พิษณุโลก วัดราชบูรณะ หลวงพ่อทองดำ

วัดราชบูรณะ จังหวัดพิษณุโลก

พระยาลิไททรงสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาแล้ว ทองยังเหลืออยู่จึงได้หล่อพระเหลือขึ้น และทรงทอดพระเนตรเห็นว่าวัดนี้ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงได้บูรณะขึ้นมาอีกครั้งจึงได้นามว่า “ราชบูรณะ” ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน วันที่ 27 กันยายน 2479

Home / พิษณุโลก / วัดราชบูรณะ จังหวัดพิษณุโลก

วัดราชบูรณะ ปัจจุบันตั้งอยู่ใจกลางเมืองพิษณุโลก ติดฝั่งแม่น้ำน่าน เยื้องกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) ตรงข้ามกับวัดนางพญา โดยมีถนนมิตรภาพตัดผ่ากลาง ทำให้วัดอยู่คนละฝั่งถนน ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างว่า เริ่มสร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยใด วัดแห่งนี้เดิมมีอาณาเขตติดต่อกับวัดนางพญา ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2502 กรมทางหลวงได้ตัดถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก คือ ถนมิตรภาพ ถนนสายนี้ได้ตัดผ่านเข้าไปในเนื้อที่วัดนางพญาและวัดราชบูรณะ ถนนมิตรภาพได้ตัดเฉียดพระอุโบสถไปอย่างใกล้ชิด จนต้องรื้อย้ายใบเสมามุมพระอุโบสถด้านตะวันออกเฉียงเหนือ

ประวัติวัดบนไม้แผ่นป้ายของวัด มีความว่า “วัดราชบูรณะเดิมไม่ปรากฏชื่อ ก่อสร้างมานาน 1,000 ปีเศษ ก่อนที่พระยาลิไทได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ ดังนั้นวัดนี้จึงได้ชื่อว่า “วัดราชบูรณะ” รวมความยาวนานถึงปัจจุบันประมาณ 1,000 ปีเศษ พระยาลิไททรงสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาแล้ว ทองยังเหลืออยู่จึงได้หล่อพระเหลือขึ้น และทรงทอดพระเนตรเห็นว่าวัดนี้ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงได้บูรณะขึ้นมาอีกครั้งจึงได้นามว่า “ราชบูรณะ” ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน วันที่ 27 กันยายน 2479

หลวงพ่อทองดำ

พระวิหารหลวงวัดราชบูรณะ

เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง 18 เมตร ยาว 23 เมตร สูง 13 เมตรหันไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้ามีทางขึ้นลง 3 ทาง ประตู 3 คู่ หน้าต่างด้านละ 7 คู่ พื้นวิหารยกสูงจากพื้นดินประมาณ 1.75 เมตร พระวิหารมีสถาปัตยกรรมทรงโรง 9 ห้อง ศิลปะสมัยสุโขทัยด้านหน้ามีระเบียงเสาหานร่วมเรียงในรองรับ 4 เสา มีบัวหัวเสาเป็นบัว 2 ชั้นมีกลีบยาว ส่วนหลังคาสร้างแบบเดียวกันกับพระอุโบสถ ต่างกันที่ใช้พญานาคเศียรเดียว พระอุโบสถเป็นพญานาคสามเศียร บานประตูหน้า 3 คู่ หลัง 2 คู่ แกะสลักลวดลายดอกบัวตูมเรียงต่อกัน เสาในพระวิหารมี 2 แถว แถวละ 7 ต้น เป็นเสาศิลาแลงก่ออิฐถือปูนทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร ทาสีแดงฉลุสีทองที่โคนเสาและปลายเสาเพื่อรองรับตัวขื่อที่บัวหัวเสาเป็นบัวกลีบซ้อนกัน 5 ชั้น ที่คานบนมีลายดอกไม้เขียนพื้นไม้สีดำลายฉลุทอง ภายในพระวิหารหลวง ประดิษฐาน หลวงพ่อทองดำ พระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 เมตร สูง 5.50 เมตร ศิลปะสมัยสุโขทัยที่ชาวบ้านเรียกกันว่าหลวงพ่อทองดำ ที่ศักดิ์สิทธิ์ มีคนกราบไว้บูชาขอพรขอโชคขอลาภล้วนประสิทธิผล พระพุทธลักษณะคล้ายพระพุทธชินราชมาก ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี 2 ชั้น สูง 1.50 เมตร ชั้นล่างสูง 1 เมตร เป็นรูปเท้าสิงห์ ชั้นบนสูง 0.5 เมตร เป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ

มีขนาด กว้าง10 เมตร ยาว 18 เมตร สูง 10 เมตร ลักษณะก่ออิฐถือปูน ผนังหนาราว 50 เซนติเมตร มีบันไดขึ้นทางด้านหน้าสองแห่งและด้านหลังสองแห่ง โครงสร้างหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา พระอุโบสถวัดราชบูรณะเป็นการวางรูปโบสถ์แบ่งออกเป็นหกห้อง ประตูหน้าหลังด้านละสองประตูหลัง หลังคามุขหน้าหลังปีกนกคลุมสองชั้น ทรงนี้เรียกว่า แบบทรงโรง ลักษณะเป็นแบบเก่าสมัยอยุธยาและถูกซ่อมแซมมาหลายยุคสมัย ภายในมีเสาห่านร่วมในเรียงอยู่สองแถว เพื่อรับตัวขื่อ หน้าจั่วเป็นแบบเก่าคือแบบภควัม เช่นเดียวกับจั่ววิหารพระพุทธชินราช แปดเหลี่ยมเพื่อรองรับรวยระกาที่หนาบันโดยเฉพาะ ลำยองจึงไม่ทำวงแบบ นาคสะดุ้ง หางหงส์และนาคปรก ทำเป็นนาคเบือน ลักษณะความแหลมของแนวหลังคาเป็นแบบเก่าที่ใช้กับรวยระกา ตามแบบป้านลมสมัยสุโขทัยได้อย่างดีบานประตูสลักรูปดอกเป็นสี่กกลีบแบบดอกลำดวน ภายในอุโบสถเป็นภาพเขียน เรื่องรามเกียรติ์และตอนที่ดีที่สุดคือ ตอน ทศกัณฐ์สั่งเมืองที่ผนังด้านทิศเหนือ ส่วนด้านล่างเป็นเรื่อง กามกรีฑา ซึ่งไม่พบที่ใดมาก่อน น่าจะเขียนขึ้นในรัชกาลที่ 4 บางตอนถูกน้ำฝนเสียหาย และพระประธานก็นับว่างดงามมาก ปัจจุบันทางวัดได้มีการบูรณะเปลี่ยนกระเบื้องหลังคาและทาสีขาวใหม่ทั้งหลัง ภายในพระอุโบสถ ประดิษฐานพระประธาน พระพุทธรูปปางมารวิชัย(หลวงพ่อทองสุข) ลงรักปิดทองหน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 3 เมตร ศิลปะสมัยสุโขทัยประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีก่ออิฐถือปูนชั้นล่างเป็นฐานเท้าสิงห์ 2 ชั้น ชั้นบนสุดเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย ปิดทองประดับกระจกสี

เจดีย์หลวง

เจดีย์หลวง

ตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ รูปทรงแปดเหลี่ยมยาวด้านละ 9 เมตร สูง 24 เมตร โดยเรียงซ้อนเป็นชั้นขึ้นไป12 ชั้น จนถึงชั้นระเบียงรอบ มีเจดีย์ทรงกลม หรือเจดีย์ทรงลังกาตั้งอยู่บนลาน ระเบียงรอบหรือลานประทักษิณเป็นเจดีย์ประธาน เจดีย์เล็กคล้ายองค์เจดีย์ประธานตั้งอยู่ด้านล่างรอบองค์เจดีย์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ เดิมยอดเจดีย์หักชำรุดสูญหายไป เหลือแต่ฐานบัลลังก์เหนือคอระฆัง พระเจดีย์วัดราชบูรณะองค์นี้เป็นพระเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และสูงที่สุดในจังหวัดพิษณุโลก ในปี พ.ศ. 2533 กรมศิลปากร ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์รากฐานและก่อยอดพระเจดีย์วัดราชบูรณะ ให้มีความมั่นคงแข็งแรงและสมบูรณ์ดี

หอไตรเสากลม

เป็นหอไตรคอนกรีตกว้าง 6 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 11 เมตร มีเสาปูนกลมเรียง 4 แถว แถวละ 4 ต้น สูงต้นละ 4 เมตร มีบัวหัวเสากลับ 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นหอระฆัง ชั้นบนเป็นหอไตรเก็บรักษาพระคัมภีร์ต่างๆ หอไตรทำด้วยไม้สับแบบฝาประกบมีประตูทางเข้า 1 ประตู ทางด้านทิศใต้มีระเบียงกว้าง 1 เมตร เดินได้โดยรอบ มีหน้าบัน 4 ทิศ เป็นปูนปั้น มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ทุกมุมทั้ง 8 มุม ทิศเหนือและทิศใต้มีลายปูนปั้นรูปพระยาครุฑจับพระยานาค ยอดหอไตร มียอดเรียวแหลมคล้ายยอดของพระเจดีย์ที่มียอดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง รอบหอระฆังมีกำแพงแก้วล้อมรอบยาว 10 เมตร มีซุ้มประตูกำแพงแก้วด้านทิศใต้ หอไตรนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่หากพิจารณาตามรูปแบบสถาปัตยกรรมแล้วน่าจะสันนิษฐานได้ว่า สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย

วัดราชบูรณะ จังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่ที่ : 16/169 ถ.มิตรภาพ ต.ในเมือง อ.เมือง เทศบาลนครพิษณุโลก 65000