วัดพระประโทณเจดีย์
วัดพระประโทณเจดีย์ หนึ่งในพระอารามหลวง วัดสวยนครปฐม ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยทวารวดีและเป็นสมบัติโบราณสถานแห่งชาติอันทรงคุณค่า สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานสำคัญมาแต่ครั้งโบราณกาล จากการขุดค้นทางโบราณคดีในบริเวณใกล้เคียงองค์พระประโทณเจดีย์ ได้พบรูปกวางหมอบศิลาฝังอยู่ในแผ่นดิน ทางด้านทิศเหนือของวัด อยู่ห่างประมาณ 5 เส้นเศษ ลึกประมาณเมตรเศษ รวมอยู่กับเจดีย์เก่า และบริเวณนั้นมีอิฐโบราณอยู่เป็นจำนวนมาก กวางหมอบศิลานั้นเป็นศิลปะแบบทวารวดี ที่ทำตามแบบในอินเดีย
จุดเด่นของวัดคือ พระประโทณเจดีย์ เป็นเจดีย์สมัยทวารวดี มีรูปแบบเดิมเป็นทรงโอคว่ำ มีการขุดพบวัตถุโบราณจำนวนมากที่วัดแห่งนี้ เช่น พระพุทธรูป เศียรพระพุทธรูปปูนปั้น พระดินเผา รวมทั้งโลหะสำริดรูปพญาครุฑเหยียบนาค ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงใช้เป็นเครื่องหมายราชการของพระองค์
พระประโทณเจดีย์ ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม เป็นสถูปขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในตำแหน่งเกือบกึ่งกลางเมืองโบราณนครปฐม สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี และมีการก่อสร้างเพิ่มเติมในสมัยอยุธยาอีกครั้ง โบราณสถานแห่งนี้สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ดำเนินการขุดศึกษาทางโบราณคดีครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2545 และขุดศึกษาอีกครั้งเมื่อพ.ศ. 2548 – 2550 จากการขุดศึกษาพบว่าสถูปหลังนี้ใช้อิฐเป็นวัสดุก่อสร้างหลักและมีการใช้ศิลาแลงประกอบในบางส่วน โครงสร้างสถูปประกอบด้วยฐานประทักษิณผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จซ้อนชั้นด้านบนเป็นส่วนเรือนธาตุผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกเก็จ ประดับจรนำซุ้มโดยรอบ สันนิษฐานว่าแต่เดิมเคยประดับประติมากรรมปูนปั้น
ถัดขึ้นไปเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ที่สร้างซ้อนทับอีกครั้งในสมัยอยุธยา ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวสถูปนี้พังทลายกลายเป็นเนินดินแล้ว การก่อสร้างปรางค์จึงมีการขุดปรับเนินดินแล้วก่ออิฐต่อเนื่องขึ้นมาจากชั้นอิฐสมัยทวารวดี แล้วก่อกำแพงอิฐล้อมรอบฐานสถูปชั้นล่าง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โบราณสถานแห่งนี้ได้รับการบูรณะอีกครั้ง โดยมีการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบ บูรณะองค์ปรางค์สมัยอยุธยา และลานประทักษิณ
การก่อสร้างพระประโทณเจดีย์ยังไม่มีหลักฐานเอกสารที่ยืนยันแน่ชัด มีเพียงตำนานเล่าสืบต่อกันมาคือ ตำนานพระประโทณเจดีย์ ฉบับนายอ่อง ไวกำลัง และตำนานพระปฐมเจดีย์และพระประโทณเจดีย์ ฉบับพระยามหาอรรคนิกรและฉบับนายทอง กล่าวความไว้คล้ายกัน คือ บริเวณที่ตั้งพระประโทณเจดีย์นั้น แต่เดิมเป็นตำบลบ้านพราหมณ์ เรียกว่า “บ้านโทณพราหมณ์” ซึ่งได้นำ “ทะนานทอง” ที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ในเรือนหิน เมื่อ พ.ศ. 1133 ท้าวศรีสิทธิชัยพรหมเทพ มาสร้างเมืองนครไชยศรีขึ้นเป็นเมืองใหญ่ ได้ขอทะนานทองจากพราหมณ์เพื่อจะนำไปแลกเปลี่ยนกับพระบรมสารีริกธาตุจากเจ้าเมืองลังกา แต่ได้รับการปฏิเสธทำให้รู้สึกขัดเคืองพระทัย จึงยกรี้พลออกไปตั้งเมืองใหม่ชื่อว่า “ปาวัน” และให้สร้างพระปฐมไสยาสน์องค์หนึ่งใหญ่ยาวมหึมา หลังจากนั้น จึงยกรี้พลมาแย่งทะนานทองไปให้เจ้าเมืองลังกาเพื่อบรรจุไว้ในสุวรรณเจดีย์ ต่อมาเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ 1199 พรรษา พระเจ้ากากะวรรณดิศราชแห่งเมืองละโว้ ได้มาก่อพระเจดีย์ล้อมเรือนศิลาที่เคยบรรจุทะนานทองไว้แล้วให้นามว่า “พระประโทณเจดีย์”
