ONE Championship ขุนศอกผีดิบ

“เมืองไทย” ฟื้นฟูค่ายมวยของพ่อ “ศิษย์ศรพิชัย” ปั้นดาวรุ่งเลือดใหม่ประดับวงการ

“ขุนศอกผีดิบ” เมืองไทย พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม ก่อร่างสร้างกิจการใหม่ “เมืองไทยแม็กซิ่ง” ฟื้นฟูค่ายมวยเล็กๆ ชื่อค่าย“ศิษย์ศรพิชัย”

Home / SPORT / “เมืองไทย” ฟื้นฟูค่ายมวยของพ่อ “ศิษย์ศรพิชัย” ปั้นดาวรุ่งเลือดใหม่ประดับวงการ

“ขุนศอกผีดิบ” เมืองไทย พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม แชมป์เวทีลุมพินี วัย 26 ปี หลังจากปรากฏตัวในไฟต์ล่าสุดใน วัน แชมเปียนชิพ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก็เกิดวิกฤติโควิด-19 เข้ามาพอดิบพอดี เจ้าตัวจึงกลับบ้านที่ อ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ พักงานมวยหันช่วยภรรยาขายผัก และยังก่อร่างสร้างกิจการใหม่ “เมืองไทยแม็กซิ่ง” พร้อมกับฟื้นฟูค่ายมวยเล็กๆ ที่พ่อปลุกปั้นมากับมือในชื่อค่ายมวย “ศิษย์ศรพิชัย”

เมืองไทย ยังจดจำวันวานได้ดีสมัยอายุเพียง 7 ขวบและเริ่มฝึกมวยครั้งแรก โดยมีพ่อบังเกิดเกล้า “นายสมัย เจริญดี” ซึ่งทำค่ายมวยเล็กๆ ขึ้นบริเวณพื้นที่ข้างบ้าน มีเด็กๆ ในละแวกใกล้เคียงมาซ้อมมวยด้วยอยู่ราวๆ 4 – 5 คน รวมถึงพี่ชายแท้ๆ ของ เมืองไทย “นายศรพิชัย เจริญดี” ได้ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงลงนวมให้ โดยที่พ่อได้แสดงออกให้เห็นถึงความรักมวยไทยเป็นชีวิตจิตใจ ด้วยการยอมทุ่มเทแรงกายแรงใจเป็นครูสอนมวยให้กับเด็กทุกคน จากใจล้วนๆ ไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทน

จากการที่ถูกปลูกฝังให้รักมวยไทยตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย รวมถึงได้เห็นความตั้งใจของพ่อ ทำให้ นายศรพิชัย กลายเป็นนักมวยอาชีพในเวลาต่อมา โดยใช้ชื่อว่า “เก้าแดง สุรพิชญ์ฟาร์ม” ไต่เต้าไปถึงแชมป์เวทีมวยสยามอ้อมน้อย และแชมป์มวยรอบทัมใจ ส่วนตัว เมืองไทย เองก็ตามรอยตามพี่ชาย โดยปัจจุบันสังกัดค่าย พี.เค.แสนชัยมวยไทยยิม

(ขวา) คุณพ่อสมัย เจริญดี

ที่มาของชื่อค่าย “ศิษย์ศรพิชัย” มาจากชื่อของพี่ชาย ซึ่งสมัยก่อนนั้นการขึ้นทะเบียนค่ายมวยเป็นเรื่องยุ่งยาก มีความลำบากต้องไปติดต่อยังสถานที่หลายแห่ง ด้วยความที่พี่ชายเป็นคนมีความรู้ มีความคล่องแคล่ว และรู้จักคนเยอะ จึงรับอาสาไปทำหน้าที่แทนพ่อ ซึ่ง เมืองไทย ก็เคยใช้ชื่อสังกัดค่ายศิษย์ศรพิชัยขึ้นชกมาแล้วหลายครั้ง

“เมื่อ 2-3 ปีก่อน ผมนำเงินที่ได้จากการชกมวยไปให้พ่อซื้อที่ดินแถวบ้านเก็บไว้หลายแปลง ค่อยๆ ซื้อไปเรื่อย เผื่ออนาคตจะได้ทำฟาร์มเลี้ยงหมูโรงสีข้าว และบูรณะค่ายมวย”

เมืองไทย กับ โฉนดที่ดินซึ่งได้มาจากน้ำพักน้ำแรงในการชกมวย

“ถึงตอนนี้สิ่งที่พร้อมที่สุด คือการฟื้นฟูค่ายมวยครับ เพราะยังไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก และผมก็มีประสบการณ์อยู่แล้ว ใช้ของเดิมไปก่อน และซื้ออุปกรณ์บางอย่างเข้ามาเสริมบ้าง เช่น นวม กระสอบทราย ที่ล่อเป้า ประมาณนี้ครับ”

“การทำค่ายมวยที่ต่างจังหวัดกับกรุงเทพฯ นั้นต่างกันครับ เราเรียนรู้จากธรรมชาติและการใช้ชีวิตจริงๆ ไม่ได้ยึดหลักวิทยาศาสตร์การกีฬาอะไรมากนัก ว่างเมื่อไหร่ก็ซ้อมมวย ไม่มีเวลาที่แน่นอน เรียกว่าซ้อมไปเรื่อยๆ เตรียมตัวให้พร้อมตลอดเวลา หากว่ามีรายการเมื่อไหร่ ก็สามารถนัดชกได้เลย”

(ซ้าย) “พลายเงิน ศิษย์ศรพิชัย” มวยเด็กปั้นของค่าย ที่ว่ากันว่าอาจเป็น เมืองไทย 2 หรือ นิวเมืองไทย ในอนาคต

ค่ายมวยศิษย์ศรพิชัยปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ตอนนี้มีนักมวยที่พอเป็นมวยจริงๆ ชกอวดใครได้อยู่ 3 คน คือ พลายเงิน, ตะวันฉาย และ เพชรนคร เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาแถวบ้าน มวยเด็กตัวเล็กๆ ที่มีน้ำหนักแค่ประมาณ 30-40 กิโลกรัม บ้างตั้งใจชกเพื่อเป็นนักกีฬา บ้างก็ชกเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว หาทุนการศึกษา ค่าขนมไปโรงเรียนด้วยตัวเอง นี่คือวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน และเป็นจุดเริ่มต้นของดาวรุ่งมุ่งสู่เมืองกรุงรุ่นแล้วรุ่นเล่า

และแม้ว่าวันเวลาจะเปลี่ยนไปนานเท่าใด มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ คุณพ่อสมัย ของ เมืองไทย เขายังคงยืนตระหง่านเป็นครูมวยที่ค่ายศิษย์ศรพิชัยแห่งนี้ และยังคงเน้นความแข็งแกร่งของอาวุธและร่างกายเป็นหลักในการฝึกสอน ดังเช่นที่ทุกคนได้เห็นจากตัว เมืองไทย มาก่อน จนกระทั่งโด่งดังเป็นดาวจรัสฟ้าอยู่ทุกวันนี้