วัดหัวลำโพง เดิมชื่อ “วัดวัวลำพอง” ตั้งชื่อตามชุมชน หมู่บ้านวัวลำพอง ด้วยแต่เดิมย่านนี้ประกอบอาชีพด้วยการเลี้ยงวัว สันนิษฐานว่าสร้างวัดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยจากรูปทรงของอุโบสถหลังเก่า และเจดีย์เดิมของวัด ต่อมาในปี พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสร้างทางรถไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และพระราชทานนามแด่สถานีกรุงเทพฯ ว่า สถานีหัวลำโพง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากวัดวัวลำพอง ประมาณ 2 กิโลเมตร และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินที่วัดวัวลำพองนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ พระราชทานนามว่า วัดหัวลำโพง และทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เจ้าอาวาสคือ พระอาจารย์สิงห์ ซึ่งเป็นพระวิปัสสนาธุระที่มีชื่อเสียงองค์หนึ่งในครั้งนั้น
และวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ยกฐานะวัดขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
วัดหัวลำโพง แหล่งรวมจุดนัดมู
ที่นี่มีชื่อเสียงด้านพิธีแก้ชง ขอพรท้าวเวสสุวรรณ ขอพรโชคลาภจากไอ้ไข่ ซึ่งขลัง – ไม่ขลังดูได้จากของแก้บนที่เรียงรายอยู่เต็มไปหมด แต่อีกจุดสำคัญที่ขอแนะนำว่าควรแวะคือ การไปกราบขอพร พระพุทธมงคล พระพุทธรูปปางมารวิชัยประดิษฐานเป็นองค์พระประธานบนอุโบสถวัดหัวลำโพง ซึ่งศาสนิกชนมักจะมาขอพรให้ช่วยขจัดศัตรูด้านการงานและการเงิน ช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัย
อุโบสถ
พระพุทธมงคล
ภายในอุโบสถ
หลวงปู่ทวด
พระประธานภายในวิหาร
ความสวยงามภายในวิหารวัดหัวลำโพง
ท้าวเวสสุวรรณ
พระราหู
เซียนแปะโรงสี
เทพเจ้าไท่ส่วยเอี้ย
นอกจากนี้ ยังมีจุดมูอีกมากมายในวัดทั้งพระพุทธรูปปางเปิดโลก พระพิฆเนศ พระพรหม พระแม่คงคา พระแม่อุมา ไฉ่ซิ่งเอี้ย เทพเจ้าไท่ส่วยเอี้ย พระรูปรัชกาลที่ 5 เซียนแปะโรงสี ฯลฯ และหากมาแล้วอย่าลืมลอยเทียนประจำวันเกิดที่จุดประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตกันนะคะ
ภาพโดย แพรว
ที่อยู่ : 728 ถ.พระรามที่ 4 แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
Google map : https://goo.gl/maps/fXL5bwJrryeX6R6q9
เวลาทำการ : 06.00 น. – 18.00 น.
หมายเหตุ : ภายในวัดมีบริการที่จอดรถ
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
วิธีบนไอ้ไข่ วัดเจดีย์ กุมารเทพด้านโชคลาภขอยังไงให้สัมฤทธิ์ผล
เลขเด็ดฝันเห็นท้าวเวสสุวรรณ ทำนายฝันท้าวเวสสุวรรณ แม่นๆ
จัดทริปมู วัดสุทัศนเทพวราราม ตำนานความศักดิ์สิทธิ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์