ในฤดูหนาวแต่ละปี จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางผจญภัยไปยังที่ต่างๆ ทั่วเมืองไทย โดยส่วนมากจะเป็นการเที่ยวภูเขา เที่ยวดอย และมีอยู่สถานที่หนึ่ง ที่เป็นเหมือนไอคอนหลักในการเที่ยวหน้าหนาว เพราะมีทั้งการเดินเท้าขึ้นเขา สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ประกอบกับเขาบนยอดเขามีจุดชมวิวทะเลหมอก ชมพระอาทิตย์อันเลื่องชื่อ มีน้ำตกและแมกไม้นานาพรรณ ที่แห่งนั้นก็คือ “ภูกระดึง” สำหรับปีนี้ จะเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปล่าทะเลหมอก ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2562
ได้เวลาดูดาว ล่าทะเลหมอก
เตรียมไปพิชิต ภูกระดึง จ.เลย
ภูกระดึง ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 2 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2505 ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ครอบคลุมพื้นที่ 348.13 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด โดยมีที่ราบบนยอดภูกระดึงประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร
ภูกระดึง มีระดับความสูงอยู่ระหว่าง 400 – 1,200 เมตร จุดสูงสุดอยู่ที่บริเวณคอกเมย มีความสูง 1,316 เมตร สภาพทั่วไปของภูกระดึงประกอบไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด พันธุ์สัตว์ป่านานาพันธุ์ หน้าผา ทุ่งหญ้า ลำธาร และน้ำตก อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลำน้ำพองซึ่งเป็นลำน้ำสายสำคัญสายหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ด้วยความสูง บรรยากาศ และสภาพอากาศที่เย็นสบายตลอดปีบนยอดภูกระดึง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิอาจลดต่ำจนถึง 0 องศาเซลเซียส จึงเป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวปรารถนาที่หวังจะเป็นผู้พิชิตยอดภูกระดึงสักครั้งหนึ่งในชีวิต
ภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติภูกระดึงบริเวณที่ระดับต่ำตามเชิงเขา มีสภาพโดยทั่วไปใกล้เคียงกับบริเวณอื่นๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม ฝนตกชุกที่สุดระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน อุณหภูมิเฉลี่ยรายปี 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดในเดือนมกราคม และอุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน
ในช่วงฤดูฝน มักเกิดภัยธรรมชาติ เช่น เกิดการพังทลายของภูเขาและมีน้ำป่า ทางอุทยานแห่งชาติจึงกำหนดให้ปิด-เปิดการท่องเที่ยวเฉพาะบนยอดเขาภูกระดึง เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และให้สภาพธรรมชาติและสภาพแวดล้อมได้มีการพักฟื้นตัว หลังจากนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมอย่างมากในแต่ละปี ดังนี้
– ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน ของทุกปี
– เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 พฤษภาคม ของทุกปี
การได้ถ่ายรูปกับป้าย “ครั้งหนึ่งในชีวิต เราเป็นผู้พิชิตภูกระดึง” ยังคงเป็นที่นิยมคลาสสิกตลอดกาล นอกจากการชมทัศนียภาพบนยอดภูแล้ว ไฮไลท์สำคัญที่พลาดไม่ได้คือการชมดอกเมเปิ้ลสีแดงสดริมธารน้ำตก
การเดินขึ้นภูกระดึง (หลังแป) ไม่ลำบากมากนัก แต่ระยะทางจะไกลและชัน แต่ระหว่างทางจะมีจุดให้แวะพักเหนื่อยต่างๆ ตามลำดับ ได้แก่ ปางกกค่า ซำแฮก ซำบอน ซำกกกอก พร่านพรานแป ซำกกหว้า ซำกกโดน และซำแคร่
ปางกกค่า จุดแวะพักแรก
ซำแฮก
ซำกกกอก
ซำกกหว้า
ซำกกไผ่
ซำกกโดน
ซำแคร่
จุดพักสุดท้ายก่อนขึ้นถึงยอดภู โดยเป็นจุดที่มีความชันมากที่สุด
ยอดภูกระดึง หรือ หลังแป
จากตรงนี้ต้องเดินเท้าไปอีกประมาณ 3 กิโลครึ่ง ไปยังที่ทำการอุทยานนักท่องเที่ยววังกวาง ซึ่งเป็นที่พัก ลานกางเต็นท์ และร้านอาหาร
หากเดินขึ้นภูตั้งแต่เช้า อากาศจะค่อนข้างเย็นสบาย มีสิ่งที่น่าสนใจให้ชมไปตลอดทาง โดยเฉพาะสภาพทางธรณีและสภาพป่าที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นระยะๆ จากป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา จนถึงหลังแป จากหลังแปถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวางจะเป็นทางราบท่ามกลางทุ่งหญ้าป่าสนเขาอันกว้างใหญ่ รวมระยะทางจากทางขึ้นไปถึงหลังแปและศูนย์บริการนักท่องเที่ยววังกวาง ประมาณ 9 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง
แหล่งท่องเที่ยวบนภูกระดึงส่วนใหญ่มีทางเดินชมธรรมชาติติดต่อถึงกันหมด ฉะนั้น ผู้ที่จะไปท่องเที่ยวบนภูกระดึงควรใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน เพื่อจะได้เที่ยวชมธรรมชาติที่สวยงามเหล่านั้นได้ทั่วถึง
แหล่งท่องเที่ยวบนภูกระดึงที่ห้ามพลาด
ผานกแอ่น
ลานพระศรีนครินทร์
สระอโนดาต
น้ำตกถ้ำสอเหนือ
ผาเหยียบเมฆ
ผาจำศีล
ผาหมากดูก
น้ำตกวังกวาง
น้ำตกพ่วงพบ
น้ำตกโผนพบ
น้ำตกเพ็ญพบ
สำหรับใครที่ต้องการเข้าไปท่องเที่ยวและพักแรมบนยอดภูกระดึง สามารถติดต่อสอบถาม หรือสำรองการเข้าไปใช้บริการล่วงหน้าได้โดยตรง ณ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง โทรศัพท์หมายเลข 0-42810-833 และ 0-42810-834 ในเวลาราชการ (08.00 น.-16.30 น.) กรณีที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาท่องเที่ยวพักแรมบนยอดเขาที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึงนั้น ให้มาติดต่อซื้อค่าบริการบุคคลก่อนเวลา 13.30 น. และในเวลา 14.00 น. ของทุกวันจะทำการปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นเขาและลงเขาในแต่ละวัน
ค่าเข้าอุทยานฯ
– ชาวไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท
– ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 400 บาท เด็ก 200 บาท
– ค่าบริการลูกหาบสัมภาระ กิโลกรัมละ 30 บาท
การเดินทาง
- รถยนต์
จากกรุงเทพฯ ให้ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดสระบุรี จากสระบุรีให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ พอถึงอำเภอสีคิ้วให้เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 201 ซึ่งจะผ่านจังหวัดชัยภูมิ ไปจนถึงอำเภอชุมแพ ขับตามทางหลวงหมายเลข 201 มาเรื่อย ๆ จนมาถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 276 จะมีทางแยกเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 2019 ขับตามทางไปประมาณ 8 กิโลเมตรก็จะถึงบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูกระดึง
- รถโดยสารประจำทาง
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ-เลย แล้วลงที่ผานกเค้า ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่างชุมแพ-ภูกระดึง จากจุดนี้จะมีรถสองแถวไปอุทยานแห่งชาติภูกระดึง หรือ ใช้รถประจำทางเส้นทางกรุงเทพฯ-ชุมแพ แล้วลงที่ตลาดชุมแพ แล้วต่อรถสายชุมแพ-ผานก เค้า ไปลงที่ผานกเค้า ซึ่งจะมีรถสองแถวไปอุทยานฯ
เรียบเรียงโดย : Travel MThai