โลกปัจจุบันที่กำลังถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ข้อมูลจำนวนมากถูกสร้างขึ้นใหม่ทุกวันบนโลกที่ไร้ขอบเขต ซึ่งชุดข้อมูลหรือ “Data” ที่กระจายอยู่อย่างมหาศาลเหล่านี้ หากนำมาวิเคราะห์อย่างถูกต้องจะช่วยสร้างประโยชน์อย่างมากต่อภาคธุรกิจ สังคม และประเทศชาติ ในการพัฒนาองค์กรหรือสังคมในมิติต่างๆ ให้มีศักยภาพสูงสุดในยุคปัจจุบัน รวมถึงสามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อกำหนดแนวทางในการรับมือล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมได้มหาศาล จึงเป็นที่มาของอาชีพใหม่มาแรงในอุตสาหกรรมธุรกิจยุค 4.0 รวมถึงเป็นทักษะสำคัญของบุคลากรที่องค์กรยุคใหม่จำเป็นต้องมี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิฏิรัตน์ พิมลศรี ผู้อำนวยการหลักสูตรสถิติประยุกต์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เปิดเผยว่า ในยุคที่ทุกองค์กรมุ่งแข่งขันในการขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้าเพื่อสอดรับกับเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างกว้างขวางในทุกที่ทุกเวลา ส่งผลให้ทุกองค์กรต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้แนวโน้มธุรกิจต่างๆ ได้เข้าสู่ยุค Data Intelligence ทุก “ข้อมูล” ที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านการใช้งานสื่อออนไลน์ สามารถนำมาวิเคราะห์และวางแผนกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ ซึ่งการที่จะใช้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและถูกต้องแม่นยำ ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการข้อมูลแตกย่อยไปในแต่ละด้าน ทำให้อาชีพที่เกี่ยวข้องกับสายงานด้านสถิติและการวิเคราะห์ข้อมูล จึงเป็นที่ต้องการของตลาดมาโดยตลอด สวนทางกับจำนวนบุคลากรที่มีค่อนข้างจำกัด”
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ จึงมุ่งมั่นพัฒนาหลักสูตรสถิติประยุกต์ให้ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและโลกยุคใหม่ โดยหลักสูตรสถิติประยุกต์ของนิด้าได้นำประเด็นของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมมาบูรณาการระหว่างสาขาวิชา หรือ Multidisciplinary และการหลอมรวมเทคโนโลยี ซึ่งจะนำไปสู่นวัตกรรม ใหม่ๆ ในสังคมและเศรษฐกิจ โดยเน้นการประยุกต์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาขาวิชาสถิติ ที่ได้มีการเรียนการสอนที่เน้นฝึกปฏิบัติการใช้ข้อมูลจริงและการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการดำเนินงานและการตัดสินใจในองค์การมากขึ้น นอกจากนี้เราเล็งเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนองค์การด้วยข้อมูลและการปฏิบัติจริง เราจึงได้มีการเพิ่มสาขาวิชาเอก พลเมืองวิทยาการข้อมูล หรือ Citizen Data Sciences สำหรับสาขาวิชาเอกวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงเราได้มีการพัฒนาหลักสูตร ให้สอดคล้องกับการกำกับดูแลวิชาชีพโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ประกันภัย (คปภ.) และสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Society of Actuaries) ของต่างประเทศ เพื่อให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษามีคุณสมบัติและมีความสามารถในวิชาชีพเทียบเท่าระดับสากลได้
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสถิติประยุกต์ของ NIDA ประกอบด้วย 3 วิชาเอก ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศชาติ คือ วิชาเอกสถิติ วิชาเอกวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง และพลเมืองวิทยากรข้อมูล หลักสูตรได้รับการพัฒนาจากความสำคัญที่ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้โลกในปัจจุบันมีข้อมูลปริมาณมากและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต้องใช้ข้อมูลที่มีมากขึ้นทุกวันนี้มาประมวล และวิเคราะห์ให้เป็นสารสนเทศต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจ และทำให้เกิดปัญญาหรือ Intelligence ที่นำไปใช้ในการพัฒนาองค์การ สังคม เศรษฐกิจและประเทศชาติ อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศชาติได้
หลักสูตรนี้จึงมุ่งเน้นการสร้างมหาบัณฑิตที่มีทักษะและปัญญาเชิงวิเคราะห์ (Analytical Intelligence) โดยมีความรู้ความสามารถในด้านระเบียบวิธีวิจัย ระเบียบวิธีสถิติการวิเคราะห์ข้อมูล การบริหารความเสี่ยง และการประกันภัย รวมทั้งมีทักษะในการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ ตลอดจนแก้ไขและตอบปัญหาทางธุรกิจ การเงิน การประกันภัย อุตสาหกรรม สังคม และเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยและโลกอย่างยั่งยืน ในการวางแผนหลักสูตรจึงมีการนำประเด็นดังกล่าวข้างต้นมาพิจารณา เพื่อมุ่งสู่การเป็นหลักสูตรชั้นนำในระดับประเทศ ที่ผลิตมหาบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศด้านสถิติประยุกต์ มีศักยภาพและทักษะในการประยุกต์ระเบียบวิธีสถิติการวิเคราะห์ข้อมูล การประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง และอื่นๆ รวมทั้งมีความสามารถในการใช้สารสนเทศและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง มีทักษะในการสื่อสารทาง สังคม และเป็นผู้มีคุณธรรมสู่สังคมและประเทศ
