เที่ยววันหยุด รอบเมืองกรุง ไหว้พระ 10 วัด ประจำรัชกาล

หากวันหยุดนี้ไม่มีแพลนไปไหน Travel.MThai อยากชวนเพื่อนๆ ไปเที่ยวรอบเมืองกรุง ไหว้พระ 10 วัด ประจำรัชกาล กันค่ะ  พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่อยู่คู่บ้านเมืองเรามาช้านาน มีการสร้างโบสถ์ วัด เพื่อให้ผู้คนมาสักการะ เสริมศิริมงคล และประกอบพิธีกรรมต่างๆ…

Home / TRAVEL / เที่ยววันหยุด รอบเมืองกรุง ไหว้พระ 10 วัด ประจำรัชกาล

หากวันหยุดนี้ไม่มีแพลนไปไหน Travel.MThai อยากชวนเพื่อนๆ ไปเที่ยวรอบเมืองกรุง ไหว้พระ 10 วัด ประจำรัชกาล กันค่ะ  พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่อยู่คู่บ้านเมืองเรามาช้านาน มีการสร้างโบสถ์ วัด เพื่อให้ผู้คนมาสักการะ เสริมศิริมงคล และประกอบพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งก็จะมีวัดเก่าแก่มากมายที่สร้างในสมัยของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา ซึ่ง 10 วัดประจำรัชกาลนี้ เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์พระองค์นั้น ทรงมีส่วนเกี่ยวข้องและมีความผูกพัน จึงถือวัดทั้ง 10 เป็นวัดประจำรัชกาลของแต่ละพระองค์

เที่ยววันหยุด รอบเมืองกรุง
ไหว้พระ 10 วัด ประจำรัชกาล

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
วั
ดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 1

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ 1

สักการะ : พระพุทธไสยาส(พระนอน) ขนาดเท่ากับพระอุโบสถ และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ, พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว, พระพุทธเทวปฏิมากร พระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงอัญเชิญมาจากวัดศาลาสี่หน้า ด้วยประสงค์ตั้งมั่นแน่วแน่ว่า นี่จะเป็นพระนครอย่างถาวร เป็นต้น

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้รับความนิยมเที่ยวเป็นลำดับที่ 24 ของโลก ในปี พ.ศ. 2549 โดยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนในปีนั้นถึง 8,155,000 คน

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์พระเจดีย์ที่สำคัญ คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตั้งอยู่ : ริมถนนสนามไชยและถนนมหาราช ติดกับพระบรมมหาราชวังแขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนครกรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 2

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ 2

สักการะ : พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, พระปรางค์วัดอรุณ

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดแจ้ง หรือเรียกสั้นๆ ว่า วัดอรุณ เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา จนมาถึงในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิม และได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งวัด แต่ยังไม่ทันสำเร็จก็สิ้นรัชกาลที่ 1 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อมา และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม”

ต่อมามีพระราชดำริที่จะเสริมสร้างพระปรางค์หน้าวัดให้สูงขึ้น แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เสริมพระปรางค์ขึ้นและให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดต่อบนยอดนภศูล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามหลายรายการ และให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วย เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้นลง พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม”

ตั้งอยู่ : ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่กรุงเทพมหานคร

การเดินทาง : 

  • รถยนต์ส่วนตัว กรณีเดินทางมาจากถนนปิ่นเกล้า ให้ข้ามสะพานอรุณอมรินทร ผ่านโรงพยาบาลศิริราช กรมอู่ทหารเรือ วัดเครือวัลย์ กรมสารวัตรทหารเรือ โดยวัดอรุณฯ อยู่ทางฝั่งซ้ายมือ
  • ทางเรือ ขึ้นเรือข้ามฟากจากฝั่งพระนคร บริเวณท่าเตียน
  • รถประจำทาง รถประจำทางที่ผ่านวัดอรุณฯ ได้แก่ สาย 19, 57 และ 83

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 3

สักการะ : พระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร, พระพุทธไสยาสน์นารถชนินทร์

วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่เดิมชื่อวัดจอมทอง เป็นวัดที่มีมาก่อนการสร้างกรุงเทพมหานคร พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ทรงสถาปนาวัดจอมทองขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่าวัดราชโอรส ซึ่งหมายถึง พระราชโอรสคือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

ตั้งอยู่ : ถนนเอกชัย แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 10150

