กีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่35 ตะกร้อ เกรียงไกร มุทาลัย

“เกรียงไกร มุทาลัย” อดีตนัก ตะกร้อ ทีมชาติไทย กับสูตรสำเร็จพาอุบลฯกวาดแชมป์ ในรอบ 5 ปี ศึกเยาวชนแห่งชาติ

หลังจากรูดม่านปิดฉากกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ 35 “บุรีรัมย์เกมส์”  ตะกร้อ ทีมชายจากอุบลราชธานี ได้ประกาศศักดา กวาดแชมป์ได้ทั้งประเภททีมชุดชาย และทีมเดี่ยวชาย ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่มีการเปลี่ยนมือแชมป์หลังจากที่นครปฐม ครองบัลลังค์แชมป์มายาวนานถึง 4 ปีติดต่อกันในเวทีกีฬาเยาวชนแห่งชาติ…

Home / SPORT / “เกรียงไกร มุทาลัย” อดีตนัก ตะกร้อ ทีมชาติไทย กับสูตรสำเร็จพาอุบลฯกวาดแชมป์ ในรอบ 5 ปี ศึกเยาวชนแห่งชาติ

หลังจากรูดม่านปิดฉากกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ 35 “บุรีรัมย์เกมส์”  ตะกร้อ ทีมชายจากอุบลราชธานี ได้ประกาศศักดา กวาดแชมป์ได้ทั้งประเภททีมชุดชาย และทีมเดี่ยวชาย ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่มีการเปลี่ยนมือแชมป์หลังจากที่นครปฐม ครองบัลลังค์แชมป์มายาวนานถึง 4 ปีติดต่อกันในเวทีกีฬาเยาวชนแห่งชาติ

แน่นอนว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้น ต้องยกเครดิตให้ผู้ฝึกสอน ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการสร้างนักกีฬาจนก้าวไปสู่ความสำเร็จ และวันนี้ “เกรียงไกร มุทาลัย” อดีตนัก ตะกร้อ ทีมชาติไทย เจ้าของตำนานลูกหักคอไก่ ที่ปัจจุบันรับหน้าที่ผู้ฝึกสอนกีฬาเซปักตะกร้อของโรงเรียนกีฬาจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราทำงานหนักกว่าคู่แข่ง”

 

 

 

  • จากความล้มเหลวผลักดันสู่ความสำเร็จ

“ในกีฬาเยาวชนฯปีที่แล้วที่จ.น่าน ทีมตะกร้ออุบลตกรอบตั้งแต่รอบคัดเลือกตัวแทนภาคฯ เพราะตอนนั้นถือว่าเด็กยังขาดประสบการณ์ แต่ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะจากความพ่ายแพ้ในตอนนั้น ทำให้เด็กบทเรียนที่ดี มีความมุ่งมั่นมากขึ้น จากการตกรอบคัดเลือกในตอนนั้นเราซ้อมหนักมากขึ้นทำงานหนักมากขึ้น ใช้เวลาฝึกซ้อม 6 ชั่วโมงต่อวัน หลังจากเรียนเสร็จในช่วงเช้า กินอาหารเที่ยง เราก็เริ่มซ้อมตั้งแต่บ่ายโมง จนถึง 6 โมงเย็นทุกวัน”

 

“เมื่อเราทำงานหนักมากขึ้น มันก็ส่งผลโดยตรง ในปีนี้เราทำผลงานได้ดีตั้งแต่รอบคัดเลือก จนหลายคนชมว่าทีมมีการเปลี่ยนแปลงมาก และเราก็รักษาความมั่นใจมาจนถึงบุรีรัมย์เกมส์ จนสามารถกวาดเหรียญทองได้ทั้งทีมเดี่ยว และทีมชุด”

 

“ในการล้มแชมป์เก่า ผมเชื่อว่าฝีมือนักกีฬาใกล้เคียงกัน ถ้าจะชนะกันได้ ก็ต้องสู้กันที่ข้อผิดพลาดที่น้อยกว่า แต่กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้ เราทำงานกันหนักมาก ผมสร้างเด็กด้วยการเน้นทีมเวิร์ค เพราะตะกร้อเป็นกีฬาที่ใช้จังหวะความสัมพันธ์ในการเล่น อย่างเด็กชุดนี้ผมก็ให้เล่นด้วยกันมาตั้งแต่เด็กๆ ให้เข้าขารู้ใจกัน แล้วตอนโต เราก็เอามาใส่เทคนิคการเล่นเพิ่ม แต่สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่การลดข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุด ถ้าเราผิดพลาดน้อยกว่าคู่แข่ง เราก็มีโอกาสจะเป็นผู้ชนะ”

 

 

  • ค่ายตะกร้อกีฬาอุบลฯใช้ใจเป็นที่ตั้ง

“นโยบายของที่นี่ ไม่ได้ต้องการคนเก่ง แต่ต้องการคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ”

 

“ที่อื่น อาจจะใช้การไปดึงนักกีฬาที่มีฝีมือเข้ามาต่อยอด แต่ที่โรงเรียนกีฬาอุบลฯ เราจะถามเด็กก่อนเลยว่า อยากเก่งมั้ย มีใจที่อยากจะเป็นนักตะกร้อใช่มั้ย เราจะดูตรงนี้เป็นหลัก ต่อด้วยหน่วยก้านว่าเหมาะสำหรับการเล่นตะกร้อในตำแหน่งไหน เพราะผมเชื่อว่า แบบฝึกแต่ละที่ไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่เรื่องของใจนักกีฬาที่อยากฝึก อยากเก่ง มีส่วนสำคัญในการพัฒนามากกว่า”

 

“เคล็ดลับของที่นี่ คือ ผมจะเข้าไปดูแลเหมือนนักกีฬาทุกคนเหมือนลูก ให้เขารู้สึกสบายใจที่จะอยู่กินนอน และฝึกซ้อม ส่วนการซ้อมเราจะซ้อมค่อนข้างหนัก วันหนึ่งประมาน 6 ชั่วโมง หยุดแค่วันอาทิตย์วันเดียว โดยการซ้อมของที่นี่ จะเน้นการใส่ใจในรายละเอียด ผมจะบอกนักกีฬาว่าต้องทำอย่างไรในการเล่น เช่น การฟาดตะกร้อ ก็จะบอกหมด ตั้งแต่การเข้าไปอยู่ใต้ลูกอย่างไร การชง ทำไมชงแล้วไม่เข้าจุด หรือถ้าบอกไปแล้วไม่เข้าใจ ผมก็ทำให้ดูเลย เพราะเรื่องแบบนี้เราต้องทำให้เด็กเข้าใจจริงๆ ”

 

 

 

  • ทุกคนเก่งได้ ถ้ามีคนชี้ทางที่ดี

“ผมเชื่อว่าถ้ามีความตั้งใจ ไม่มีคำว่าสายสำหรับการเป็นนักตะกร้อของที่นี่”

“ยกตัวอย่าง อย่าง “โจโฉ” ลูกชายผม ตอนแรกเขาเล่นฟุตบอล เป็นนักฟุตบอลของโรงเรียน แต่พอจะมาเข้าโรงเรียนกีฬาอุบลฯ ที่นี่ยังไม่ได้เปิดรับ ก็เลยเอาเข้ามาเป็นนักตะกร้อก่อน ซึ่งเขาใช้เวลาไม่นาน ก็พัฒนามาเป็นนักตะกร้อ และตอนนี้ก็มีศักยภาพที่พัฒนาต่อไปได้อีกไกล”

“เรื่องนี้มันทำให้รู้เลยว่า การที่มีแบบแผนที่ดี การฝึกซ้อมที่ถูกต้อง ขอแค่นักกีฬามีความมุ่งมั่นตั้งใจ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ แค่ต้องใช้เวลา ก็เหมือนกับ 4 ปีที่ผ่านมา ที่ทีมตะกร้อของอุบลฯไม่เคยไปถึงจุดสูงสุด แต่การทำงานอย่างหนัก และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ผลลัพท์ในบุรีรัมย์เกมส์ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้เป็นอย่างดี”

