หากมาถึงจังหวัดน่าน อีกหนึ่งจุดที่เราขอแนะนำสายมูมากราบ พระเจ้าหลวง วัดพระธาตุช้างค้ำ โดยพระอารามหลวงแห่งนี้มีอายุมากกว่า 600 ปี ในสมัยพญาภูเข่ง หรือ ที่ชาวบ้านเรียกกันอีกชื่อว่า เจ้าปู่แข็ง
วัดพระธาตุช้างค้ำ
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร มีชื่อเดิมที่เรียกกันว่า “วัดหลวง” หรือ “วัดหลวงกลางเวียง” สร้างขึ้นในสมัยเจ้าปู่แข็ง พ.ศ. 1949 เป็นวัดหลวงในเขตน่านนคร มีอายุมากกว่า 600 ปี ถือเป็นวัดหลวง ที่เจ้าผู้ครองนครใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนา และพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ตามศิลาจารึกหลักที่ 74
พระเจ้าหลวง วัดพระธาตุช้างค้ำ
พระวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นวิหารขนาดใหญ่ภายในโอ่โถง รูปทรงสร้างตามสถาปัตยกรรมไทยล้านนา ด้านหน้ามีสิงห์คู่ ยืนตรงเชิงบันได ด้านละตัว มีทางเข้า 3 ทาง ประตูกลาง ทำเป็นประตูใหญ่ และประตูเล็ก อยู่ด้านซ้ายและด้านขวา มีทางขึ้นเป็นประตูเล็ก ๆ ตรงข้ามพระประธาน ด้านทิศตะวันออกและตะวันตกอีก 2 ข้าง ทำหลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มุขลดด้านหน้า และด้านหลัง หน้าบัน ตีด้วยแผ่นกระดานเรียงต่อกัน แล้วประดับที่ขอบเสาด้านหน้าทุกต้นตามแบบสถาปัตยกรรมล้านนาไทย ภายในมีเสาปูนกลมขนาด 2 คนโอบ จำหลัก ลวดลายปูนปั้นนูนสูงเหนือระดับพื้นวิหาร 1.50 เมตร เป็นลวดลายกนกระย้าย้อย เหมือนลวดลายของเสาในวิหารวัดภูมินทร์
พระเจ้าทันใจ
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ พงศาวดารเมืองน่าน บันทึกไว้ว่า เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 และองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ ทรงสร้างขึ้นหลังจากเดินทางไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อพุทธศักราช 2331 พระพุทธรูปพระเจ้าทันใจ หมายถึง พระพุทธรูปที่สร้างสำเร็จโดยรวดเร็วทันใจปรารถนา ภายในวันเดียวถือว่ามีอานิสงส์มาก โดยมีความเชื่อว่า ต้องเริ่มสร้างตั้งแต่รุ่งเช้า เมื่อพระอาทิตย์แรกขึ้น ทั้งการปั้นหล่อตกแต่งให้ได้พุทธลักษณะที่งดงาม จนถึงพระอาทิตย์ตกดินเป็นเวลาสิ้นสุดการสร้าง นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดว่า ผู้ร่วมสร้างพระเจ้าทันใจ ต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ด้วยกาย วาจา ใจ พระพุทธรูปพระเจ้าทันใจสร้างอานิสงส์ความศรัทธาอย่างแรงกล้านี้ จึงนับถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ดลบันดาลแก่ผู้กราบไหว้บูชาสัมฤทธิ์ผลตามที่ปรารถนา
คาถาบูชาพระเจ้าทันใจ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
อิมัง เอกาหะปะกะตัง สัพพะกามะ ทะหัง
สัมมานิตัง พุทธะพิมหัง สิระสา อะหัง
วันทามิ มะมะ สัพพะสังกัปปา สมัชฌันตุ
พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำวรวิหาร
เจดีย์ทรงลังกา (ระฆังคว่ำ) เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน โดยเจดีย์ได้รับอิทธิพลศิลปะสมัยสุโขทัยอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 พระธาตุเจดีย์ สร้างด้วยอิฐถือปูน มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลื่ยมจัตุรัส ซ้อนกัน 3 ชั้น กว้างด้านละ 9 วา ฐานจากชั้นแรกสูงถึงชั้นสอง มีรูปช้างค้ำอยู่ในลักษณะ เหมือนฐานรองรับไว้ด้านละ 6 เชือก รวมทั้งหมด 24 เชือก ช้างแต่ละตัว โผล่ส่วนหัว ลอยออกมาครึ่งตัว ขาหน้าทั้งคู่ ยื่นพ้นออกมาจากเหลี่ยมฐาน เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ (ฐานบัว) ซ้อนกัน 3 ชัน และเป็นองค์ระฆังแบบลังกา ต่อจากองค์ระฆัง ทำเป็นฐานเขียง รองรับมาลัยลูกแก้ว ลดหลั่นกันไป เป็นส่วนยอด ปัจจุบันพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ ได้รับการบูรณะซ่อมแซม และหุ้นด้วยแผ่นทองเหลืองทั้งองค์
คำไหว้พระธาตุช้างค้ำ
อิมัสมิ๋ง นันทะปุระภิรัมเม ปะติฏฐิตัง
ชินะปะระมะธาตุยา ฐะปะนัง หัตถิถัมภะ
วะระธาตุเจติยัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา
หอไตรวัดช้างค้ำวรวิหาร
หอไตรวัดช้างค้ำวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ลักษณะโครงสร้างเหมือนวิหารและโบสถ์ มีสิงห์ยืนอยู่ตรงเชิงบันได งดงามด้วยลายปูนปั้น หลังคาซ้อน 3 ชั้น เป็นห้องเก็บพระธรรมและพระไตรปิฎก ดังปรากฏในพระประวัติของพระองค์ว่า “ร.ศ. 127 พ.ศ. 2453 ก่อสร้างหอพระไตรปิฎก ในบริเวณวัดช้างค้ำ 1 หลัง 8 ห้อง ยาว 16 วา 1 ศอก กว้าง 5 วา 2 ศอก สูงตั้งแต่ดินถึงอกไก่ 13 วา หลังคาทำเป็นชั้น ๆ ก่ออิฐทาสี เครื่องบนไม้สัก มุงกระเบื้องไม้สัก ทำอย่างแน่นหนา มีเพดานจั่ว 2 ข้าง และเพดาน ทำด้วยลวดลายต่าง ๆ พระสมุห์อิน เจ้าอาวาสวัดหัวข่วง กับจีนอิ๋วจีนซาง เป็นสล่าสิ้นเงิน 12,558 บาท”
พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี
ปัจจุบันได้ปรับปรุงหอไตรเป็นวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี พระพุทธรูปสุโขทัยปางลีลา เป็นทองคำ 65 % สูง 145 เซนติเมตร ยอดพระโมฬีทำเสริมเมื่อ พ.ศ. 2442 หนัก 69 บาท เจ้างั่วฬารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 14 แห่งราชวงค์ภูคา เป็นผู้สร้าง เมื่อวันพุธ เดือน 6 เหนือ พ.ศ. 1969 เป็นศิลปะสุโขทัยอันหาชมได้ยากยิ่ง
ภาพโดย อ.ณัฐ
ที่ตั้ง : ถนน สุริยพงษ์ ตำบล ในเวียง อำเภอเมืองน่าน น่าน 55000
Google map : https://maps.app.goo.gl/NptSrJkjzTUS6TTi9
เปิด – เปิด : 06.00 – 18.00 น.
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง