การเข้าถึงการศึกษาระดับอาชีวะ และการศึกษาที่มีการฝึกฝนการปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆ กัน ทำให้เยาวชนที่กำลังเติบโตมีความพร้อมที่จะเป็นบุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญของชาติที่มีคุณภาพในอนาคต แนวคิดดังกล่าวเป็นหลักการสำคัญในการก่อตั้ง “วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ” ณ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่เปิดโอกาสให้เยาวชนจากครอบครัวคนธรรมดาทั่วไปจากทุกภาคของประเทศที่ประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลาน สามารถเข้าถึงการศึกษาได้โดยได้รับทุนเรียนจนจบการศึกษาระดับปวช. และ ปวส.โดยเท่าเทียมกัน
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานคณะกรรมการบริหาร วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ เล่าว่าย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ ได้จัดตั้งขึ้นโดยความริเริ่มของพระเดชพระคุณพระภาวนาโพธิคุณ (อาจารย์โพธิ์) เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหลสวนโมกขพลาราม ซึ่งมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ที่มุ่งให้มีสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนธรรมะควบคู่กับการสอนวิชาชีพในระดับอาชีวศึกษา หลักสูตร ปวช. และ ปวส. ตามแนวทางของท่านพุทธทาส โดยจัดระบบเป็นโรงเรียนประจำ ที่นักศึกษาทุกคนได้พักอาศัยในหอพักของวิทยาลัย ที่มีบรรยากาศเอื้อต่อการเรียนและการปฏิบัติธรรม ทำวัตรเช้า-เย็น ฝึกสมาธิ ฟังธรรมทุกวัน เน้นระบบที่นักศึกษามีโอกาสได้รับการอบรม และการฝึกฝนทักษะวิชาชีพถึงขั้นเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง โดยเรียนภาคทฤษฎีในวิทยาลัยและมีเวลาไปเรียนภาคการปฏิบัติในสถานประกอบการที่มีอาจารย์ผู้สอนเป็นผู้บริหารและหัวหน้างานที่เป็นมืออาชีพในสาขาต่างๆ อีกด้วย
“ผมและพี่น้องมวลมหาประชาชน มีความคิดเห็นร่วมกัน ในอันที่จะผลักดันการปฏิรูปการศึกษา ในทุกระดับ โดยเฉพาะในระดับอาชีวะ ซึ่งท่านเจ้าอาวาสวัดสวนโมกข์ ได้ปรารภกับผมในขณะที่ผมบวชปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดสวนโมกข์ว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุได้เทศนาสอนไว้หลายสิบปีมาแล้วว่าการศึกษาของบ้านเรายังไม่สมบูรณ์ เราต้องไม่สอนแต่วิชาการ แต่ต้องสอนธรรมะให้เยาวชนให้ได้รับการอบรม การปฏิบัติธรรมด้วย อาจารย์โพธิ์ต้องการเห็นโรงเรียนแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนอาชีวะ เพราะอาจารย์เห็นว่าผู้ที่เรียนอาชีวะ คือ ผู้ที่จะเป็นกำลังหลักในการทางานในประเทศ ถ้าเขาเป็นคนดี เป็นคนเก่ง ประเทศก็ได้กำไร เมื่อท่านปรารภอย่างนั้น ผมก็ได้กราบเรียนว่า ผมและมวลมหาประชาชนจะร่วมกันสร้างโรงเรียนแบบนี้ ที่เป็นโรงเรียนต้นแบบตามที่ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุได้เทศนาสอนไว้ และขออนุญาตใช้ชื่อสมณศักดิ์ของท่านอาจารย์โพธิ์เป็นชื่อวิทยาลัย” นายสุเทพเล่าที่ไปที่มาของสถานศึกษาที่สอนธรรมะควบคู่กับการสอนวิชาชีพแห่งนี้
