จันทบุรี รอยพระพุทธบาท เขาคิชฌกูฏ

มูให้ครบ! เปิดพิกัด จุดไหว้สักการะและขอพรบน เขาคิชฌกูฏ

สำหรับงานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาท เขาคิชฌกูฎ พระบาทพลวง จันทบุรี กำหนดเปิดเขาคิชฌกูฏจันทบุรี 2566 ในวันที่ 22 ม.ค. – 22 มี.ค. 2566 ซึ่งในช่วงระหว่างนี้สายมูจงเตรียมตัวให้พร้อม วอร์มแขนขา ฟิตร่างกายให้แข็งแรง แล้วปักวันขึ้นเขาคิชฌกูฏกันเลย

Home / จันทบุรี / มูให้ครบ! เปิดพิกัด จุดไหว้สักการะและขอพรบน เขาคิชฌกูฏ

“เขาคิชฌกูฏ” ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ต.พลวงกิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เป็นที่ประดิษฐานของรอยพระพุทธบาทที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย ( สูงกว่า 1,050 เมตร จากระดับน้ำทะเล ) มีลักษณะเป็นรอยบนหินแผ่นใหญ่ มีรอยลึกประมาณ 2 เมตรเศษ กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ค้นพบที่ยอดเขาพระบาทห่างจากที่ทำการอุทยานเขาคิชฌกูฏราว 4 กิโลเมตร เป็นจุดแสวงบุญที่เป็นที่สุดสำหรับชาวพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย อันเชื่อกันว่าจะได้บุญสูงสุด เปรียบเหมือนได้เข้าเฝ้าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยใกล้ชิด และเป็นการฝึกจิตใจให้มีความอดทนไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

เขาคิชฌกูฏ

ที่มาของชื่อ เขาคิชฌกูฎ

ในตำนานศาสนาพุทธกล่าวไว้ว่า เขาคิชฌกูฎอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธเป็นยอดเขาที่มีแนวเขาล้อมโดยรอบ และเคยเป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าในอดีต เป็นดำริของพระครูธรรมสรคุณซึ่งเป็นกรรมการและเป็นหลักในการพัฒนาพระบาทพลวงตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ได้เสนอใช้ชื่อ พระบาทเขาคิชฌกูฎ (พลวง) เหตุผลเพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธที่พุทธศาสนาเจริญกว่าเมืองไหนๆ แม้กระทั่งประเทศอินเดีย

โดยสภาพภูมิประเทศคล้ายคลึงกับทางเขาคิชฌกูฎในอินเดียและบนยอดเขามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันได้แก่ รอยพระพุทธบาท และหินลูกบาตร ที่ตั้งข้างรอยพระพุทธบาท อยู่ในลักษณะคล้ายลอยอยู่ริมลานพระพุทธบาทฝั่งตรงข้ามหินลูกบาตรมีรอยพระหัตถ์ไปรับหินก้อนนี้ และในหินก้อนนี้ ตรงข้ามกันรอยพระหัตถ์ มีรูปรอยเท้าใหญ่ (รอยเท้าพญามาร) ใต้พระบาทมีถ้ำตาฤาษี

จึงน่าจะใช้ชื่อนี้เป็นที่ระลึกถึงองค์พระศาสดา ในทุกๆ ปีจะมีพิธีเปิดและพิธีปิดการขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ พระครูธรรมสรคุณ ยังได้สอนว่า

“เท้าของพระพุทธองค์ แม้ประดิษฐานอยู่แห่งหนตำบลใดก็ตาม ถ้าเรามีความเชื่อมั่น เคารพกราบไหว้ด้วยใจ อธิษฐานแล้ว ย่อมเกิดผลสำเร็จแก่ผู้นั้นทุกคนและเป็นสิริมงคลแก่ผู้นั้นตลอดไป”

ซึ่งผู้อยากจะขึ้นไปสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขานั้นจะต้องมีจิตศรัทธาที่แรงกล้า เนื่องจากต้องเดินเท้าขึ้นสู่ยอดเขาอีกราว 3 กม. ท่ามกลางผู้คนที่มีศรัทธาเดียวกันมากมายที่เบียดเสียด เพราะการจะขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาท เขาคิชฌกูฏ จะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี หรือช่วงช่วงประมาณปลายเดือนมกราคม – เดือนมีนาคม

สำหรับงานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฎ พระบาทพลวง จันทบุรี กำหนดเปิดเขาคิชฌกูฏจันทบุรี 2566 ในวันที่ 22 ม.ค. – 22 มี.ค. 2566 ซึ่งในช่วงระหว่างนี้สายมูจงเตรียมตัวให้พร้อม วอร์มแขนขา ฟิตร่างกายให้แข็งแรง แล้วปักวันขึ้นเขาคิชฌกูฏกันเลย

การเดินทางเริ่มต้นด้วยรถกระบะ 4 WD ที่วัดพลวงไปตามถนนลูกรังที่ลาดชันและคดเคี้ยว เป็นระยะทาง 8 กิโลเมตร จากนั้นต้องเดินขึ้นเขาไปอีกประมาณ 1.2 กิโลเมตร ระหว่างทางจะมีจุดแวะพักให้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทิวทัศน์บนยอดเขาคิชฌกูฏ หรือเขาพระบาทนี้เป็นปรากฎการณ์ทางธรณีวิทยาที่นำมาผูกกับตำนานทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ ศิลาเจดีย์ รอยพระพุทธบาทหลวง หินรูปบาตรคว่ำ ถ้ำฤาษี หินที่มีรูปร่างคล้ายเต่าและช้างขนาดยักษ์

