ประเด็นน่าสนใจ
- หากไทยลงนามใน #CPTPP แล้ว คาดว่า GDP เพิ่มขึ้น 1.3 หมื่นล้าน การลงทุนเพิ่มอีกราว 1.48 แสนล้าน และได้เปิดตลาดใหม่กับแคนดาดา เม็กซิโก แลกกับความเสี่ยงในเรื่องของการ CL ยา, การคุ้มครองเมล็ดพันธุ์ดังเดิม, ต้นทุนภาคเกษตรเพิ่มขึ้นฯ
- หากไม่ร่วม ก็จะกระทบต่อ GDP ราว 2.6 หมื่นล้าน การลงทุนอีกราว 1.4 หมื่นล้าน และเสียตลาดให้กับคู่แข่งอย่างเวียดนาม แต่ยังคงใช้สิทธิ์ CL ยา ได้เช่นเดิม และภาคเกษตรก็ยังรักษาต้นทุน สิทธิคุ้มครองเมล็ดพันธุ์พืชไว้เหมือนเดิม
- ดังนั้นในข้อที่ต้องพิจารณา มีรายละเอียดยังไม่มีตัวเลขรายงานออกมา เช่น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคเกษตร, ผลกระทบต่อการจัดซื้อ/จัดหา ยาต่างๆ จึงน่าจะต้องใช้เวลาเพิ่มเติมในการพิจารณาในรายละเอียดเหล่านี้ กับผลกระทบที่ภาคประชาชนจะต้องแบกรับไว้
จากกระแสการคัดค้านและเรียกร้องให้ถอดเรื่องของ #CPTPP หรือความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งหลายฝ่ายต่างกังวลกันว่า ข้อตกลงฉบับนี้จะนำมาซึ่งผลเสียทางการค้าให้กับประเทศมากกว่าผลดี ซึ่งในแท้จริงแล้ว ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรกันแน่
เท้าความ CPTPP คืออะไร
เดิมทีในกรอบของข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP นั้นมีทั้งหมด 12 ประเทศนำโดยสหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดา เปรู นิวซีแลนด์ ชิลี เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งเป้าหมายเพื่อเป็นความร่วมมือทางการค้า โดยหากนับขนาดเศรษฐกิจร่วมกันของทั้ง 12 ประเทศแล้วมีขนาดถึง 38% ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งข้อตกลงนี้ครอบคลุมในหลายๆ มิติทั้งเรื่องการค้า การบริการ การลงทุน รวมไปถึงมาตรฐาน/ระเบียบ/ข้อกฏหมายระหว่างสมาชิก
แต่สุดท้าย สหรัฐฯ เลือกที่จะถอนตัวออกไป จึงเหลือแค่ 11 ประเทศ กับขนาดการค้าราว 13% ของเศรษฐกิจโลก
ข้อตกลงเดิม-ใหม่ อะไรเปลี่ยนไป
ในกรอบข้อตกลงใหม่หลังสหรัฐฯ ถอนตัวไป จะมีการปรับกรอบข้อตกลงโดย “ตัด/ปรับ” ในส่วนของที่สหรัฐฯ เสนอไว้ในบางประเด็น เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินดิจิตัล การเปิดการค้าเสรีของอุตสาหกรรมยา เป็นต้น และเปลี่ยนให้ชะลอบังคับใช้เช่นเรื่องของ การขยายระยะเวลาคุ้มครองลิขสิทธิ์ จาก 50 เป็น 70 ปี การขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยาจากความล่าช้าของการขึ้นทะเบียน
สิ่งที่ควรรู้
- ขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CPTPP รวมมูลค่าราว 10.5 ล้านล้านเหรีญญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นราว 13% ของ GDP โลก
- การค้าระหว่างไทย กับประเทศในกลุ่ม CPTPP ราว 135 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 29% ของการค้าของไทยไปยังตลาดโลก
- โดยไทยส่งออกไปไปยังตลาดนี้กว่า 70 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้ากว่า 64 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หักลบแล้ว ไทยได้กำไรอยู่ราว 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
- มี 2 ประเทศที่ไทยไม่เคยมีข้อตกลงทางการค้าอยู่ด้วยคือ แคนาดา และ เม็กซิโก
ร่วม CPTPP แล้ว ไทยจะได้อะไร
ในกรอบความร่วมมือดังกล่าว มี 2 ชาติที่ไทย ซึ่งนั่นเป็นส่วนที่น่าสนใจในการเปิดตลาดใหม่ไปยังประเทศเหล่านี้ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศประเมินไว้ ประเมินไว้ว่า หากเข้าร่วม CPTPP แล้ว GDP ของไทยจะโตขึ้นอีกราว 13 พันล้านบาท การลงทุนจะขยายตัวได้อีกราว 148 พันล้านบาท
ซึ่งในการประเมินผลที่เกิดขึ้นคือ ไทยจะสามารถเปิดตลาดเนื้อสัตว์ แปรรูปไปยัง ญี่ปุ่น เม็กซิโก ได้เพิ่มขึ้น สินค้าเกษตร เช่นข้าว ก็จะส่งไปยังแคนาดา เปรู เม็กซิโก ชิลี
