การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ( ททท.) ได้ศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มทางการท่องเที่ยว ตลอดจนความต้องการของนักท่องเที่ยวที่นิยมความหรูหรา หรือ Luxury Tourism และพบทิศทางใหม่ที่นักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้ให้ความสำคัญ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสที่ดีให้กับการท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ
นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลพบว่า รูปแบบการท่องเที่ยวหรูหราทั่วโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าสนใจ โดยมีองค์ประกอบ 3 ประการที่กำหนดนิยามใหม่ให้กับการท่องเที่ยวแบบหรูหรา คือ Slow, Special และ Story
Slow คือ การท่องเที่ยวแบบสบาย ๆ ไม่ต้องเร่งรีบ มีส่วนร่วมกับประสบการณ์นั้น ๆ อย่างแท้จริง, Special คือ สินค้าและบริการที่มีความเป็นส่วนตัว และความรู้สึก ‘พิเศษ’ ได้รับคุณค่าอย่างเต็มที่ และ Story คือ เรื่องราว เป็นการให้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า หรือบริการ ที่ไม่สามารถหาได้ทั่วไป ทำให้เกิดความเต็มใจจ่ายมากขึ้น
รองผู้ว่าการ ททท. ด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า นักท่องเที่ยวลักซูรีในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มคนที่ร่ำรวยมาก ๆ แต่งานวิจัยพบว่า คนรุ่นมิลเลนเนียล ยุคดิจิทัล เป็นกลุ่มสำคัญที่ชอบท่องเที่ยวแบบ ลักซูรีและเต็มใจจ่ายเพื่อประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต
“ที่สำคัญ คนกลุ่มนี้ยังเดินทางบ่อยกว่าคนรุ่นก่อน ๆ และใช้โซเชียลมีเดียเป็นแรงบันดาลใจในการท่องเที่ยวแบบลักซูรี” ทั้งนี้ สื่อสังคมออนไลน์จะยิ่งช่วยขยายขอบเขตความสนใจการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง
พร้อมกันนี้ ได้สรุปความต้องการเชิงลึกของนักท่องเที่ยวกลุ่มลักซูรีออกเป็น 11 หัวข้อ คือ
1) ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการท่องเที่ยว
2) Personalized Travel เต็มใจจ่ายมากขึ้นเพื่อกิจกรรมที่ปรับอย่างเหมาะสมแบบเฉพาะบุคคล
3) ต้องการความยืดหยุ่นและลดความกังวลในการเดินทางในด้านต่างๆ
4) โปรแกรมท่องเที่ยวที่กำหนดได้เอง และมีความเป็นส่วนตัว
5) ต้องการสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เชื่อมต่อกับชุมชนท้องถิ่น วิถีชีวิตด้วยการลงมือทำจริง
6) Wow Factor มีการแชร์ไลฟ์สไตล์ผ่าน Instagram มากขึ้น เพื่อแสดงรสนิยมสุดหรู
7) ต้องการการใส่ใจในรายละเอียดเพื่อทำให้รู้สึกพิเศษและประทับใจ
8) Hidden Gems ต้องการไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ค่อยมีคนรู้จัก
9) A Sense of Place เน้นที่พักที่สะท้อนความเป็นตัวเอง มีเอกลักษณ์ จำกัดจำนวนผู้เข้าพัก
10) Exclusive escapes สถานที่ส่วนตัวแยกจากโลกภายนอก และเทรนด์ WFH หรือ Work From Anywhere
11) Ed-ventures เรียนรู้ พัฒนาทักษะใหม่ ๆ จากผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล
ททท. จึงเล็งเห็นแนวทางพัฒนาสินค้ากลุ่มลักซูรี โดยอ้างอิงจาก MMGY NextFactor บริษัทที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมการท่องเที่ยวที่วิเคราะห์และวิจัยเทรนด์การท่องเที่ยวที่ส่งอิทธิพลไปทั่วโลก
ซึ่งได้กำหนด “The 5 C’s of Luxury Travel” ประกอบด้วย Culture, Cuisine, Community, Content และ Customization
- Culture ประสบการณ์เกี่ยวกับศิลปะ วัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์
- Cuisine ประสบการณ์ด้านอาหาร เครื่องดื่ม ทั้งการรับประทานและการปรุง
- Community ประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับผู้คนในสังคม ชุมชน
- Content ต้องนำเรื่องราวที่เป็นจริง แสดงอัตลักษณ์โดดเด่นอย่างแตกต่าง ไม่ปรุงแต่ง
- Customization เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวลักซูรี เน้นความเป็นอิสระและแตกต่าง ต้องการโปรแกรมเฉพาะ ไม่เหมือนทัวร์ทั่วไป
จากการสรุปความต้องการเชิงลึก และการประเมินทิศทางการท่องเที่ยวในกลุ่มลักซูรี ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ในปัจจุบันนี้ ททท.คาดหวังและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวพัฒนารูปแบบสินค้าและบริการให้สอดคล้อง และตอบโจทย์กับทิศทางการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสและสร้างความได้เปรียบให้กับการท่องเที่ยวในประเทศได้เป็นอย่างดี