รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ตามนโยบายรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทั้งระยะที่ 1 และ 2 ประชาชนพึงพอใจเกือบ 100% ยกระดับการบริการ อำนวยความสะดวก ไม่ต้องรอคิว รอรับยา ตรวจเสร็จรับยาที่บ้านผ่าน Health Rider เตรียมเชื่อมโยงระบบเข้าระยะที่ 3 ใน 6 เขตสุขภาพในเดือน พ.ค.นี้ ก่อนเข้าสู่ระยะที่ 4 ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2567
วันที่ 2 เมษายน 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึง การขับเคลื่อน “นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระยะที่ 2” ซึ่งเป็นไปตามไทม์ไลน์ การขับเคลื่อนของรัฐบาลว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการตามไทม์ไลน์ ตั้งแต่ระยะที่ 1 เริ่มไปแล้วเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส, ระยะที่ 2 นำร่อง 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา และระยะที่ 3 ในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะเพิ่มเป็น 6 เขตสุขภาพ จากนั้นระยะที่ 4 ขยายครอบคลุมทั้งประเทศภายในปี 2567
สำหรับระยะที่ 2 ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ใน 8 จังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดเป็นตัวแทนของแต่ละเขตสุขภาพ โดยเพชรบูรณ์ เป็นตัวแทนของเขตสุขภาพที่ 2,นครสวรรค์ เป็นตัวแทนของเขตสุขภาพที่ 3, สิงห์บุรี เป็นตัวแทนของเขตสุขภาพที่ 4, สระแก้ว เป็นตัวแทนของเขตสุขภาพที่ 6, หนองบัวลำภู เป็นตัวแทนของเขตสุขภาพที่ 8, นครราชสีมา เป็นตัวแทนของเขตสุขภาพที่ 9, อำนาจเจริญ เป็นตัวแทนของเขตสุขภาพที่ 10 และพังงา เป็นตัวแทนของเขตสุขภาพที่ 11
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ทั้งหมดให้บริการประชาชนแล้ว 100% โดยได้เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Personal Health Record: PHR) ของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขครบทุกแห่งและทุกกองทุนสุขภาพ ปัจจุบันมีหน่วยบริการในสังกัด สป. สธ. 893 แห่ง จาก 902 แห่งทั่วประเทศ (ร้อยละ 99.7) ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการพัฒนาโครงสร้างเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ มีการเชื่อมต่อ Application และไลน์ หมอพร้อม ทั่วประเทศแล้ว กว่า 40 ล้านคน มีการนัดหมายและดำเนินการบริการระบบการแพทย์ทางไกล 55,446 ครั้ง ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล 81,317 ใบ มีการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์โดย Health Rider 55,376 ออเดอร์ ซึ่งกว่าร้อยละ 90 ของผู้รับบริการมีความพึงพอใจในระดับดีมาก
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า โดยผลสำรวจความพึงพอใจการรับบริการรับส่งยา จาก Health Rider ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 22 มีนาคม 2567 พบว่า ภาพรวมพึงพอใจสูงมากทุกมิติ แบ่งเป็น ด้านความรวดเร็วร้อยละ 99.2 ด้านเจ้าหน้าที่ส่งยาพูดจาสุภาพร้อยละ 99.5 ความสมบูรณ์ของพัสดุ 100 เปอร์เซ็นต์ และช่วยลดระยะเวลารอคอยร้อยละ 99.5 ที่สำคัญร้อยละ 98.7 เห็นว่าโครงการนี้มีประโยชน์ ช่วยลดความแออัดในการรอรับยาที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกได้ โดยปัจจุบันมีหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 188 แห่ง มีอสม. และบุคลากรสาธารณสุข ที่เข้าร่วมโครงการ 1,512 คน ให้บริการส่งยาถึงบ้าน 94,689 ครั้ง ส่งยาเป็นพัสดุ 43,745 ครั้ง และส่งยาด้วย Health Rider 50,944 ครั้ง หรือคิดเป็นร้อยละ 53.8
สำหรับเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ ได้สั่งการให้โรงพยาบาล หน่วยบริการทุกแห่งยกระดับการป้องกันและสร้างความปลอดภัยขั้นสูงสุด รองรับไปสู่การขยายบริการตามนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวไปสู่ระยะที่ 3 ในช่วงเดือนพฤษภาคม จะครอบคลุม 45 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เพชรบูรณ์ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด สระแก้ว อำนาจเจริญ และพังงา
จากนั้นก็จะเข้าสู่ระยะที่ 4 โดยเป้าหมายต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลครอบคลุมทั้งประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการของประชาชน และอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลทุกคน
ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ยังได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อยกระดับความปลอดภัยไซเบอร์
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกันในการยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อรองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ล่าสุดได้ร่วมมือกันในการจัดทำโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งเป็นระบบที่มีการป้องกัน และมีความปลอดภัยเป็นอย่างดี อย่างอดีตในการเก็บข้อมูลสุขภาพกรณีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นการบันทึกข้อมูลผ่านระบบธรรมดา แต่ครั้งนี้จะรวมอยู่ในระบบศูนย์กลางที่เรียกว่า คลาวด์กลาง ซึ่งจัดเก็บในพื้นที่ที่ปลอดภัย สิ่งเหล่านี้จะช่วยคุ้มครองข้อมูลของประชาชนได้เป็นอย่างดี
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับ 8 จังหวัดขับเคลื่อนงานตามนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา พบว่า Health Rider เป็นสิ่งที่ประชาชนพึงพอใจมาก โดยข้อดีคือ ประชาชนไม่ต้องรอยานาน เพราะที่ผ่านมาจุดที่เป็นคอขวดของระบบบริการสาธารณสุขคือห้องยา เนื่องจากห้องตรวจสามารถขยายหลายห้องได้ แต่ห้องยา ขยายหลายห้องไม่ได้มากนัก จึงเป็นคอขวดที่ประชาชนต้องใช้เวลาจุดนั้นค่อนข้างนาน เมื่อมีระบบตรวจวินิจฉัยเสร็จ สามารถกลับบ้านได้โดยไม่ต้องรอยา แต่มีคนนำส่งยาให้ก็ทำให้เกิดความพึงพอใจ โดยประชาชนสามารถเอาเวลารอยา ไปทำอย่างอื่นได้
“ขณะนี้ขยายการบริการจัดส่งยา Health Rider ไปแล้วกว่า 31 จังหวัด อีกไม่นานจะสามารถขยายครอบคลุมทั่วประเทศ หมายความว่า ไม่ต้องรอว่าจังหวัดตัวเองจะอยู่ในเฟสไหนของนโยบาย หากมีความพร้อมสามารถขับเคลื่อนได้เลย” ปลัดสธ.กล่าว
อนึ่งจากแผนการดำเนินงานตามนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ตั้งแต่ระยะที่ 1 -3 จะมีการเชื่อมข้อมูลสุขภาพผ่านระบบคลาวด์กลาง ทุกเครือข่าย ทั้งรัฐและเอกชนที่เข้าร่วม