นอกจากนี้สินค้าเช่น รถยนต์ จักรยานยนต์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเลคโทรนิก ยางรถยนต์ ก็จะส่งออกไปยังตลาดอย่างแคนาดา เม็กซิโก ชิลี ได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ด้านการลงทุน ก็จะเปิดทางให้ทั้งนักลงทุนไทย สามารถไปลงทุนเพิ่มเติมในต่างประเทศ และนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในบ้านเราเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคบริการอื่นๆ เช่น ท่องเที่ยว สาธารณสุข ก่อสร้าง ฯลฯ
ร่วม CPTPP แล้ว ไทยเสียอะไร
สิ่งที่เป็นข้อกังวลในการเข้าร่วม CPTPP นี้มี 2 ส่วนหลักๆ ที่เป็นประเด็นคือ ตัวแรกเมล็ดพันธุ์ จะมีการคุ้มครองสิทธิ์จากอนุสัญญาการคุ้มครองเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV ซึ่งในข้อกังวลคือ
- เกษตรกรจะไม่สามารถนำเมล็ดพันธุ์พืช (ที่มีการพัฒนา/ปรับปรุงพันธุ์แล้ว) เก็บมาปลูกใหม่ได้ ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากผู้ผลิต ทำให้ต้นทุนภาคเกษตรสูงขึ้น
- ความไม่ชัดเจนในด้านของการคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมือง/ดัั้งเดิม นำไปพัฒนาต่อยอด และจดสิทธิบัตรครอบในสายพันธุ์ ทำให้ไทยเสียสิทธิ์ในพืชท้องถิ่น
ซึ่งก่อนหน้านี้ ไทย เคยมีปัญหากับสิทธิบัตร “กวาวเครือ” ให้กับต่างชาติมาแล้ว ที่แม้จะเป็นพืชในพื้นถิ่นของไทย แต่มีการค้นคว้าวิจัย/พัฒนาโดยต่างชาติและจดสิทธิบัตร นำมาซึ่งการฟ้องร้องในการพัฒนาสินค้าของไทยมาแล้ว
ข้อกังวลอีกเรื่องหนึ่งคือ ว่าด้วย CL ยาที่ไทยเคยสามารถเข้าถึงยาหลายๆ ตัวเพื่อให้สามารถใช้ในการรักษาพยาบาลได้นั้น (ตามข้อตกลง WTO) “จะทำได้ยาก” หรือ “ทำไมได้ในทางปฏิบัติ” เนื่องจากมีการเปิดช่องให้เอกชนสามารฟ้องร้องรัฐได้ ซึ่งช่องว่างนี้เอง จึงกลายเป็นปัญหา หากเกิดกรณีฉุกเฉิน/จำเป็นที่ต้องใช้ ยาบางตัวในการรักษา
หากรัฐ หรือผู้ที่อนุมัติสามารถถูกฟ้องร้องได้ ดังนั้นก็จะมีแนวทางเกิดขึ้นได้ 2 ประการคือ
- การประกาศ CL ยา เพื่อมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะไม่เกิดขึ้น เพราะผู้อนุมัติประกาศอาจจะถูกฟ้องร้องได้ (ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีใครอยากเป็นคดี)
- ทำหนังสือแจ้ง/ขออนุญาต เจ้าของสิทธิบัตรยานั้นๆ ก่อนประกาศ CL ยา ซึ่งผลที่ได้คือ ความล่าช้า และไม่ทันการณ์นั่นเอง
Editor Note : Compulsory licensing หรือ CL ยาที่เรียกกันนั้นคือ มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา โดยให้รัฐ/เอกชน ที่ไม่ใช่เจ้าของสิทธิ์ สามารถผลิต/ใช้ เพื่อประโยชน์สาธารณะได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต
ไม่ร่วม CPTPP แล้ว ไทยได้-เสียอะไร
- กระทบต่อ GDP ไทยลดลง 0.25% หรือ ราว 26.6 พันล้านบาท
- กระทบการลงทุน ลดลงราว 0.49% หรือ ราว 14 พันล้านบาท
- เสียโอกาสทางการค้าให้คู่แข่งอย่างเวียดนาม
- ยังคงสามารถใช้ CL ยาในการผลิต/ใช้ยาต่อ ทำให้คนไทยเข้าถึงยาได้ถูกลง และรวดเร็วขึ้น
- ต้นทุนในภาคเกษตร ยังคงไม่กระทบในด้านของเมล็ดพันธุ์
สิ่งที่ต้องทดไว้คิดต่อ
- การระบาดของโควิด-19 จะทำให้ภาคเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน นโยบายของหลายๆ ประเทศจะมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งหลายประเทศมีแนวโน้มในการ “ผลิต-ส่งออก” เพิ่มมากขึ้น
- มีประเทศที่สนใจในข้อตกลงนี้เพิ่มเติม เช่น อังกฤษ เกาหลีใต้ เป็นต้น
ผลกระทบที่รัฐ ต้องคิดต่อ
แน่นอนว่า ในภาคเศรษฐกิจในภาพรวม กับ GDP ที่เพิ่มขึ้น 0.12 % นั้นได้ถูกประเมินออกมาแล้ว แต่ผลกระทบกับในภาคเกษตรและด้านสาธารณสุข ไม่ว่าเป็นการเข้าถึงยาต่างๆ ที่มีโอกาสจะได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางวิกฤติ โควิด-19 สิ่งนี้ยิ่งสะท้อนความสำคัญของสิทธิการใช้ยา เพื่อประโยชน์ของปชช. มากยิ่งขึ้น
ในขณะที่ภาคเกษตรกร ที่ดูแล้วจะได้รับผลกระทบอย่างมาก ในสิ่งที่เกิดขึ้น กลายเป็นเหมือนที่ข้อแลกเปลี่ยนที่เกษตรกรจะต้องแบกรับไว้กลับยังไม่ได้ถูกประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบออก
บทสรุปนี้ จึงเป็นบทสรุปของสิ่งที่อยากสื่อถึงรัฐบาลว่า “ไม่ควรด่วนสรุป” หรือ “เร่งด่วน” ในการตัดสินใจ ข้อตกลงนี้ ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่โควิด-19 ยังคงระบาดต่อเนื่องในขณะนี้