ปัจจุบัน พระประโทณเจดีย์ มีสถานะเป็นโบราณสถานที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโดย กรมศิลปากร ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3686 วันที่ 8 มีนาคม 2478
ปโทณเจติย
ภาษาบาลี ” ปโทณเจติย” หมายความถึง อนุสรณ์แห่งกะลามะพร้าว (กะลามะพร้าวที่ใช้เป็นทะนานตวงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุเพื่อแจกจ่ายให้กับกษัตริย์ทั้งแปดเมือง)
ตำนานพระยากง พระยาพาน
นอกจากนี้แล้วยังมีนิทานพื้นบ้านเรื่องพระยากงและพระยาพาน เล่าสืบต่อกันมาจนติดปากชาวบ้านว่า พระยาพาน เป็นผู้สร้างพระปฐมเจดีย์เพื่อไถ่บาปที่ฆ่าพระยากงผู้เป็นบิดาและสร้างพระประโทณเจดีย์เพื่อไถ่บาปที่ฆ่ายายหอมผู้มีพระคุณที่มาของเรื่องพระยากงและพระยาพานนี้ ปรากฎอยู่ในตำนานพระปฐมเจดีย์ฉบับพระยาราชสัมภารากรและฉบับตาปะขาวรอด แลในพงศาวดารเหนือแต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด เรื่องมีอยู่ว่า
ท้าวสิกราชครองเมืองศรีวิไชย คือ เมืองนครไชยศรี มีบุตรชื่อพระยากง ต่อมาพระยากงได้ครองเมืองศรีวิไชยต่อจากบิดา และพระมเหสีได้ประสูติพระกุมาร โหรทำนายว่า พระกุมารเป็นผู้มีบุญญาธิการมากแต่จะกระทำปิตุฆาต พระยากงจึงมีรับสั่งให้นำพระกุมารไปทิ้งเสีย ทหารได้นำพระกุมารไปทิ้งไว้ที่ชายป่าไผ่ริมบ้านยายพรหม เมื่อยายพรหมมาพบจึงเก็บไปเลี้ยงไว้โดยไม่รู้ว่าเป็นบุตรของผู้ใด แต่ยายพรหมเป็นคนมีลูกหลานมาก จึงยกพระกุมารให้กับยายหอมไปเลี้ยงไว้แทน ต่อมาเจ้าเมืองราชบุรีได้รับพระกุมารไว้เป็นบุตรบุญธรรม เมื่อพระกุมารเติบใหญ่ได้ทราบว่าเมืองราชบุรีเป็นเมืองขึ้นของเมืองศรีวิไชย ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการทุกปี จึงคิดแข็งเมือง ไม่ยอมส่งเครื่องราชบรรณาการ พระยากงจึงได้ยกทัพมาปราบ และกระทำการยุทธหัตถีกับพระกุมาร พระยากงเสียทีถูกพระกุมารฟันด้วยของ้าวคอขาด สิ้นพระชนม์บนหลังช้าง พระกุมารจึงยกรี้พลเข้าเมืองศรีวิไชย และประสงค์จะได้พระมเหสีของพระยากงเป็นภรรยา แต่เทพยดาได้แสดงนิมิต จนในที่สุดก็ทราบว่าเป็นแม่ลูกกัน จึงโกรธยายหอมที่ไม่ยอมเล่าความจริงให้ตนทราบ ทำให้ต้องทำปิตุฆาต จึงไปที่บ้านยายหอมและจับยายหอมฆ่าเสีย คนทั่วไปจึงเรียกพระกุมารว่า พระยาพาล ด้วยเหตุที่ฆ่าพ่อและยายหอมผู้มีพระคุณ เมื่อพระยาพานได้ครองเมืองนครไชยศรีรู้สึกสำนึกในบาปที่ตนได้กระทำไปจึงคิดไถ่บาปโดยจัดประชุมพระอรหันต์เพื่อหารือและได้รับคำแนะนำว่าให้สร้างพระมหาเจดีย์ใหญ่สูงชั่วนกเขาเหิร จึงสั่งการให้ก่อรากพระเจดีย์สวมแท่นที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาบรรทม นำฆ้องใหญ่ซึ่งตีสามโหม่งดังกระหึ่มไปจนถึงค่ำ มาหนุนไว้ใต้พระแท่นบรรทม เจดีย์ที่สร้างเป็นทรงล้อมฟาง สูงชั่วนกเขาเหิรไม่มีลานประทักษิณ ภายในบรรจุพระทันตธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้วองค์หนึ่งแล้วให้มีการฉลองเจ็ดวันเจ็ดคืน ต่อมาพระเจ้าหงษาผู้เป็นใหญ่ในเมืองมอญ ต้องการได้ฆ้องใหญ่ จึงยกรี้พลมาขุดเอาฆ้อง แต่เมื่อขุดฆ้องก็ยิ่งจมลงไปทำให้เจดีย์ทรุดพัง จึงบูรณะเจดีย์ขึ้นใหม่โดยก่อเป็นองค์ปรางค์ตั้งบนหลังองค์ระฆังของเจดีย์เดิมที่พังลงมีลานประทักษิณรายรอบก็ยังไม่สูงเท่าเก่าจึงสร้างพระเจดีย์รอบวิหารกับทั้งอุโบสถเพิ่มเติมลงอีก ความสำคัญในตำนาน มีเพียงเท่านี้
