Q : รู้มาก่อนไหม? ว่าสกาลาจะปิด
A : จริง ๆ อย่าเรียกว่า รู้ดีกว่า คือเราคิดว่า มันต้องมีสักวันล่ะ ที่สกาลาต้องปิด ซึ่งเราเข้าใจนะ แต่มันก็อดใจหายไม่ได้ และไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนี้ …ซึ่งเรามีความหลังกับที่นี่เยอะมากเหมือนกันนะ เดตแรกกับแฟนคนแรกก็ที่นี่นะ คือแม้ว่าคนจะเลิกกันไปแล้ว แยกทางไปแล้ว ที่ความทรงจำมันเคยอยู่ตรงนี้ไง
แต่วันพรุ่งนี้มันจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้วไง
บทสนทนาที่ได้ทักทายไปถามเพื่อนคนหนึ่งที่รู้จักกัน และเป็นหนึ่งในคนที่ไปเก็บความทรงจำครั้งสุดท้ายที่โรงหนังสกาล่า ได้เล่าให้ฟัง ซึ่งความหลังหลายอย่างพรั่งพรูออกมา ตามประสาอดีตย่านสยามสแควร์
3 โรงหนังแห่งย่าน
โรงหนังสกาลา หรือ ชื่อเต็มๆ คือ ลา สกาลา ตั้งอยู่สยามสแควร์ ซอย 1 เป็นโรงหนังหนึ่งในสามโรง ที่อยู่ในย่านนั้น ซึ่งอีก 2 โรงคือ โรงภาพยนตร์ลิโด และ โรงภาพยนตร์สยาม โดย
- 15 ธันวาคม 2509 โรงภาพยนตร์สยาม เปิดรอบปฐมฤกษ์ กับเรื่อง “รถถังประจัญบาน”
- 27 มิถุนายน 2511 โรงภาพยนตร์ลิโด เปิดรอบปฐมฤกษ์ กับเรื่อง “ศึกเซบาสเตียน”
- 31 ธันวาคม 2512 โรงภาพยนตร์สกาลา เปิดรอบปฐมฤกษ์ กับเรื่อง “สองสิงห์ตะลุยศึก”
โดยทั้งสามโรงเป็นโรงภาพยนตร์เรียกได้ว่า “เลิศสะแมนแตน” มากที่สุดในยุคนั้น
โรงละคร – โรงหนัง – ศูนย์การค้า
ในยุคสมัยของความบันเทิงในอดีตที่เกิดขึ้นกำเนิดจากโรงละคร หรือ Theatre ที่เปิดการแสดงสร้างความบันเทิง โดยผ่านการแสดงสดๆ ไม่ว่าจะเป็นร้อง เต้น เล่นละคร เมื่อยุคสมัยทีเ่ปลี่ยนไป โรงละคร จึงเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคของโรงหนังแบบสแตนอโลน หรือ โรงภาพยนตร์โรงเดี่ยว ซึ่งในช่วงต้นที่ได้รับความนิยมจะเป็นในพท.แถวย่านเยาวราช เจริญกรุง วังบูรพา ไม่ว่าจะเป็น แกรนด์, โอเดียน, ศาลาเฉลิมไทย, เฉลิมเขตร์, เฉลิมบุรี ฯลฯ
รู้หรือไม่
- โรงหนังชื่อดังแห่งหนึ่งในย่านปากคลองตลาดคือ “โรงหนังเอ็มไพร์”
- ซึ่งโรงหนังเอ็มไพร์ได้รับความนิยมอย่างมากแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
- ห้องแถวด้านหน้าจะมีร้านขายราดหน้า ซึ่งคนที่มาดูหนังส่วนใหญ่มักมานั่งกินราดหน้าร้านนี้ เพื่อรอหนังฉาย
- และนั่นเองกลายเป็นที่มาของ “ราดหน้าเอ็มไพร์” ที่เรารู้จักกัน
โรงหนังสยาม-สกาลา-ลิโด จึงเป็นอีกหนึ่งโซนที่ต่อเนื่องกันมา ของการมีโรงหนังแบบสแตนอโลน ที่เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในสีสันของยุค 70 – 90 เลยทีเดียว
หลังจากนั้นในช่วงปลายยุค 90 กระแสของเทคโนโลยี VDO เทปเริ่มมาแรงขึ้นเรื่อย ทำให้ “ร้านเช่าวิดีโอ” ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากความสะดวกที่สามารถเปิดดูได้เอง ดูได้หลายรอบ ทำให้โรงหนังเริ่มเบาลง ร่วมกับกระแสการมาของโรงหนังในยุคใหม่ ที่ควบรวมเข้าไปอยู่ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่
รู้หรือไม่
- เท็กซัส สุกี้ ที่ใครหลายคนในวันนี้ยังแวะเวียนไปกินอยู่
- แรกเริ่มก็เป็นหนึ่งในห้องแถวที่ขายสุกี้ อยู่โรงหนังโรงหนังเท็กซัส ในย่านเยาวราชเช่นกัน
จากวันนั้นถึงวันสุดท้ายปิดตำนาน 3 โรงหนังแห่งสยามสแควร์
จากวันแรกจนถึงวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 63 ที่ผ่านมากว่า 50 ปี ที่โรงหนังทั้ง 3 ในย่านนั้นสร้างความสุข ความบันเทิง ร่วมไปกับความทรงจำหลายๆ อย่างของใครหลายๆ คน ทำให้หลายคนไปร่วมรำลึกความหลังกันเป็นจำนวนไม่น้อย แม้ว่าภาพจะแปลกตาไปบ้างที่เรากลับเห็นคนวัยรุ่นกว่าที่คิดเข้าไปเก็บภาพถ่ายกัน
ซึ่งทางสกาลาเอง ก็ส่งท้ายโดยการ “เปิดไฟทุกดวงให้ทุกได้เห็น ก่อนที่จะมืดลงไปพร้อมกับตำนาน “ราชาโรงหนังแห่งสยามประเทศ”
แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับ
“ฉันจะคิดถึงเธอ สกาลา”
รู้หรือไม่
- ลอดช่องสิงคโปร์ที่เป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน ก็ไม่ได้มาจากสิงคโปร์แต่อย่างใด
- แต่มาจากลอดช่องที่ขายอยู่หน้าโรงหนังสิงคโปร์
- ภายหลังโรงหนังสิงคโปร์เปลี่ยนชื่อเป็นโรงหนังเฉลิมบุรี แต่ลอดช่องสิงคโปร์ก็ไม่ได้เปลี่ยนชื่อตามแต่อย่างใด
รวมภาพในช่วงค่ำคืนสุดท้ายของ “สกาลา”
ภาพโดย : ธนโชติ ธนวิกรานต์, วิชาญ โพธิ