ตะกร้อ ท่าขอนยาง วิถีชาวบ้าน

ความสำเร็จของ “ท่าขอนยาง” ค่าย ตะกร้อ ที่สร้างนักกีฬาด้วยการซ้อม ผสานกับวิถีชาวบ้านได้อย่างลงตัว

“เราเริ่มจากการให้ “โอกาส” กับเด็กๆหลายคนในภาคอีสาน ที่หลายคนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ , ถูกเลี้ยงดูโดยคุณตาคุณยาย โดยใช้ “ตะกร้อ” เป็นสิ่งที่ทำให้เขาได้เจอสิ่งดีๆในชีวิต”   นี่คือ คำนิยามของ ครูผู้สร้าง ที่เป็นอดีตนัก “ตะกร้อ”…

Home / SPORT / ความสำเร็จของ “ท่าขอนยาง” ค่าย ตะกร้อ ที่สร้างนักกีฬาด้วยการซ้อม ผสานกับวิถีชาวบ้านได้อย่างลงตัว

“เราเริ่มจากการให้ “โอกาส” กับเด็กๆหลายคนในภาคอีสาน ที่หลายคนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ , ถูกเลี้ยงดูโดยคุณตาคุณยาย โดยใช้ “ตะกร้อ” เป็นสิ่งที่ทำให้เขาได้เจอสิ่งดีๆในชีวิต”

 

นี่คือ คำนิยามของ ครูผู้สร้าง ที่เป็นอดีตนัก “ตะกร้อ” ระดับแนวหน้าของประเทศ ที่เคยใช้ตะกร้อนำทางชีวิตตัวเอง และได้ผันมาเป็นผู้ฝึกสอนหลังจากสิ้นสุดเส้นทางการเป็นนักกีฬา อาจารย์ หน่อง สกุลชัย ดับโศก โค้ช ตะกร้อ แห่งค่ายมหาสารคาม ที่ปั้นดินให้เป็นดาวมาแล้วหลายต่อหลายราย ในรูปแบบการสร้างนักกีฬาที่ใช้ชีวิตแบบ “ลูกทุ่ง” ได้อย่างลงตัว

 

สกุลชัย ดับโศก ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทีมตะกร้อโรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม
  • จุดเริ่มต้นที่มาจากศูนย์

“จากรุ่นแรกถึงตอนนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 18 แล้ว รุ่นแรกของค่ายตะกร้อท่าขอนยาง ต้องย้อนถึงจุดเริ่มต้นของตัวผมเองก่อน ที่เคยโลดแล่นในเวทีตะกร้อระดับไทยแลนด์ลีก และก็ได้มีโอกาสมาร่วมงานกับ อ.ศุภชัย บุตราช ที่จ.มหาสารคาม ก็เริ่มจากการที่ทำทีมโดยไม่หวังอะไร จำได้ว่าตอนนั้นผมได้เงินค่าตัวจากการเล่นตะกร้อไทยแลนด์ลีก ได้เงินมา 1 หมื่นบาท ก็เอามาเลี้ยงนักกีฬาที่มีอยู่แค่ 5 คน และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของค่ายแห่งนี้”

“ปัจจุบัน มีนักกีฬามากขึ้นกว่าวันแรกมากๆ แต่ที่นี่ก็ยังอยู่ได้เพราะลูกศิษย์ ที่แม้จะจบไปแล้วแต่ก็ยังคอยส่งเงินมาช่วยเหลือเรื่องอยู่กินของน้องๆ”

“เพราะเอกลักษณ์ของที่นี่ คือ เราจะอยู่กันแบบพี่น้อง จะไม่มีใครเด่นกว่าใคร อยู่กันแบบค่อนข้างลำบาก แต่เมื่อจบไปก็มีชีวิตที่ดี ทั้งรับราชการครู จนไปถึงระดับทีมชาติ นั่นคือ กฤษณพงศ์ นนทะโคตร”

“ผมจะพูดเสมอ ว่าผมคือตำรา ผมจะเป็นตำราให้เด็กๆได้มาเรียนรู้จากตัวผม ตำราในที่นี้ คือ นักกีฬาทุกคน ต้องเอาตัวรอดให้ได้ในสังคม ส่วนการเล่นตะกร้อจะมาทีหลัง อธิบายคือ ต้องทำกับข้าวเป็น , ต้องหากินตามธรรมชาติได้ , ต้องใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นได้ และสำคัญที่สุด เด็กทุกคนต้องใส่ใจในการเรียนหนังสือ”

 

กฤษณพงศ์ (เสื้อเบอร์ 23) ผลผลิตที่มาจากรร.ท่าขอนยางฯ
  • “ทีมงานเด็กหาปลา”

“ผมอิงจากตอนเป็นเด็ก ที่เป็นเด็กบ้านๆ ต้องออกไปหาปลากินเอง และมองเห็นว่าการไปหาปลาเนี่ย มันมีประโยชน์มากกับการใช้ชีวิต ยกตัวอย่างเลย เช่นการให้เด็กไปปักเบ็ด ผมให้เด็กทุกคนเริ่มตั้งแต่การไปหาไม้ไผ่มาเหลาเอง ในตรงนี้โค้ชสามารถเรียนรู้นิสัยใจคอของนักกีฬาได้เลย เพราะแค่มองจากการเหลาคันเบ็ด ก็จะรู้เลยว่านักกีฬาคนไหนมีลักษณะนิสัยอย่างไร”

“ยกตัวอย่าง คือ ให้โจทย์นักกีฬาว่าต้องเหลาคันเบ็ด 10 อันภายใน 1 ชั่วโมง เด็กบางคนก็เหลามาด้วยความตั้งใจ บางคนก็เหลาแบบเน้นเร็ว แต่ไม่ละเอียด มันก็สะท้อนไปถึงสนามเลยว่า เจ้าเด็กที่เหลาแบบเน้นเร็ว ก็จะไม่มีความละเอียดตอนแข่งขัน มันก็จะทำให้ผู้ฝึกสอนรู้จุดอ่อนจุดแข่งของนักกีฬาผ่านกิจกรรมเหล่านี้”

 

นอกจากวิชาตะกร้อแล้ว การใช้ชีวิตพอเพียงคืออีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้

“ต่อมาคือเรื่องการออกไปช่วงกลางคืน ให้เดินตามคันนา โดยแบ่งให้ออกไปทีมละ 3 คน โดย 1 ทีม มีไฟแค่ดวงเดียว คนนำก็ต้องนึกถึงคนข้างหลัง คนเดินตามก็ต้องมีสมาธิในการเดินตาม เพราะถ้าเดินไม่ดีก็จะตกคันนา มันก็จะช่วยปลูกฝังเด็กเหล่านี้ ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม ซึ่งมันก็จะส่งผลดีกับการเล่นตะกร้อ”

“หลายๆคนสงสัยว่าสิ่งเหล่านี้มันจะช่วยนักกีฬาได้อย่างไร ผมจะบอกว่า ในแต่ละครั้งที่ต้องออกไปปักเบ็ด เด็กกลุ่มนึงจะมีคันเบ็ดประมาณ 100 คัน และต้องเอาไปปักตามคันนา ซึ่งการปักที่ต้องลุกนั่ง ก็เหมือนพวกเขาได้ลุกนั่งไปโดยไม่รู้ตัว รวมไปถึงการเดินในแต่ละครั้ง ที่ก็ไม่ใช่ระยะทางสั้นๆ สรุปทั้งไปทั้งกลับในพื้นที่ที่เดินลำบาก มันก็ทำให้ได้ฝึกกำลังขา การฝึกสมาธิ ภายใต้การทำกิจกรรมที่ไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขากำลังออกกำลังกายอยู่”

“โดยการทำแบบนี้ เราไม่ได้ทำตลอด แต่จะทำหลังจากวันที่ซ้อมหนักมากๆ ซึ่งตามโปรแกรมผมจะให้นักกีฬาได้เสริมสร้างร่างกายหนักขึ้น แต่แทนที่จะให้ไปวิ่งหรือลุกนั่ง เราใช้กิจกรรมแบบนี้แทน มัน คือ การสร้างพละกำลังผ่านความสนุก “

“จุดเด่นของที่นี่ คือ การมีสายสัมพันธ์ที่ดีจากการใช้ชีวิตร่วมกัน เวลาเราจะทำกิจกรรมอะไร เราก็จะไปด้วยกันทั้งหมด ครูกับเด็กใช้ชีวิตร่วมกัน มีหลายครั้งในการแข่งขัน ที่ทีมเราแพ้ก่อนในเซตแรก มักจะกลับมาได้ในเซตที่สอง เพราะการใช้ชีวิตร่วมกันทำให้โค้ช เรียนรู้ว่านักกีฬาแต่ละคนแสดงออกมาอย่างไรบ้าง ผ่านสีหน้าแววตา และมันทำให้โค้ชรู้ว่าจะต้องแก้ไขจุดไหน”

“ในขณะที่ปลาที่จับมาได้ เราไม่ได้เอาไปขาย แต่เราจะเอาไปให้คนอื่นๆ เช่น การเอาไปให้คุณครูคนอื่นๆในโรงเรียน มันเป็นการปลูกฝังการให้แบบไม่ต้องการสิ่งตอบแทนให้กับพวกเขา”

ผลงานล่าสุดของทีมตะกร้อจ.มหาสารคาม กับ 2 เหรียญทองแดงที่คว้าได้

 

ในปัจจุบัน ทีมตะกร้อจากโรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม ถือเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่มีผลงานในกีฬาตะกร้อในระดับชั้นนำของประเทศไทย โดยสามารถสร้างนักตะกร้อไปสู่ระดับทีมชาติไทยได้อย่าง กฤษณพงศ์ นนทะโคตร รวมไปถึงดาวรุ่งที่กำลังมาแรงในตอนนี้ อย่าง ภูตะวัน โสภา และแน่นอนว่ารูปแบบของการสร้างนักกีฬาด้วยความเป็นอยู่แบบพอเพียง ผสมผสานกับการฝึกซ้อมที่เข้มข้นจะทำให้ทีมตะกร้อจากมหาสารคามแห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งทีมที่จะยังโลดแล่นต่อไปในวงการตะกร้อระดับเยาวชนได้อย่างแน่นอน