จากแนวคิดดังกล่าว นำมาสู่หลักการดำเนินการของวิทยาลัยฯ ตั้งแต่เริ่มต้นที่จัดระบบเป็นโรงเรียน ประจำ (Boarding school) เพื่อให้เกื้อกูลต่อการอบรม ปฏิบัติธรรม โดยได้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นในวิทยาลัย มีพระคุณเจ้าจำพรรษาประจำ จำนวน 5 รูป ทำหน้าที่ในการสอนธรรมะ และได้น้อมนำปรัชญาพระราชทาน “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้นักศึกษาและอาจารย์ยึดถือปฏิบัติเป็นวิถีชีวิต ร่วมกันทำนา ปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา เพาะเห็ด ปลูกพืชสมุนไพร ฯลฯ และใช้พื้นที่ของวิทยาลัยในการสาธิต เพื่อส่งเสริมอาชีพ เพิ่มพูนรายได้ของครอบครัว ประชาชน ด้วยองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และมีโครงการก่อสร้างศูนย์ศึกษาเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่สมบูรณ์แบบ เพื่อเป็นการรักษา สืบสาน และต่อยอด “เศรษฐกิจพอเพียง” ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสนองพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการยกฐานะเศรษฐกิจครอบครัวของประชาชน ตามยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy รวมทั้งพัฒนาขนาดและรูปแบบของกิจการด้านการประกอบอาชีพ ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็น Smart Farming และใช้สถานที่ของวิทยาลัยสำหรับการอบรมหลักสูตรพิเศษเพื่อส่งเสริมอาชีพแก่ครอบครัวประชาชนทั่วไป
“ที่นี่เราสอนให้เด็กๆ ร่วมกันรับผิดชอบในการบริหารจัดการวิทยาลัยทั้งหมด โดยไม่มีภารโรง ไม่มีนักการ วิทยาลัยนี้คือวิทยาลัยของทุกคน เราหวังที่จะให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ฝึกฝนตนเอง ให้เป็นผู้มีความรับผิดชอบ และมีจุดมุ่งหมายในชีวิต เพราะฉะนั้นเด็กที่จบจากที่นี่ นอกจากเป็นคนดี มีความเป็นมืออาชีพ มีคุณธรรมแล้ว ยังมีทักษะในการใช้ชีวิตที่สามารถไปทำงานได้ทุกแห่ง และมีจิตใจที่พร้อมจะสู้งานหนักได้อีกด้วย” นายสุเทพ กล่าว
ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน วิทยาลัยฯ มีหลักดำเนินการที่ตั้งอยู่บน 4 แกนหลัก ประกอบด้วย หลักที่ 1 คือ การสอนวิชาชีพอย่างจริงจังทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ให้เด็กของเราทั้งเก่งและดี “เก่ง” คือ เป็นมืออาชีพที่จะออกไปทำงานให้สังคม และองค์กรต่างๆ ส่วน “ดี” คือสอนให้เป็นคนดี มีศีลธรรม ดังนั้น วิทยาลัยฯ จึงให้น้ำหนักทั้งเรื่องวิชาชีพ และเรื่องธรรมะเท่ากัน สอนวิชาชีพและฝึกฝนการปฏิบัติธรรมควบคู่กัน หลักที่ 2 คือ ประเทศไทยต้อง “ลงทุนในการสร้างคน” มืออาชีพที่จะออกไปทำงาน คำว่า “ลงทุน” หมายความว่า ต้องจัดระบบให้เรียนฟรี นักศึกษาจะได้มีกำลังใจมาเรียน ถือว่ารัฐเป็นผู้ลงทุนสร้างคนเหล่านี้ เพื่อออกไปรับใช้สังคม หลักที่ 3 เราต้องการให้มืออาชีพเหล่านี้เป็นคนดี มีศีลธรรม เป็นคนที่ยึดหลักวิถีชีวิตที่มี “ความพอเพียง” ตามแนวทางที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้แก่ ชาวไทย เขาจะได้เป็นคนที่ไม่มีความทุกข์ ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข อย่างพอเหมาะ พอเพียงตามอัตภาพ และใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังตามหลักศาสนา และหลักที่ 4 คนของเราต้องมี เป็นผู้มี “ความรับผิดชอบ” โดยยึดหลักการพึ่งตัวเอง มีความเพียร มานะบากบั่น สู้งานหนัก ทำงานได้ทุกอย่างไม่กลัวงานหนัก