หากต้องการจะเดินต่อไปจนถึงเขตผ้าแดง ซึ่งเป็นเขตสิ้นสุดที่สามารถเดินไปได้จะต้องเดินขึ้นเขาต่อ จากลานพระบาทไปอีก 800 เมตร บนยอดเขาพระบาท ซึ่งมีอากาศเย็นสบายนั้น สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเทือกเขาสระบาป เขาสุกิม เกาะนมสาว และตัวเมืองจันทบุรีได้อย่างชัดเจน เฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีนถึงช่วงวันมาฆบูชาของทุกปีจะมีประชาชนขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาททั้งกลางวันและกลางคืนเป็นจำนวนมาก (สำหรับผู้สูงอายุมีไม้เท้าให้เช่า ราคาอันละ 5 บาท และบริการแคร่แบกหามในราคาเที่ยวละ 400 บาท)

เขาคิชฌกูฏ

วันบวงสรวง : วันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2566
วันปิดป่า – เปิดงาน : วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2566
วันเปิดป่า – ปิดงาน : วันพุธที่ 22 มีนาคม 2566

จุดไหว้สักการะและขอพรบนเขาคิชฌกูฏ
ก่อนอื่น ข้อห้ามสำหรับเขาคิชฌกูฏ คือ ไม่ควรบนบานศาลกล่าว ขอพรได้เพียงข้อเดียว ต้องตั้งจิตอธิษฐานขอพรเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง กับทุกจุดที่ไปสักการะไหว้

จุดไหว้สักการะก่อนขึ้นเขาคิชฌกูฏ

  • เริ่มต้นที่การไหว้พระบาทจำลอง ณ ต้นศรีมหาโพธิ์
  • ไหว้พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ 9 องค์ พร้อมปิดทองและขอพรขอบารมี พระพุทธรูปองค์เดียวให้ครบ 9 ครั้ง
  • จุดเทียนธูปหน้าห้องกระจก ตั้งสัจจะขอพรต่อหน้าสังขาร พระครูพุทธบทบริบาร (หลวงพ่อนัง)
  • ประพรมน้ำพุทธมนต์ เพื่อสิริมงคลก่อนขึ้นเขาคิชฌกูฏ
  • ตั้งสัจจะขอพร ณ พระอภิบาลมงคลพุทธไสยาสน์

จุดไหว้ขอพร ณ จุดเปลี่ยนรถ

  • -ไหว้เจดีย์กลางเขา เจ้าแม่กวนอิม, พระพรหม, พระพิฆเนศวร, แม่โพสพ, บาตรแห่งมหาโชคลาภ
  • ไหว้พระสิวลี พระแม่ธรณีบีบมวยผมพระนอน, พระมาลัย
  • สักการะท้าวเวสสุวรรณ, ท้าวพิเภก, พระพิฆเนศวร, แม่ธรณีบีบมวยผม และเคาะระฆัง 2 ข้างทาง
  • สิ่งมหัศจรรย์ รอยเสือใหญ่, รอยกวางทอง, พระศิวะ, พระนาคปรก

จุดไหว้ขอพร ณ จุดพัก

-จุดพักขึ้นประตูสวรรค์ ไหว้พระป่าเรไร, ถวายสังฆทาน, ไหว้พระพรหม แล้วเคาะระฆังขึ้นสวรรค์

จุดไหว้ขอพรอื่น ๆ

  • ไหว้หมอชีวกโกมารภัทร, ฆ้อง, ธรรมจักร, นมัสการรอยพระบาท, เจ้าแม่กวนอิม, ท้าวมหาพรหมวิหาร (กองอำนวยการ)
  • ลานอินทร์ จุดไหว้ขอพรในเรื่องเนื้อคู่, ที่อยู่อาศัย, ไหว้เทพเทวดาบนป่าเขา
  • สักการะบูชาพระบรมสารีริกธาตุ, พระปิยมหาราช, สมเด็จพระพุฒาจารย์โต (พรหมรังษี)
  • นมัสการพระสิวลี, พระพิฆเนศวร
  • ปิดทอง พร้อมขอพรจากลูกแก้วสารพัดนึก
  • สักการะบาตรพระอานนท์ (บาตรใหญ่) ณ ลานบายศรี
  • สักการะบาตรพระสิวลี บาตรแห่งความร่ำรวย และมั่งคั่ง
  • ไหว้แม่นางตะเคียน ให้โชคลาภแก่นักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญ
  • ไหว้พระและสวดมนต์บูชาพระพรหม และหินบาตรพระโมคคัลลานะ ณ ลานพรหมบรรทม
  • บาตรพระสารีบุตร และผ้าแดง ให้เขียนชื่อ นามสกุล บ้านเลขที่บนผ้าแดง แล้วอธิษฐานจิตตามปรารถนา

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ โทร. 0 3945 2074
ภาพและข้อมูลจาก thai.tourismthailand.org และ TATChanthaburi

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

วิธีจองคิวขึ้นเขาคิชฌกูฎ 2566 ผ่านแอป KCKQue

ปีชง 2566 ปีเถาะ ลดปะทะด้วยวิธีแก้ชงบอกหมดไม่อั้น

วิธีตั้งและไหว้ ศาลตายาย ฉบับครบสูตรถูกหลักฮวงจุ้ย