ทุงสะเทวี นางสงกรานต์ 2568 เสด็จไสยาสน์เหนือหลังครุฑ

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2568 ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ได้ประกาศ สงกรานต์ 2568 ความว่า
ปีมะเส็ง (มนุษย์ผู้ชาย ธาตุไฟ) สัปตศก จุลศักราช ๑๓๘๗ ทางจันทรคติ เป็น อธิกวาร ทางสุริยคติ เป็น ปกติสุรทิน
วันที่ ๑๔ เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ เวลา ๐๔ นาฬิกา ๒๘ นาที ๒๘ วินาที
นางสงกรานต์ ทรงนามว่า ทุงสะเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราค ภักษาหารอุทุมพร (มะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังครุฑเป็นพาหนะ
วันที่ ๑๖ เมษายน เวลา ๐๘ นาฬิกา ๒๗ นาที ๓๖ วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น ๑๓๘๗ ปีนี้ วันศุกร์ เป็น ธงชัย, วันศุกร์ เป็น อธิบดี, วันพฤหัสบดี เป็น อุบาทว์, วันอาทิตย์ เป็น โลกาวินาศ
ปีนี้ วันพุธ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก ๖๐๐ ห่า ตกในโลกมนุษย์ ๖๐ ห่า ตกในมหาสมุทร ๑๒๐ ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๑๘๐ ห่า ตกในเขาจักรวาล ๒๔๐ ห่า นาคให้น้ำ ๕ ตัว
เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ ๖ ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล ๙ ส่วน เสีย ๑ ส่วน ธัญญาหาร (ข้าว) พลาหาร (ผลไม้) มัจฉมังสาหาร (เนื้อสัตว์) จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์ ประชาชนทั้งหลายจะเป็นสุขสมบูรณ์แล
เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีอาโป (น้ำ) น้ำมาก
ซึ่งประวัติตำนานความเป็นมาของนางสงกรานต์และท่าทางของนางสงกรานต์ในแต่ละปีจะแตกต่างกันไป โดยมีทั้งหมด 4 ท่า ได้แก่ ท่าประทับยืน ท่าประทับนั่ง ท่าประทับนอนลืมตา และท่าประทับนอนหลับตา และช่วงเวลาอัญเชิญนี้เองที่จะนับว่าคือจุดเริ่มต้นของปีใหม่ไทยหรือวันมหาสงกรานต์ และส่งผลถึงคำทำนายความเป็นไปตามหลักโหราศาสตร์อีกด้วย
คำทำนาย สงกรานต์ 2568
วันอาทิตย์ เป็นวันมหาสงกรานต์ ไร่นาเรือกสวน เผือกมัน มิสู้แพงแลฯ , วันจันทร์ เป็นวันเนา เกลือจะแพง นางพระยาจะร้อนใจ มักจะเกิดความไข้ต่าง ๆ , วันพุธ เป็นวันเถลิงศก ราชบัณฑิต ปุโรหิตโหราจารย์ จะมีสุขสำราญเป็นอันมากแลฯ , นางสงกรานต์ ไสยาสน์หลับเนตร (นอนหลับตา) พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี
ประวัติ นางสงกรานต์
ประวัติความเป็นมาของนางสงกรานต์และวันสงกรานต์ อ้างอิงจากแผ่นศิลาจารึก 7 แผ่น ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ติดประดับไว้ในศาลาของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ ความว่า
มีเศรษฐีท่านหนึ่งที่อายุเลยวัยกลางคนแล้วแต่ก็ยังไร้ทายาทนำความทุกข์ใจมาให้แก่ท่านเศรษฐีเป็นอย่างมาก อยู่มาวันหนึ่ง นักเลงสุราได้พูดจาถากถางเศรษฐีขึ้นว่า ตัวเศรษฐีนั้นแม้รวยทรัพย์แต่กลับอาภัพบุตร ทำให้เศรษฐีรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจึงได้เริ่มต้นบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานยาวนานถึง 3 ปี กระทั่งวันหนึ่งเศรษฐีและข้าทาสบริวารได้ทำการล้างข้าวสารด้วยน้ำสะอาด 7 ครั้งแล้วหุงถวายให้ต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ตอนนั้นเองเหล่าเทพเกิดเห็นใจสงสารจึงได้ไปเข้าเฝ้าพระอินทร์ ทูลขอบุตรให้แก่เศรษฐี เทพบุตรนาม “ธรรมบาล” จึงได้รับบัญชาลงมาจุติและได้ชื่อว่า “ธรรมบาลกุมาร” ในเวลาต่อมา
ธรรมบาลกุมารเป็นเด็กหัวไว เรียนรู้ภาษานกและเรียนจบไตรเพท (คัมภีร์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์) ได้ด้วยวัยเพียง 7 ขวบ ชื่อเสียงนี้เองทำให้ท้าวกบิลพรหมอยากทดสอบความสามารถ จึงได้เสด็จมายังโลกแล้วท้าพนันถึงขั้นตัดคอกัน