ปัจจุบันวิทยาลัยฯ เปิดดำเนินการมาแล้วเป็นปีที่ 6 โดยมีนักศึกษาที่จบ ปวช.รุ่นแรก จำนวน 100 คน รุ่นที่ 2 จบ ปวช. 110 คน ในปีนี้ (2565) เป็นปีแรกที่นักศึกษาของวิทยาลัยฯ เรียนจบ ปวส. จำนวน 28 คน บางส่วนได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี บางส่วนเข้าทำงานในสถานประกอบการต่างๆ ที่น่าดีใจคือมีนักศึกษาของวิทยาลัยฯ จำนวน 23 คน สามารถสอบได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศจีน ที่มีการสอบสัมภาษณ์เป็นภาษาจีน อันเป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า หลักการและแนวทางการดำเนินการต่างๆ ที่วิทยาลัยนำมาใช้กับเด็กๆ นั้นมาถูกทิศถูกทาง และสัมฤทธิ์ผล
อย่างไรก็ตาม ด้วยปรัชญาการก่อตั้งวิทยาลัยฯ ที่ต้องการให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษา โดย ที่ผู้ปกครองไม่ต้องแบกภาระค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน ในทุกปีวิทยาลัยฯ จึงได้จัดให้มีกิจกรรมการระดมทุน โดยจัด “วันทอดผ้าป่าสามัคคีมหากุศลเพื่อการศึกษา” ปีละหนึ่งครั้ง เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธา ผู้ใจบุญ ตลอดจนผู้ที่มองเห็นอนาคตทางการศึกษาของประเทศที่สมควรจะดำเนินการไปในแนวทางนี้ ได้มีโอกาสร่วมบริจาคเงินทุนเพื่อการศึกษา โดยมีสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (เจ้าประคุณสมเด็จธงชัย วัดไตรมิตร) ซึ่งเป็นผู้รับอุปการะวิทยาลัยฯ เป็นประธานในการจัดทอดผ้าป่าให้ทุกปี
“วิทยาลัยแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของผู้ใจบุญทั้งหลาย นับตั้งแต่การซื้อที่ดิน การสร้างอาคารพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ มีหอพักให้นักศึกษาอยู่ประจำ มีอาหารการกิน ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ทางการศึกษาอย่างครบครัน ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และเป็นการจูงใจให้เยาวชนจากทุกภาคได้เข้ามาเรียนอาชีวะ ซึ่งเป็นหัวใจที่สาคัญในการพัฒนาบุคลากรมืออาชีพในอนาคต” นายสุเทพ ย้ำ
สำหรับปีนี้ สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (เจ้าประคุณสมเด็จธงชัย วัดไตรมิตร) ได้กำหนดเป็นประธานจัดทอดผ้าป่ามหากุศล เพื่อการศึกษา ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม 2565 เวลา 10.00 น. โดย ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส
เพื่อสานต่อโอกาสของเด็กและเยาวชนจากทั่วประเทศ ทางวิทยาลัยฯ ขอเชิญชวนผู้ใจบุญร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ทำบุญเพื่ออนาคตของเยาวชน ร่วมกับสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (เจ้าประคุณสมเด็จธงชัย วัดไตรมิตร) ในการทอดผ้าป่ามหากุศลเพื่อการศึกษาในครั้งนี้ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bbvc.ac.th โดยผู้บริจาคสามารถโอนเงินเข้าบัญชี “วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ” ได้โดยตรงที่ ธนาคาร กสิกรไทย สาขาสุขุมวิท 6 เลขที่บัญชี 637-1-01722-2 หรือ ติดต่อสอบถามหรือแจ้งข้อมูลการบริจาคเพื่อรับใบเสร็จ ซึ่งสามารถลดหย่อนภาษีได้สองเท่า ได้ที่ โทรศัพท์ 02 653 2952-3, 062 892 3425, 062 892 3419 หรือ E-mail : donate.bbvc@gmail.com หรือ LINE ID : @BBVC
“ผมขอกราบเรียนเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกันสร้างโอกาสแห่งชีวิตให้นักศึกษาจากทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาตนเองเป็นมืออาชีพ ที่มีคุณภาพและยึดมั่นในหลักคุณธรรม เพื่ออนาคตของเด็ก เยาวชนไทย และอนาคตของประเทศในระยะยาว” นายสุเทพ กล่าวทิ้งท้าย บอกบุญ