“สำหรับหลักสูตรสถิติประยุกต์ ที่ NIDA นั้น เรามุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนในเชิงประยุกต์ โดยบุคลากรทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์สูงมากในการทำงานให้กับภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน และบุคลากรของเรานั้นยังมีเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งระดับประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นนักศึกษาจะมีโอกาสได้มีประสบการณ์ในการทำวิจัยโดยใช้ข้อมูลจริงก่อให้เกิดทักษะการใช้ความรู้สู่การประยุกต์ได้ เช่น ที่ผ่านมานักศึกษาหลายคนได้มีโอกาสทำวิจัยโดยใช้ข้อมูลจากโครงการสำรวจด้านสุขภาพ การสูงอายุ และการเกษียณในประเทศไทย (Health, Aging, and Retirement in Thailand: HART) ที่ NIDA มีความร่วมมือกับ Institute for Social Research (ISR), University of Michigan ซึ่งเรื่องของผู้สูงอายุก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม และเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทยด้วย นอกจากนั้นนักศึกษายังได้มีประสบการณ์ในการเรียนรู้การใช้โปรแกรมทางด้านสถิติต่างๆ ในการประมวลผลข้อมูล หรือนักศึกษาสามารถเลือกเรียนวิชาเรียนที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือเลือกที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับ Machine Learning ได้ด้วยโดยนักศึกษาจะมีข้อได้เปรียบคือมีความรู้พื้นฐานทางด้านสถิติที่ดี”
“ด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีปัจจุบันนี้มีเครื่องมือต่างๆ มาช่วยเราประมวลผลข้อมูลได้มากขึ้นเยอะ ดังนั้นเราจึงมีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการประยุกต์มากขึ้นได้ ทั้งนี้ก็เพื่อตอบสนองต่อการใช้งานจริงในปัจจุบัน แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทฤษฎีนั้นเป็นพื้นฐานของความรู้อันนำไปสู่ความเข้าใจและการประยุกต์ใช้ที่ถูกต้อง ดังนั้นเราจะละเลยส่วนนี้ก็ไม่ได้ แต่เราก็พยายามย่อยให้ง่ายขึ้น และเน้นการปฏิบัติมากขึ้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิฏิรัตน์ กล่าวเสริม
สำหรับโอกาสในการนำความรู้ด้านสถิติประยุกต์ไปใช้ต่อยอด เรามักจะเห็นผู้บริหารระดับสูงหลายๆ องค์การสำเร็จการศึกษาด้านสถิติ แสดงให้เห็นว่าการผลิตมหาบัณฑิตให้มีความสามารถ หรือทักษะในคิดเชิงระบบและมีเหตุผลโดยใช้สารสนเทศที่ดีจากการวิเคราะห์ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ ย่อมทำให้บุคลากรเหล่านั้นสามารถอยู่ในองค์กรได้อย่างเติบโต อย่างอาชีพที่เรามุ่งผลิตมหาบัณฑิตสู่ตลาดส่วนใหญ่จะเน้นทางสายอาชีพ ครู อาจารย์ด้านสถิติ นักวิชาการด้านสถิติ นักวิจัย นักวิเคราะห์ข้อมูล นักวิทยาการข้อมูล นักนโยบายและแผน นักคณิตศาสตร์ประกันภัย เจ้าหน้าที่และผู้บริหารด้านการประกันภัย การบริหารความเสี่ยง เหล่านี้เป็นต้น จะได้ว่าบุคลากรเหล่านี้มีอยู่ในหลากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน หรือรัฐวิสาหกิจก็ตาม นอกเหนือจากการประกอบอาชีพหลักแล้วเรายังสามารถนำความรู้ด้านสถิติประยุกต์ไปใช้ในการพิจารณาลงทุนในหุ้น หรือการลงทุนต่างๆ ด้วย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเรียนสถิติทำให้เกิดความคิดเชิงระบบ และสามารถใช้ข้อมูลในการตัดสินใจได้ค่อนข้างดี
“หากต้องการเติบโตและอยู่รอดในโลกอนาคตที่อยู่ในยุคของข้อมูลและการวิเคราะห์ ต้องหมั่นศึกษาและประยุกต์ใช้ข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์มากที่สุด” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิฏิรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งหมดนี้คือหลักสูตรสถิติประยุกต์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ที่ผู้พัฒนาและดูแลหลักสูตร มั่นใจว่าเป็นหลักสูตรที่พร้อมจะผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ สนับสนุนการตัดสินใจและนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในวันนี้ และตอบโจทย์เมกะเทรนด์ในอนาคตอย่างแท้จริง ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและสมัครเรียนได้ที่ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โทรศัพท์ 02-727-3035-40
Facebook: Graduate School of Applied Statistics, NIDA Applied Statistics at NIDA