จากกรณีที่ พรรคไทยรักษาชาติ ได้เดินทางมายื่นรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ สำนักงานกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ซึ่งส่งเพียงหนึ่งรายชื่อเท่านั้น โดยเสนอพระนาม “ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี” เป็นนายกรัฐมตรีของพรรค จนเกิดเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากเกี่ยวกับข้อกฎหมาย
ล่าสุด เพจ iLaw ได้โพสต์นำเสนอประเด็นสถานะทางกฎหมายของ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ที่จะเป็นแคนดิเดตนายกของพรรคไทยรักษาชาติ มีกฎหมายที่สามารถนำมาพิจารณาได้ ดังนี้
สิ่งแรก คือ สถานภาพของพระองค์ท่านอยู่ในสถานะสามัญชนคนธรรมดา หรือเป็นบุคคล สัญชาติไทยหรือไม่ จากประกาศพระบรมราชโองการ เรื่อง ลาออกจากฐานันดรศักดิ์ มีผลทำพระองค์ท่านมีฐานะเป็นสามัญชน ออกจากการดำรงฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ในฐานะสมเด็จเจ้าฟ้า เนื่องจากสถานะในทางกฎหมาย พระองค์ท่านทรงเป็นสามัญชนแล้ว จึงต้องมาดูกันต่อว่า คุณสมบัติของผู้ที่จะอยู่ในบัญชีว่าที่นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีอะไรบ้าง
มาตรา 88 และ 89 กำหนดให้การเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี (1) ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ โดยมีรายละเอียดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกําหนด (2) ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 160
ซึ่งคุณสมบัติตามมาตรา 160 กำหนดให้ (1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี
(3) สําเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
*(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
(7) ไม่เป็นผู้ต้องคําพิพากษาให้จําคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทําโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุกระทําการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 (เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการ) มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง
ข้อที่หน้าสนใจต่อไปคือ ลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ในมาตรา 98 กำหนดลักษณะต้องห้าม มีข้อที่น่าสนใจได้แก่ (4) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะเป็นภิกษุ หรือนักบวช, ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือ วิกลจริตจิตฟั่นเฟือน (5) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
ซึ่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 กำหนดเรื่องผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไว้ในมาตรา 35 ดังนี้
มาตรา 35 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นถูกจํากัดสิทธิ ดังต่อไปนี้
(1) ยื่นคําร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
(2) สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา
(3) สมัครรับเลือกเป็นกํานันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
(4) ดํารงตําแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
(5) ดํารงตําแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหาร ท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
***การจํากัดสิทธิตามวรรคหนึ่งให้มีกําหนดเวลาครั้งละสองปีนับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และหากในการเลือกตั้งครั้งต่อไปผู้นั้นไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีกให้นับเวลาการจํากัดสิทธิครั้งหลังนี้โดยนับจากวันที่มิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใหม่ หากกําหนดเวลาการจํากัดสิทธิครั้งก่อนยังเหลืออยู่เท่าใดให้กําหนดเวลาการจํากัดสิทธินั้นสิ้นสุดลง
ซึ่งการจำกัดสิทธิเลือกตั้งมีระยะเวลาเพียง 2 ปีจากการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย ซึ่งปัจจุบัน ไม่มีการเลือกตั้งมาถึง 4 ปี 7 เดือนแล้ว ทำให้แม้พระองค์ท่านไม่เคยไปเลือกตั้งเลยการจำกัดสิทธิเลือกตั้งก็หมดสิ้นไป ทำให้มีสิทธิเลือกตั้งดังเดิม ถือว่า มีคุณสมบัติที่จะถูกเสนออยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ได้