ประวัติ วัดละหาร
วัดละหาร เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2321 เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ได้ยกกองทัพไปเวียงจันทน์ ได้นำครอบครัวชาวเวียงจันทน์เข้ามากรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวชาวเวียงจันทน์ที่เป็นชาวพวนมาอยู่ที่บางบัวทอง จึงเกิดชุมชนชาวลาวพวนเป็นชุมชนใหญ่ ในเวลาต่อมา ชาวชุมชนได้ร่วมใจกันสร้างวัดขึ้น โดยระยะแรกเรียกว่า วัดลาว ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พบหลักฐานซึ่งเขียนชื่อวัดว่า วัดราชบัญหาร บ้างสะกดว่า วัดราชบันหาร หรือ วัดราชบรรหาร จนปัจจุบันได้เรียกเพี้ยนมาเป็น “วัดละหาร” วัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2470 วัดได้เปิดสอบพระปริยัติธรรมแผนกธรรมตั้งแต่ พ.ศ. 2489 และแผนกบาลีเริ่มเปิดตั้งแต่ พ.ศ. 2496 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์พุทธศาสนาวันอาทิตย์ ศูนย์สงเคราะห์พุทธมามกะประจำอำเภอบางบัวทอง และศูนย์อบรมประชาชนประจำตำบล
บทสวดบูชา พระสิวลี
(ตั้งนะโม 3 จบ)
(สวดพระคาถาบทนี้เป็นประจำ อธิษฐานจิต ขอเงินทองโชคลาภ พระสิวลีเป็นพระอรหันต์ผู้บันดาลโชคลาภ)
สีวะลี จะ มะหาเถโร เทวะตานะระปูชิโต โสระโห ปัจจะยาทิมหิ อะหัง วันทามิ ตัง สะทา
สีวะลี จะ มะหาเถโร ยักขะเทวาภิปูโต โสระโห ปัจจะยาทิมหิ อะหัง วันทามิ ตัง
สะทา สีวะลีเถระคุณัง เอตัง โสตถิลาภัง ภะวันตุ เม.
ภายในวัด ประดิษฐาน
- พระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์พระประธานในอุโบสถ
- พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ในพระวิหาร
- พระสิวลี
- พระแม่ธรณี
- ท้าวเวสสุวรรณ ในบริเวณเดียวกัน มีท้าวกุเวร และ พระพรหมประดิษฐานเคียงกัน
- เจ้าแม่กวนอิม ฯลฯ
พระประธานในพระอุโบสถและวิหารถือเป็นปูชนียวัตถุสำคัญของ “วัดละหาร” พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งศิลปะสมัยสุโขทัย ส่วนพระประธานในวิหารเป็นปางป่าเลไลยก์ชาวบ้านซึ่งเดิมเป็นเชลยศึกชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยสงครามในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์นับถือเป็นพระคู่วัดพระประธานในวิหารแห่งนี้ได้รับการจัดสร้างพร้อมกับวัดมีอายุ 200 ปีเศษ สันนิษฐานกันว่าวัดนี้สร้างในสมัยกลางรัชกาลที่ 1 ถึงต้นรัชกาลที่ 2
อุโบสถเป็นอาคารทรงโรง คอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 5 ห้อง หลังคาลด 2 ชั้น ตับหลังคามี 3 ตับ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเกล็ดเต่าสีส้มออกแดง ด้านหน้าและด้านหลังเป็นมุขคลุมชานชาลาทั้ง 2 ด้าน ที่หน้ามุขทั้งด้านหน้าและด้านหลังทำชายคายื่นออกมาเป็นพาไล รับกับชายคาของตับหลังคาตับสุดท้ายของหลังคามุขด้านข้างทั้ง 2 ข้าง ด้านหน้าจึงไม่มีรวงผึ้งและสาหร่าย