกสุขลักษณะ แยกน้ำเสียหรือขยะออกจากชุมชนได้ โดยรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ที่ไม่ต้องใช้ออกซิเจน ซึ่งขอขอบคุณภาคประชาสังคม และเพจต่าง ๆ ที่ช่วยประสานรวบรวมจำนวนผู้ป่วยมาขึ้นทะเบียน สนับสนุนอาหารให้ผู้ป่วย

“ขณะนี้ มีผู้ขึ้นทะเบียน Home Isolation ที่รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน และรพ.นพรัตน์ราชธานี 200 กว่าราย และขึ้นทะเบียน Community Isolation อีกกว่า 200 ราย และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมแล้วประมาณ 400 – 600 ราย เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว ซึ่งสปสช.สนับสนุนงบประมาณค่าอาหารให้กับผู้ป่วยทุกราย สำหรับผู้ติดเชื้อที่ต้องการร่วมโครงการ ติดต่อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1330” 

การตรวจหาเชื้อ

จากจำนวนประชาชนต้องการตรวจหาเชื้อและพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น สัปดาห์ที่ผ่านมา กรมสบส. จึงประชุมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยอนุญาตให้ใช้การตรวจ Rapid Antigen Test เพื่อให้ตรวจหาเชื้อได้เร็วขึ้น ตามสถานการณ์เปลี่ยนไป และหากตรวจพบผู้ติดเชื้อ มีระบบการดูแล 2 แนวทาง คือ

  • แนวทางที่ 1 หากโรงพยาบาลเอกชน มีเตียง และประเมินผู้ติดเชื้อเบื้องต้น
    กรณีพบว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ควรรักษาในโรงพยาบาล เช่น อาการหนัก อายุมาก เป็นกลุ่มเสี่ยง ให้หาเตียงรองรับ
  • แนวทางที่ 2 หากผู้ติดเชื้อแข็งแรงดี ไม่มีอาการ
    สถานพยาบาลเอกชนสามารถดำเนินมาตรการ “แยกกักตัวที่บ้าน” ได้ทันที โดยได้รับความยินยอมและสมัครใจจากผู้ติดเชื้อ

ในขณะนี้ ได้จัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสถานพยาบาลอื่นซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล เฉพาะผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ณ ที่พำนักของผู้ป่วย (Home Isolation) เป็นการชั่วคราว และทำหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายการแยกกักตัวที่บ้าน เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับการดูแลติดตามอาการอย่างรวดเร็ว ดูแลค่าใช้จ่าย ไม่ให้เป็นภาระ โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ต่อไป

ขอความร่วมมือสถานพยาบาล

ขอความร่วมมือสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ได้ตรวจหาผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ขอให้ใช้วิธีการแยกกักตัวที่บ้านหรือ Home Isolation ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการตรวจหาเชื้อ เข้ารับการรักษา และทราบวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นในครอบครัวและชุมชน