ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาในคดีที่เกี่ยวกับการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 2 คดี
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2562 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ในคดีที่เกี่ยวกับการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 2 คดี ดังนี้
คดีหมายเลขดำที่ 445/2562 หมายเลขแดงที่ 299/2562 ระหว่าง คณะราษฎรไทยแห่งชาติ โดยนายพลภาขุน เศรษฐญาบดี กับพวกรวม 34 คน ผู้ฟ้องคดี กับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบสี่ฟ้องว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 269 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 90 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 รวมทั้งเป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 3 มาตรา 5 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 43 มาตรา 51 มาตรา 52 มาตรา 53 มาตรา 58 มาตรา 63 และมาตรา 78 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์/นโยบายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ประกาศต่อสาธารณชนไว้ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองแต่งตั้งบุคคลที่มีความเป็นกลางทางการเมืองเป็นคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ต้องด้วยมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีการฟ้องคดีเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิใช่เป็นเรื่องการใช้อำนาจทางปกครอง หรือดำเนินกิจการทางปกครอง ศาลปกครองจึงไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาได้ตามมาตรา 197 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ละเมื่อคดีนี้ศาลปกครองไม่อาจรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบสี่ไว้พิจารณาได้ จึงไม่มีกรณีที่ต้องนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบสี่อ้างว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับแก่คดีนี้แต่ประการใด ศาลจึงไม่จำต้องดำเนินการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบสี่
และคดีหมายเลขดำที่ 493/2562 หมายเลขแดงที่ 300/2562 ระหว่าง นายเอกราช อุดมอำนวย ผู้ฟ้องคดี กับ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ผู้ถูกฟ้องคดี
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา 269 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ดำเนินการสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา โดยไม่เปิดเผยขั้นตอนและวิธีการสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งให้ประชาชนทราบทำให้ประชาชนทราบข้อมูลไม่ครบถ้วน อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีเปิดเผยขั้นตอนและวิธีการสรรหาบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว รายชื่อคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา รายชื่อบุคคลที่คณะกรรมการเลือกตั้งจัดให้การเลือกตั้ง และรายชื่อบุคคลที่ได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการสรรหาบุคคลซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภาของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา เป็นกระบวนการขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มิใช่การกระทำทางปกครองหรือการใช้อำนาจทางปกครองการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างในคดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 197 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
ดังนั้น ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีทั้งสองสำนวนนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