คงมีคันทวยรับชายคาของหลังคาตับสุดท้ายที่หน้ามุขทั้ง 2 ด้าน หน้าบันเป็นรูปเทพนมครึ่งองค์อยู่ในกรอบรูปพุ่มข้าวบิณฑ์ ล้อมด้วยลายกระหนกก้านขดออกช่อหัวโต ใช้กระจกสีฟ้าเป็นการลงพื้น หน้าบันคอสองเป็นลายกระหนกเปลวก้านขด หน้าบันด้านหลังมีรูปแบบเหมือนหน้าบันด้านหน้า ด้านนอกมีกำแพงแก้วเป็นกำแพงสูง ด้านบนทำเป็นลูกกรงโปร่ง มีประตูกำแพงแก้ว ด้านบนทำเป็นลูกกรงโปร่ง มีประตูกำแพงแก้ว 4 ประตู ประตูด้านหน้าทางทิศตะวันออก 1 ประตู ประตูด้านหลังทางทิศตะวันตก 1 ประตู ประตูด้านข้างทางทิศเหนือและทิศใต้ด้านละ 1 ประตู ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งศิลปะสมัยสุโขทัย
วิหารหลวงพ่อป่าเลไลยก์หลังเดิม พระอธิการต่วนและศิษย์ นำโดยขุนพิทักษ์ปทุมมาศ (สิงห์โต สามวัง) นายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทองคนแรกและชาวบางบัวทอง ได้ร่วมกันสร้างวิหารและหล่อพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ขึ้น เป็นอาคารจตุรมุข หลังคาไม่มีชั้นลด ต่อปีกนกออกเป็นพาไลทั้ง 4 ด้าน เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน เครื่องบนเป็นปูน ช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์เป็นปูนประดับกระจกสีทอง หน้าบันปูนทั้ง 4 ด้าน ปั้นเป็นรูปเทพนมอยู่ในกรอบรูปพัดยอดแหลมออกลายก้านขดล้อมเทพนม หลังคามุงกระเบื้องเกล็ดเต่าเป็นพื้นสีน้ำเงิน มีสีส้มเป็นกรอบและสีเหลือง เป็นริ้วในระหว่างกรอบ ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์
วิหารหลวงพ่อป่าเลไลยก์หลังใหม่เป็นอาคารจตุรมุข 2 ชั้น ยอดเป็นเจดีย์ทรงกลม โดยก่อเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีมุขยื่นจากผนังทั้ง 4 ด้าน เหนืออาคารสี่เหลี่ยมมีพระเจดีย์ทรงระฆังเป็นยอดของวิหารจตุรมุขด้วย มีกำแพงแก้วล้อมพระเจดีย์ทั้ง 4 ด้าน มุมกำแพงแก้วมีพานพุ่มขนาดใหญ่ตั้งบูชาพระเจดีย์
ท้าวเวสสุวรรณ
ศาลาการเปรียญเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น หลังคาทรงไทยมี 3 มุข ชั้นล่างเป็นที่บำเพ็ญกุศลและรักษาศีลปฏิบัติธรรมของอุบาสกอุบาสิกา ชั้นบนอีก 3 ชั้นเป็นส่วนที่ใช้ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ของวัดและเป็นอาคารเรียนพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณรและสำนักเรียนพระปริยัติธรรมวัดละหาร
หากมีโอกาสไปเที่ยววัดละหาร อย่าลืมแวะไปพักผ่อนหย่อนใจให้จิตใจสงบนิ่งริมคลองบางบัวทองภายในบริเวณวัดได้เช่นกันค่ะ
ที่ตั้ง : 17 หมู่ 2 ซอยเทศบาล 4 ถนนบางกรวย-ไทรน้อย บางบัวทอง นนทบุรี
Google Map : https://goo.gl/maps/4ULYRwj15WRopBTi6
เปิดเข้าชมทุกวันเวลา : 08.00-16.30 น.
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เลขเด็ดฝันเห็นพระสิวลี ทำนายฝันพระสิวลี แม่นๆ
กราบท้าวเวสสุวรรณ ปล่อยปลา ชมพระอาทิตย์ตก ณ วัดแก้วฟ้าจุฬามณี