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 4

สักการะ : พระพุทธสิหังคปฏิมากร, ปาสาณเจดีย์, ปราสาทยอดปรางค์

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดราชประดิษฐาน จึงทรงสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้ครบตามโบราณราชประเพณี และเพื่อพระอุทิศถวายแก่พระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายเพื่อที่พระองค์เองและเจ้านาย ข้าราชการ ที่จะไปทำบุญที่วัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายใกล้พระบรมมหาราชวังได้สะดวก

ตั้งอยู่ : ถนนสราญรมย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 5

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2412 มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง

มีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ “ราชบพิธ” หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง บพิธ คำนี้มาจากภาษาบาลีคือ ปวิธะ ที่แปลว่าสร้าง ส่วน “สถิตมหาสีมาราม” หมายถึง พระอารามซึ่งมีสีมากว้างใหญ่ เป็นมหาสีมาล้อมรอบอาณาเขตของวัด

อีกทั้งมี สุสานหลวง ซึ่งตั้งอยู่นอกเขตกำแพงมหาสีมาธรรมจักของวัดด้านทิศตะวัน โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่บรรจุพระอัฐิ (กระดูก) และพระสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ไว้นั้นเพื่อเป็นพระบรมราชูทิศพระราชกุศลแก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระองค์ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ กันทั้งพระเจดีย์ พระปรางค์ วิหารแบบไทย แบบขอม (ศิลปะปรางค์ลพบุรี) และแบบโกธิค โดยตั้งอยู่ในสวนซึ่งมีต้นลั่นทมและพุ่มพรรณไม้ต่างๆ ปลูกไว้อย่างสวยงาม

อนุสาวรีย์ที่สำคัญคือ เจดีย์สีทอง 4 องค์ เรียงลำดับจากเหนือไปใต้ ซึ่งมีชื่อสอดคล้องกันดังนี้ สุนันทานุสาวรีย์ รังษีวัฒนา เสาวภาประดิษฐาน สุขุมาลนฤมิตร์

ตั้งอยู่ : ถนนเฟื่องนคร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 6

สักการะ : หลวงพ่อโต, พระพุทธชินสีห์

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร  พระอารามนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ 2 องค์เป็นพระประธาน คือ พระพุทธสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต) ที่อัญเชิญมาจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี และพระพุทธชินสีห์ อัญเชิญมาจากวิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งใต้ฐานพุทธบัลลังก์ พระพุทธชินสีห์ เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเคยผนวช ณ วัดนี้เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศที่สยามมกุฎราชกุมาร

ถัดจากพระอุโบสถออกไปเป็นเจดีย์กลมขนาดใหญ่ สร้างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หุ้มกระเบื้องสีทอง ในรัชกาลปัจจุบัน รอบฐานพระเจดีย์มี ศาลาจีนและซุ้มจีน ถัดออกไปเป็นวิหารเก๋งจีน นอกจากนี้ก็มีจิตรกรรมฝาผนังฝีมือขรัวอินโข่ง บริเวณรอบเจดีย์มีพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่ง คือ พระไพรีพินาศ

ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงผนวชและประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร โปรดเกล้าฯ ให้ประติมากรของกรมศิลปากรปั้นหุ่นและสร้างพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร โดยเสด็จพระราชดำเนินหล่อพระพุทธรูปเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2499 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธนาราวันตบพิตร”

ตั้งอยู่ : ต้นถนนตะนาวและถนนเฟื่องนคร บวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 7

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ 7

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม นอกจากจะเป็นพระอารามหลวง ประจำรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้ว ยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 7 ด้วย

ภายในมี พระพุทธอังคีรส เป็นพระประธานในพระอุโบสถ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนจากประเทศอิตาลี พระนาม “พระพุทธอังคีรส” แปลว่ามีรัศมีซ่านออกจากพระวรกาย หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อต้นรัชกาลที่ 5 กระไหล่ทองคำเนื้อแปดหนัก 180 บาท เป็นทองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้เมื่อยังทรงพระเยาว์

ที่ฐานบัลลังก์กระไหล่ทองเนื้อหกหนัก 48 บาท ภายในบรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีสุลาไลย และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร และพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชสรีรางคาร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

ตั้งอยู่ : ถนนเฟื่องนคร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดประจำรัชกาลที่ 8

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ 8
ขอบคุณภาพ http://www.bkk1.in.th/Topic.aspx?TopicID=244144

เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใน เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อ จนมาเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชทานนามว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม”

ภายในวัดสุทัศนเทพวรารามเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และได้อัญเชิญ พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเมื่อ พ.ศ. 2493 และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรในวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี

ที่พระวิหารมี “พระศรีศากยมุนี” เป็นพระประธานซึ่งอัญเชิญมาจากสุโขทัยเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วย สำริดถอดแบบมาจากพระวิหารพระมงคลบพิตร กรุงศรีอยุธยาบานประตูใหญ่ของพระวิหารสลักไม้สวยงามรอบพระวิหารมีถะ หรือเจดีย์ศิลาแบบจีนตั้งอยู่บนฐานทักษิณ หลังจากสักการะในวัดสุทัศน์ฯแล้ว แนะนำให้เดินมาที่เสาชิงช้า เพื่อ สรงน้ำพระพักตร์เทวรูปที่ซุ้ม และข้ามไปที่ศาลากลางเพื่อสรงน้ำ พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งปีนี้ย้ายสถานที่จากสนามหลวงเป็นที่หน้าศาลากลาง บริเวณลานคนเมือง

ตั้งอยู่ : 146 ริมถนนตีทอง 1 ถนนบำรุงเมือง หน้าวัดออกทางถนนอุณากรรณ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
วัดประจำรัชกาลที่ 9

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก วัดประจำรัชกาลที่ 9

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เป็นวัดที่สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในปี พ.ศ. 2538 เป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคมสีมา และได้รับการยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีเป็นการพิเศษในปี พ.ศ. 2542  เดิมเป็นที่ลุ่มว่างเปล่า ขอบเขตที่ดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เนื้อที่ทั้งหมด 8 – 2 – 54 ไร่

พระอุโบสถ โปรดให้สร้างด้วยความเรียบง่าย และประหยัด แรกเริ่มการออกแบบพระอุโบสถมีขนาดใหญ่โต และเมื่อนำแบบพระอุโบสถขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทอดพระเนตร มีรับสั่งให้ย่อลง ให้มีขนาดกะทัดรัด สอดคล้องกับลักษณะของชุมชน ด้วยไม่โปรดสิ่งที่ใหญ่โตเกินความจำเป็น

มีพระราชประสงค์ให้วัดนี้เป็นวัดของชุมชนพระราม 9 เพื่อให้ประกอบศาสนกิจ เน้นให้สามารถเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนได้เป็นสำคัญ อีกทั้งสภาพพื้นที่ก็ไม่เหมาะที่จะสร้างเป็นวัดใหญ่ ลดงบประมาณจากที่ตั้งไว้ เดิม 57 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งชี้ให้เห็นพระราชนิยมที่ประหยัด เรียบง่าย เน้นเพียงการใช้ประโยชน์สูงสุดที่สำคัญ และมีพระราชประสงค์ให้เป็นตัวอย่างของการสร้างวัดสำหรับชุมชนอีกด้วย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : ชวนเที่ยว “วัดของพ่อ” วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก , วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก สถานปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิ

ตั้งอยู่ : เลขที่ 999 ซอย 19 ถนนพระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10320

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ
บดินทรเทพยวรางกูร

วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร (วัดทุ่งสาธิต)
วัดประจำรัชกาลที่ 10

วัดนี้เดิมทีคหบดีชาวลาวเป็นผู้สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2379 เล่ามาว่าเป็นวัดร้างมาก่อนชาวลาวท่านนี้อพยพมาสมัยเวียงจันทร์แตก หลังจากคหบดีท่านนี้ถึงแก่กรรมวัดนี้เลยร้าง เนื่องจากไม่มีใครอุปถัมภ์ ประกอบกับเจ้าอาวาสองค์สุดท้ายมรณภาพลง เลยไม่มีใครสืบสาน และก็สมัยก่อนนั้นวัดนี้อยู่ห่างไกลความเจริญ เป็นทุ่งนาส่วนใหญ่

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ (พระอิสริยยศขณะนั้น) รับวัดทุ่งสาธิตไว้ในพระอุปถัมภ์ เป็นอารามหลวง ได้พระราชทานนามว่า วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร

ขอบคุณข้อมูลและภาพ  th.wikipedia.org, amazingthaitour, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย , gotoknow, TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง, dhammathai, dhammajak