ศาลยายหอม
อนุสาวรีย์ยายหอมอุ้มพระยาพาน สร้างในราว พ.ศ. 2470 ปั้นโดยนายช่างนามเดิม ประดิษฐานทางด้านทิศตะวันออกของพระประโทณเจดีย์ ต่อมาได้รับการบูรณะและย้ายมาตั้งใหม่ให้ห่างจากเดิมประมาณ 20 เมตร เรียกที่นี่ว่า “ศาลยายหอม” ศาลยายหอมจะมีผู้คนที่ศรัทธานำตุ๊กตารูปปั้นเป็ดมาถวายเป็นจำนวนมาก สาเหตุที่นิยมนำเป็ดมาเป็นของถวายไม่มีอะไรซับซ้อนมากกว่าในตำนาน ที่ว่า “ยายหอมมีอาชีพเลี้ยงเป็ด” ทั้งนี้ก็เพื่อความศรัทธาและนำมาแก้บนสำหรับผู้ที่มาขอกับศาลยายหอม
อย่างไรก็ตามศาลยายหอมยังมีอีกที่หนึ่งคือ ที่ “เนินพระ” ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมืองนครปฐม ที่ห่างจากกันประมาณ 8 – 9 กิโลเมตร ชาวบ้านเรียกว่า ” วัดโคกยายหอม” ที่เชื่อกันว่า ยายหอมผู้เลี้ยงพระยาพานตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้ตามตำนาน และที่แห่งนี้ก็เป็นแหล่งโบราณสถานสำคัญอีกแห่งหนึ่ง
ที่มาของธงกระบี่ธุชครุฑพ่าห์น้อย
“เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินวัดพระประโทณเจดีย์ พระยาสุนทรบุรี (อี้ กรรณสูต) ได้นำโบราณวัตถุทำด้วยสำริด 2 ชิ้น มาถวายเป็นครุฑลายปรุ รูปครุฑปราบมาร 1 แผ่น และรูปกระบี่ปราบมาร 1 แผ่น เป็นของที่พระอธิการกลั่น ฉายาเปสโล ซึ่งต่อมาภายหลัง คือ พระครูสมถกิตติคุณ (กลั่น เทสนาบุญ) ขุดได้ในลานวัดพระประโทณเจดีย์ เจ้านายหลายพระองค์ พิจารณาแล้วเห็นว่าควรนำมาติดด้ามธงกระบี่ธุชครุฑพ่าห์ แต่ที่ด้ามธงนั้นมีรูปติดอยู่แล้วจึงเห็นชอบให้สร้างธงขนาดย่อมขึ้นสำหรับใช้แห่บนหลังม้าเรียกว่า ธงกระบี่ธุชครุฑพ่าห์น้อยโดยใช้ครุฑสำริดคู่นี้ และสมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงลงพระคาถาติดที่ด้ามธงต่อมาจึงใช้เป็นธงในการนำขบวนเสด็จ “
ลักษณะสำคัญ 6 ข้อของวัดพระประโทณเจดีย์
- เป็นวัดที่มีความสวยงาม
- เป็นวัดที่มีการวางผังอย่างดีเยี่ยม สิ่งปลูกสร้างภายในวัดเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นทรงไทยทั้งหมด
- เป็นวัดที่ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณรมาโดยตลอด
- เป็นวัดที่ริเริ่มโครงการอาหารข้าวก้นบาตร เพื่อสงเคราะห์เด็กนักเรียน
- เป็นวัดที่ประดิษฐานองค์พระประโทณเจดีย์ ซึ่งเป็นศิลปะสมัยทวารวดี
- เป็นวัดที่ยึดการปกครองโดยยึดหลักพระธรรมวินัยเป็นหลัก
เป็นอีกหนึ่งวัดสำคัญทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรม ที่เราชาวไทยควรจะมาสักการะพระ กราบพระเจดีย์ ทำจิตให้สงบได้ที่นี่ วัดพระประโทณเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
ภาพโดย นนท์
ที่อยู่ :120 ถนนหลังพระ ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม 73000
Google map : https://maps.app.goo.gl/5fdgnwXpUdRTPtey7
เวลาเปิด – ปิด : 08.00 น. – 17.00 น.
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ไหว้พระ ขอพรใกล้กรุงหลังจากนี้มีชีวิตแต่ความเฮง ที่ วัดใหม่สุปดิษฐาราม
ทุ่งทานตะวัน ณ วัดสี่แยกเจริญพร เหลืองอร่าม รับแสงตะวัน
ไหว้ขอพร หลวงพ่อแดงแสงกายสิทธิ์ พระนอนอายุ 392 ปี ณ วัดศรีมหาโพธิ์