 

 

“น้องโจโฉ” รัฐบุรุษ มุทาลัย ลูกชายของ เกรียงไกร มุทาลัย

 

 

  • ตะกร้อสร้างชีวิต

“ทุกวันนี้ ค่ายตะกร้อโรงเรียนกีฬาอุบลฯ เราอยู่กันแบบครอบครัว ผมจะคอยเอาใจใส่เขาทุกเรื่อง ตั้งแต่การอยู่กิน การใช้ชีวิต ที่ทำแบบนี้ เพราะเราต้องการสร้างให้เขามีอนาคตที่ดี ไม่ใช่แค่เป็นนักตะกร้อที่เก่งอย่างเดียว ต้องเป็นคนที่มีระเบียบวินัยด้วย เพราะเป็นคนเก่ง แต่ไม่มีระเบียบวินัย ไปอยู่ไหนก็อยู่ได้แปบเดียว แต่ถ้าคุณเก่งด้วย มีระเบียบวินัยด้วย ไปอยู่ไหนใครก็ต้องการ”

 

“เด็กหลายๆคนที่จบไปผมก็พยายามส่งให้ไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่เขาให้ทุนเรียนฟรี หรือไปรับราชการทหาร ที่เขาต้องการนักตะกร้อ มันทำให้เด็กๆเหล่านี้ได้แบ่งเบาภาระพ่อแม่”

 

 

 

  • สานต่อความสำเร็จ

 

“แม้ว่าวันนี้เราจะสามารถไปคว้าเหรียญทองในเวทีกีฬาเยาวชนแห่งชาติได้แล้ว แต่เรายังคงต้องรักษามาตรฐานต่อไป และต้องทำให้ดีกว่าเดิม เพราะกว่าสำเร็จได้มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และการจะสานต่อความสำเร็จ มันก็ต้องทำงานให้หนักกว่าเดิม ผมเชื่อว่าความสำเร็จตอนนี้มันจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดี ให้กับนักตะกร้อรุ่นน้อง เพราะผมจะบอกกับเด็กๆก่อนซ้อมทุกครั้ง ว่าดูพวกพี่ๆเขาเอาไว้ เขาทำได้แล้ว พวกเราก็ต้องสานต่อให้ได้”

 

“ทุกวันนี้ผมดูแลนักกีฬาทุกชุด ไล่มาตั้งแต่รุ่น 14 ปี 16 ปี 18 ปี ที่โรงเรียนกีฬาอุบลฯ เราปลูกฝังเรื่องความกระตือรือล้นไว้ให้นักกีฬาทุกคน ตัวอย่างคือ ถ้าเด็กรุ่น 14 ปี ฝีมือดี ผมก็จะดันขึ้นไปเล่น รุ่นที่สูงขึ้น คล้ายๆเทควันโด ที่มีสายคาดตามระดับฝีมือ ที่ทำแบบนี้เพราะอยากให้เด็กต้องการพัฒนาตัวเองตลอด เพราะบางทีรุ่นอายุเดียวกัน แต่อีกคนก้าวขึ้นไปเล่นอีกระดับแล้ว มันก็จะทำให้เด็กมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเองให้เท่ากับเพื่อน”

 

“ถ้าถามผมว่า อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของทีมตะกร้อโรงเรียนกีฬาอุบลฯ ผมคงบอกได้แค่ว่า “ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราทำงานหนักกว่าคู่แข่ง ถ้าคุณอยากจะเก่งกว่าเขา คุณก็ต้องซ้อมให้หนักกว่าเขา ลดข้อผิดพลาดจากตัวเองให้น้อยที่สุด โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมันย่อมมีมากกว่าล้มเหลว”