การท้าทายจบลงด้วยชัยชนะของธรรมบาลกุมาร ท้าวกบิลพรหมจึงได้เรียกธิดาทั้ง 7 ของตนออกมาเพื่อรอรับหัวของตน เพราะท้าวกบิลพรหมแท้จริงแล้วคือพระอาทิตย์ คำว่า “กบิล” มีความหมายว่าสีแดง หัวของท้าวกบิลพรหมหากตกลงแผ่นดินจะลุกเป็นไฟไหม้ทั้งโลก หากโยนขึ้นฟ้าอากาศจะแห้งแล้ง และหากทิ้งลงมหาสมุทรน้ำจะแห้งเหือด ธิดาทั้ง 7 จึงได้รับมอบหมายให้รับเอาศีรษะใส่พานไว้ให้อัญเชิญเวียนรอบเขาพระสุเมรุ แล้วเก็บไว้ในถ้ำคันธุลีในเขาไกรลาศ ครบทุก 1 ปี ธิดาทั้ง 7 จะผลัดเวรกันมาอัญเชิญศีรษะของท้าวกบิลพรหมวนรอบเขาพระสุเมรุซึ่งก็คือ ศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาลตามความเชื่อโบราณนั่นเอง
รู้จัก นางสงกรานต์ทั้ง 7
นางสงกรานต์ทั้ง 7 เดิมทีเป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นหญิงรับใช้ของพระอินทร์ และเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหมเทพ ผู้เป็นตัวแทนแห่งพระอาทิตย์ ธิดาทั้ง 7 จึงเป็นตัวแทนของวันทั้ง 7 ในรอบสัปดาห์ การเลือกนางสงกรานต์ของแต่ละปีจึงถูกกำหนดจากว่า วันที่ 14 เมษายนตรงกับวันใดของสัปดาห์ นางสงกรานต์ประจำวันนั้นก็จะถูกเลือกให้รับหน้าที่อัญเชิญศีรษะเพื่อเคลื่อนผ่านพระอาทิตย์จากราศีมีนสู่ราศีเมษ ดังนี้
นางสงกรานต์ทุงสะเทวี
นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วปัทมราช (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคืออุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ
นางสงกรานต์โคราคะเทวี
นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกปีบ ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วมุกดาเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ)
นางสงกรานต์รากษสเทวี
นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทรงพาหุรัด ทัดดอกบัวหลวง ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วโมรา ภักษาหารคือโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู)
นางสงกรานต์มณฑาเทวี
นางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทรงพาหุรัด ทัดดอกจำปา ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วไพฑูรย์ ภักษาหารคือนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา)
นางสงกรานต์กิริณีเทวี
นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วมรกต ภักษาหารคือถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง)
นางสงกรานต์กิมิทาเทวี
นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วบุษราคัม ภักษาหารคือกล้วยและน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย)
นางสงกรานต์มโหธรเทวี
นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทรงพาหุรัด ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) ทรงอาภรณ์ด้วยแก้วนิลรัตน์ ภักษาหารคือเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง)
และวันที่นางสงกรานต์อัญเชิญพระอาทิตย์เคลื่อนผ่านจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษนี้เองเป็นวันแรกของเทศกาลสงกรานต์หรือเรียกว่า วันมหาสงกรานต์ ขณะที่ วันเนา คือวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนมาอยู่กึ่งกลางระหว่างราศีมีนและราศีเมษ ส่วนวันเถลิงศกคือวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษอย่างสมบูรณ์จึงนับเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองเข้าสู่ปีใหม่ของไทยเราอย่างเป็นทางการ
เนื้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
บทสรงน้ำพระ วันสงกรานต์
สูตร ข้าวแช่ เมนูคลายร้อน เครื่องสังเวยเทวดาช่วงสงกรานต์ของชาวมอญ
คนรุ่นใหม่ควรรู้! มาเตรียมของไป รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ กันเถอะ
คำทำนายดวงชะตาปี 68 วางจำหน่ายแล้ววันนี้
ช่องทางการสั่งซื้อที่แอปพลิเคชัน MTHAI
มือถือแอนดรอยด์ : https://play.google.com/store/apps/details
มือถือ iOS ไอโฟน : https://apps.apple.com/gr/app/mthai-com/id471243201
