มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ แพทยสภา สถาบันพระปกเกล้า กระทรวงสาธารณสุข นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 9 (ปธพ.9) และ จังหวัดราชบุรี ร่วมจัดทำ “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้งที่ 5 ประจำปี 2565” ระหว่างวันที่ 24 – 26 มิถุนายน 2565 นำทีมแพทย์อาสาและจิตอาสา กว่า 500 คน เปิดคลินิกเฉพาะทางสาขาต่าง ๆ จำนวน 30 คลินิก ตั้งเป้าหมายให้บริการตรวจรักษาประชาชนในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ฟรี! กว่า 19,000 คน ตลอดเดือนมิถุนายน โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา, นายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี, ศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และนักศึกษา ปธพ. 9 ร่วมเปิดงาน
สำหรับหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) ของแพทยสภา ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า มีที่มาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 “อ่อนน้อมถ่อมตน ทุกคนมีดี อย่าดูถูกใคร” นำหลักธรรมาภิบาล มาเป็นหลักในการสร้างหลักสูตร และจัดกิจกรรมแพทย์อาสา ดังนั้นภารกิจที่สำคัญ คือการให้บริการตรวจรักษาคนไข้ เพื่อย่นย่อระยะเวลาในการรอคอยเข้ารับการรักษาโรคเฉพาะทางของผู้ป่วย ในการดำเนินงานครั้งนี้มีแพทย์จิตอาสา เข้าร่วมในโครงการกว่า 400 คน มาจากคณะแพทยศาสตร์ 25 แห่ง ราชวิทยาลัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 15 แห่ง แพทย์จากภาครัฐ แพทย์จากเหล่าทัพทั้ง 4 แห่ง ตลอดจนแพทย์จากภาคเอกชน โครงการจะมีคลินิกแพทย์เฉพาะทางสาขาต่าง ๆ จำนวน 30 คลินิก ได้แก่ คลินิกหัวใจและหลอดเลือด
, คลินิกส่องกล้องทางเดินอาหาร, คลินิกมะเร็งเต้านม, คลินิกกระดูกและข้อ, คลินิกศัลยกรรมทั่วไป และทางเดินปัสสาวะ, คลินิกเด็ก, คลินิกหู คอ จมูก, คลินิกทันตกรรม, คลินิกคัดกรองโรคปอด, คลินิกวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น
โอกาสนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ กล่าวว่า “มูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อโครงการฯ และดำเนินการโดยนักศึกษาหลักสูตรปธพ.9 ตามแนวคิดภายใต้หลักการ “นำหมอไปหาคนไข้” เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย ลดภาระของผู้ป่วยในการเดินทางเข้ายังเมืองและนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยไปถ่ายทอดให้กับแพทย์ในต่างจังหวัดพร้อมทั้งการนำเครื่องมือระดับสูงต่าง ๆ ที่พื้นที่ขาดแคลนเพื่อลงไปช่วยในการวินิจฉัย ตรวจรักษาและคัดกรองโรคและนำไปสู่ความเชื่อมโยงประสานงานความช่วยเหลือแบบเครือข่ายทั้งในพื้นที่จังหวัดเดียวกันแต่คนละสังกัด ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกับ 4 เสาหลักทางการแพทย์ในหลักสูตรปธพ. คือ 1. อาจารย์โรงเรียนแพทย์ 2. แพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข 3. แพทย์ทหาร ตำรวจและภาครัฐอื่น 4. แพทย์ภาคเอกชน”
ด้าน พลอากาศตรี นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์และเลขาธิการแพทยสภา เผยว่า “มูลนิธิฯ มีการดำเนินโครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ อย่างต่อเนื่องมาตลอด 9 ปี ซึ่งนับเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง สามารถให้บริการผู้ป่วยไปแล้วมากกว่า 60,000 รายและสำหรับปี 2565 นี้ นับเป็นการออกหน่วยแพทย์อาสาครั้งที่ 5 ในรัชกาลปัจจุบัน และเป็นครั้งที่ 10 ของนักศึกษา ปธพ. เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับการบริการทางด้านสาธารณสุขอย่างครบวงจรโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางของแพทยสภาและบุคลากรทางสาธารณสุข
ส่งผลให้ประชาชนได้รับความรู้ตลอดจนการฝึกปฏิบัติการต่าง ๆ ในการดูแลตนเองได้ ถือว่าเป็นการกระจายโอกาสในการเข้าถึงการรักษาในระดับตติยภูมิให้กับประชาชนในต่างจังหวัด ดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคซับซ้อนที่ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้โดนต้องเดินทางไกลเข้ากรุงเทพเพื่อรอคอยคิวพบแพทย์ที่ยาวนาน โครงการนี้จึงตั้งเป้าหมายให้คิวการรักษาโรคยากให้เหลือเป็นศูนย์ โดยเริ่มจากการสำรวจ การคัดกรองผู้ป่วยในพื้นที่ เพื่อหาผู้ป่วยที่ตกค้างและส่งทีมแพทย์เข้าไปเพื่อทำการรักษา ภายใต้หลัก “อ่อนน้อมถ่อมตน ทุกคนมีดี อย่าดูถูกใคร” ตามที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำรัสไว้ให้แก่วงการแพทย์ไทย”
ในฐานะประธานนักศึกษาปธพ.9 พลตำรวจโท นพ.วิฑูรย์ นิติวรางกูร กล่าวว่า “โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ ถือเป็นการผนึกกำลังของบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดทั้งจิตอาสาจากภาครัฐและภาคเอกชน นับเป็นการออกหน่วยแพทย์ขนาดใหญ่ระดับประเทศ ระดมแพทย์กว่า 400 คน มาจากคณะแพทยศาสตร์ ราชวิทยาลัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จากเหล่าทัพทั้ง 4 แห่ง แพทย์จากภาครัฐและแพทย์จากภาคเอกชน
สำหรับรายละเอียดการออกหน่วยแพทย์ฯ ครั้งนี้ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ดิลก ภิยโยทัย ประธานหน่วยแพทย์อาสาฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “เนื่องจากครั้งนี้เป็นการออกหน่วยแพทย์ขนาดใหญ่ ตรวจรักษาประชาชนชาวจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีเป้าหมายกว่า 19,000 คน ยังมีกิจกรรมจากอีกหลายหน่วยงาน ที่ผนึกกำลังร่วมแรงร่วมใจร่วมสนับสนุน โดยผู้ที่มารับบริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ในการจัดเตรียมสถานที่ กิจกรรมบนเวที อาหาร เครื่องดื่ม การเดินทาง ที่พัก การจัดงานพิธีเปิด การประชาสัมพันธ์ และการจัดเก็บข้อมูลเพื่อการประเมินผลโครงการ เป็นภารกิจของนักศึกษาในหลักสูตร ปธพ.9 ฝ่ายสนับสนุนแพทย์อาสา ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหารระดับสูงที่เป็นข้าราชการ สังกัดกระทรวงต่างๆ และภาคเอกชนจากหลากหลายสาขาอาชีพ ร่วมด้วยช่วยกันดูแลจนสามารถมอบบริการทางการแพทย์ให้กับผู้เข้ารับการรักษา ได้ครบถ้วน
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม ร่วมกันห่มผ้าพระธาตุ มีพระสงฆ์ร่วมสวดเจริญพระพุทธมนต์ ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดราชบุรี เพื่อความเป็นสิริมงคล อีกด้วย คุณยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ผู้แทนหน่วยสนับสนุนแพทย์อาสาฯ ได้กล่าวเพิ่มเติม ในช่วงเช้ามีประกอบพิธีบวงสรวงที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จังหวัดราชบุรี พร้อมออกหน่วยแพทย์อาสาสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ให้บริการพระสงฆ์ เณร แม่ชี จำนวนกว่า 682 รูป ก่อนออกหน่วยแพทย์อาสาใหญ่พร้อมกันทั้ง 30 คลินิก
โครงการมีคลินิกแพทย์เฉพาะทางสาขาต่าง ๆ จำนวน 30 คลินิก ได้แก่
- คลินิกหัวใจและหลอดเลือด
- คลินิกส่องกล้องทางเดินอาหาร
- คลินิกมะเร็งเต้านม
- คลินิกกระดูกและข้อ
- คลินิกคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีและสุขภาพตับ
- คลินิกจักษุ
- คลินิกโรคหลอดเลือดสมอง
- คลินิกศัลยกรรมทั่วไป และทางเดินปัสสาวะ
- คลินิกตรวจสุขภาพทั่วไป+คัดกรองสารเคมีในเลือด(เกษตรกร)
- คลินิกเด็ก
- คลินิกหู คอ จมูก
- คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู
- คลินิกผิวหนัง
- คลินิกทันตกรรม
- คลินิกแพทย์แผนไทย
- คลินิกแพทย์ฝั่งเข็ม
- คลินิกคัดกรองสุขภาพจิต
- คลินิกคัดกรองโรคปอด
- คลินิกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- คลินิกตรวจสุขภาพทั่วไปพระสงฆ์
- คลินิกฝึกอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน
- คลินิกรับบริจาคโลหิต
- คลินิกวัคซีนไข้หวัดใหญ่
- คลินิกสัตวแพทย์
- คลินิกกฎหมาย
- คลินิกผ่าตัดเส้นเลือดเพื่อล้างไต
- คลินิกวัคซีนโมเดิร์นนา
- คลินิกศัลยกรรมระบบประสาทและสมอง
- คลินิกรถเข็นพระราชทาน
- คลินิกพื้นที่ห่างไกล เด็ก และ 608