ดาราศาสตร์ ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

รอชมความงดงาม ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ 21 ต.ค. นี้ เผยทริคถ่ายภาพยังไงให้ออกมาสวย

เรื่องน่ารู้ ก่อนรับชมความงามของ ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ 21 ต.ค. นี้ พร้อมเผย 7 ทริคถ่ายภาพ ฝนดาวตกโอไรออนิดส์

Home / TRAVEL / รอชมความงดงาม ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ 21 ต.ค. นี้ เผยทริคถ่ายภาพยังไงให้ออกมาสวย

ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ จะมาให้ทุกคนได้รับชมความงดงามกันในคืนวันที่ 21 ต.ค. 2563 ถือว่าเป็นฝนดาวตกในช่วงปลายฝนต้นหนาว ข้อดีคือท้องฟ้ามักจะมีทัศนวิสัยที่ใสเคลียร์ สามารถถ่ายภาพได้ตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า

เรื่องน่ารู้ ก่อนรับชมความงามของ ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ 21 ต.ค. นี้

  1. ปรากฏการณ์ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ (Orionid Meteors shower) หรือฝนดาวตกนายพราน เป็นฝนดาวตกประจำเดือนตุลาคม จะเกิดขึ้นสูงสุดในช่วงวันที่ 20 – 22 ตุลาคม ของทุกปี ในปีนี้ตรงกับวันที่ 21 ต.ค. 2563 มีอัตราการตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 20 ดวงต่อชั่วโมง
  2. ปีนี้พิเศษตรงที่จะไม่มีแสงดวงจันทร์มารบกวนจึงเหมาะแก่การถ่ายภาพตลอดทั้งคืนจนถึงรุ่งเช้า โดยดาวตกโอไรออนิดส์มีศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณแขนของกลุ่มดาวนายพรานทางทิศตะวันออก ใกล้กับดาวเบเทลจูส (Betelgeuse) ซึ่งกลุ่มดาวนี้จะเริ่มขึ้นทางทิศตะวันออกในเวลาประมาณ 23.00 น. ดังนั้นเราจะสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าตั้งแต่เวลาประมาณ 23.00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าของอีกวัน
  3. ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในกลุ่มของเศษชิ้นส่วนของดาวหางฮัลเลย์ (Halley) ที่หลงเหลือจากการโคจรเข้ามาในระบบสุริยะเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ในช่วงวันที่ 2 ตุลาคม – 7 พฤศจิกายนของทุกปี เศษชิ้นส่วนดังกล่าวเป็นก้อนอุกกาบาตขนาดเล็กจำนวนมาก เมื่อถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดให้เข้ามาและเสียดสีกับชั้นบรรยากาศจึงเกิดการลุกไหม้ เราจึงเห็นดาวตกพุ่งออกมาจากบริเวณกลุ่มดาวนายพราน

ทริคเด็ดถ่ายรูป ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ เตรียมอุปกรณ์อะไรบ้าง-วิธีการถ่ายภาพ

NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้นำคำแนะนำของ อ.แจ็ค ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ มาบอกถึงเคล็ดลับการถ่ายภาพ #ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ใครอยากได้ภาพสวย ๆ ลองนำเคล็ดลับเทคนิคของ อ. แจ็ค ไปใช้กันได้ค่ะ

  1. เลือกสถานที่ที่ห่างจากแสงในเมืองให้มากที่สุด โดยมองหากลุ่มดาวนายพรานทางทิศตะวันออก จะมีดาว 3 ดวงอยู่ตรงกลางหรือเข็มขัดนายพราน
  2. ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการถ่ายภาพฝนดาวตก ตั้งแต่หลังเวลา 23.00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า
  3. โอกาสได้ภาพฝนดาวตกแบบไฟล์บอล เส้นยาวๆ จะอยู่ในช่วงหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงที่ชีกโลกจะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ และช่วงหลังเที่ยงคืนไปจนถึงรุ่งเช้า ดาวตกจะวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก จะทำให้มีโอกาสได้ภาพดาวตกแบบหางยาวๆ หัวใหญ่ๆ
  4. อุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายกก็สำคัญมาก ให้เลือกใช้กล้องดิจิตอล เลนส์มุมกว้าง และสายลั่นชัตเตอร์ ใช้ความไวแสง (ISO) ได้สูงๆ จะเก็บแสงฝนดาวตกได้ดี
  5. ใช้เลนส์มุมกว้าง และไวแสง (F กว้าง) ทำให้ถ่ายติดแสงวาบของฝนดาวตกได้ง่าย เลนส์มุมกว้างเพิ่มโอกาสการได้ภาพฝนดาวตกที่ติดมาในภาพได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้เลนส์คิตธรรมดาก็ยังสามารถนำมาใช้ในการถ่ายภาพได้เช่นกัน
  6. อุปกรณ์ตามดาวและขาตั้งกล้องที่มั่นคง เพื่อใช้ในการถ่ายภาพเพื่อติดตามวัตถุท้องฟ้า ซึ่งในการถ่ายภาพฝนดาวตกช่วยให้เราสามารถนำภาพฝนดาวตกที่มีศูนย์กลางการกระจายตัวเดียวกัน กลุ่มดาวเดียวกันมาใช่ในการ Stack ภาพในภายหลังได้ ซึ่งหากเราไม่ถ่ายภาพแบบตามดาว ภาพฝนดาวกที่ได้แต่ละภาพก็จะเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ตามการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้าทำให้ยากแก่การนำภาพมา Stack ในภายหลัง

7 ทริคถ่ายภาพ ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ให้ได้ภาพสวยๆ

  1. เวลาที่ใช้ในการถ่ายภาพควรเริ่มตั้งแต่ 30 วินาที หรือมากกว่า ใช้ค่ารูรับแสงกว้างๆ เช่น f/1.4 f/2.8 เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการเก็บแสงวาบหรือไฟล์บอลของฝนดาวตก
  2. ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ที่สูงๆ เพื่อให้กล้องไวแสงมากที่สุดขณะเกิดดาวตก เช่น ISO 3200 หรือมากกว่า
  3. ตั้งโหมดการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (Continuous Mode) เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่องตลอดช่วงการเกิดฝนดาวตก
  4. ปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่องไม่เว้นช่วงในการถ่าย Dark Frame
  5. ตั้งกล้องบนขาตามดาว และหันหน้ากล้องไปยังบริเวณจุดกระจายตัวของฝนดาวตก บริเวณแขนกลุ่มดาวนายพราน
  6. ถ่ายแบบต่อเนื่อง อย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยใช้ค่าการเปิดหน้ากล้องประมาณ 30 วินาที ต่อ 1 ภาพ หรือมากกว่า
  7. นำภาพฝนดาวตกมารวมกัน จากหลายร้อยภาพก็เลือกเฉพาะที่ติดดาวตกมารวมกันใน Photoshop หรือ Star Stack ก็จะทำให้เห็นการกระจายตัวของฝนดาวตกได้อย่างชัดเจน

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก : คุณศุภฤกษ์ คฤหานนท์ – หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร.