รัชกาลที่ 9 วัดพระรามเก้า วัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษก

วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก วัดพอเพียง ในรัชกาลที่ 9

วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นวัดพระอารามหลวงประจำรัชกาล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

Home / กรุงเทพมหานครฯ / วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก วัดพอเพียง ในรัชกาลที่ 9

วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีพระราชดำริให้สร้างอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง แต่เต็มไปด้วยศรัทธาของศาสนิกชน

วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก 

วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก

วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เป็นวัดพระอารามหลวงประจำรัชกาล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ซึ่งได้มีพระราชดำรัสให้จัดสร้างขึ้นให้เป็นวัดขนาดเล็กที่เรียบง่าย มุ่งเน้นประโยชน์ใช้สอยสูงสุด เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในลักษณะ 3 ประสาน คือ บ้าน วัด โรงเรียน หรือที่เรียกว่า ‘บวร’

อุโบสถ
อุโบสถ

ถึงจะเป็นวัดขนาดเล็กแต่ก็เป็นศูนย์รวมของจิตใจอันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนิกชน 

วัดพอเพียง

วัดนี้สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2538 และได้รับการยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีเป็นการพิเศษในปี พ.ศ. 2542

บึงพระรามเก้า

โดยก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริให้แก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ด้วยวิธีเติมอากาศที่บึงพระราม 9 ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และปรับปรุงสภาพพื้นที่เพื่อพัฒนาชุมชนบริเวณบึงพระราม 9 ดำเนินการจัดตั้งให้เป็นวัดในนามมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อใช้เป็นพุทธสถานในการประกอบกิจของสงฆ์ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของราษฎร ในการประกอบกิจกรรมร่วมกัน

ศาลา
วัดพระรามเก้า

พระอุโบสถ

พระอุโบสถของวัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษกนับเป็นพระอุโบสถต้นแบบ สำหรับวัดที่ต้องการสร้างอย่างพอเพียง โดยโครงสร้างพระอุโบสถเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงกระเบื้อง ทำด้วยแผ่นเหล็กสีขาว องค์ประกอบเครื่องบนหลังคาเป็นปูนปั้นลายดอกพุดตาน ประดับหน้าบันด้วยลายปูนปั้นปิดทอง เฉพาะที่ตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9  ช่อฟ้าใบระกาเป็นลวดลายปูนปั้น ไม่ปิดทองประดับกระจกผนัง และเสาก่ออิฐฉาบปูนเรียบทาสีขาว  บานประตูหน้าต่างใช้กรอบอะลูมิเนียม ลูกฟักเป็นกระจก เพดานพระอุโบสถเป็นเพดานไม้แบบเรียบ ฝังไฟเป็นระยะ โคมไฟในแนวกลาง เดิมออกแบบเป็นโคมหวด หรืออัจกลับแบบเรียบ แต่ได้มีผู้มีจิตศรัทธาถวายโคมระย้าเป็นพุทธบูชา ประดับไว้แทนรวม 4 ช่อ

พระประธาน

โดยพื้นพระอุโบสถเดิมออกแบบเพียงปูนขัดมัน แต่มีผู้ศรัทธา บริจาคทุนทรัพย์ให้ปูหินแกรนิต จึงทำให้พื้นปูตลอดถึงพื้นโถงและบันไดหน้าหลัง พื้นกำแพงแก้วปูหินทรายสีเหลือง และสีแดงน้ำตาล ใบเสมาอันเป็นที่หมายลูกนิมิต ทำเป็น 2 แบบ ที่มุมทั้ง 4 เป็นหลักเสมาหินทรายสีเขียวจำหลักเป็นรูปเสา หัวเสาประดับลายดอกบัว  ติดไว้ที่กึ่งกลางบันไดอีก 2 จุด ที่กึ่งกลางด้านซ้ายและขวาของพระอุโบสถ ติดแผ่นเสมาหินแกรนิตแบบเดียวกันไว้บนแท่นสูงจากระดับพื้นกำแพงแก้วเล็กน้อย กำแพงแก้วก่ออิฐฉาบปูนเป็นช่วงสั้นๆ เฉพาะ 2 ข้างบันไดทั้ง 4 ด้าน และที่มุมทั้ง 4 โดยปลูกดอกไม้เป็นแนวเชื่อม

พระประธานในพระอุโบสถได้รับการออกแบบจาก เรืออากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น สถาปนิกของกรมศิลปากร โดยได้ออกแบบทั้งสิ้น 7 แบบ ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกัน จากนั้นมูลนิธิชัยพัฒนานำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อทอดพระเนตร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเลือกแบบ พระพุทธรูปปางมารวิชัย (ปางชนะมาร) โดยได้ทรงแก้ไขแบบอีกเล็กน้อยด้วยพระองค์เอง และคณะอนุกรรมการการก่อสร้างฯ ได้มอบให้อาจารย์นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน คณบดีคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ปั้น

พระพุทธเมตตา

วัดพระรามเก้ากาญจนาภิเษกนับเป็นวัดต้นแบบแห่งความพอเพียงที่แท้จริง ด้วยการสร้างทุกอย่างอยู่บนความเรียบง่าย เพื่อให้ศาสนิกชนได้เข้าถึงธรรมมะ ได้อย่างทั่วถึง

ที่ตั้ง : 999 ซอย 19 ถนน พระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310
Google map : https://goo.gl/maps/vsPQ6RNTxJp9LdSQ8
เวลาทำการ : 08.00 น. – 17.00 น.

เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

9 จุดมู วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระอารามหลวง 2 รัชกาล

ไหว้ ขอชนะคดี ความ เมื่อต้องขึ้นโรงขึ้นศาลควรมูอย่างไร

ลักษณะโหงวเฮ้งหน้าผากที่ดี จะวาสนาดีหรือไม่?  ให้สังเกตตรงนี้!