WMApp พายุปาบึก

เปิดตัวแอพฯ พยากรณ์ WMApp เกาะติด ‘พายุปาบึก’

เปิดตัวแอพฯ พยากรณ์ WMApp เกาะติด “พายุปาบึก” พร้อมเตือน 15 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังฝนตกหนัก ลมแรง วันที่ 4 ม.ค. 2562 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง…

Home / NEWS / เปิดตัวแอพฯ พยากรณ์ WMApp เกาะติด ‘พายุปาบึก’

เปิดตัวแอพฯ พยากรณ์ WMApp เกาะติด “พายุปาบึก” พร้อมเตือน 15 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังฝนตกหนัก ลมแรง

วันที่ 4 ม.ค. 2562 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) แถลงข่าวตั้งศูนย์ติดตามความเคลื่อนไหวของพายุ (Data Center) พร้อมเผยผลติดตามการเคลื่อนไหวของพายุปาบึกด้วยระบบพยากรณ์อากาศและแอพพลิเคชัน “WMApp” ที่มีความแม่นยำและความละเอียดสูงที่สุด

อีกทั้งสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ สจล. ยังได้เปิดศูนย์ประสานงานและที่พักพิงฉุกเฉินผู้ประสบภัยพายุโซนร้อนปาบึกภายใน สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อ.ปะทิว จ.ชุมพร เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชินวัชร์ สุรสวดี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม WMApp เปิดเผยว่า จากการติดตามพายุปาบึก (Pabuk) ด้วยแอพพลิเคชั่นพยากรณ์อากาศความละเอียดสูงสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป “WMApp”

พบว่าพายุดังกล่าวก่อตัวในทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีทิศทางเคลื่อนไปทางทิศตะวันตก ผ่านชายฝั่งประเทศมาเลเซีย และพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างฝั่งทะเลอ่าวไทย ประเทศไทย บริเวณจังหวัด นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ช่วงกลางดึกของเมื่อคืน (3 มกราคม 2562) ก่อนจะเคลื่อนไปครอบคลุม 15 จังหวัดของภาคใต้

ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ลงมา ซึ่งอิทธิพลจากพายุดังกล่าว ทำให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในบางพื้นที่ นอกจากนี้ต้องระมัดระวังอันตรายจากแรงลม ที่อาจสร้างความเสียหายแก่สิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ ป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง โดยหลังจากนั้นพายุนี้จะเคลื่อนไปทางทิศตะวันตกออกสู่ทะเลอันดามันต่อไป

ทั้งนี้ ระบบพยากรณ์อากาศ WMApp จะสามารถพยากรณ์อากาศที่แม่นยำและมีความละเอียดสูง เป็นรายเขตปกครอง สามารถระบุตำแหน่งและเวลาที่หยาดน้ำฟ้าจะตกควบคู่กับให้ผลพยากรณ์พายุหมุน (Cyclone) ได้ล่วงหน้า 5.5 วัน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป จากการสังเกตของดาวเทียมคลื่นมิลลิมิเตอร์เวฟแบบแพสซิฟ และดาวเทียมค้างฟ้าอินฟราเรดแบบแพสซิฟ โดยใช้อัลกอริทึม AMP และ JPP

ซึ่งอัลกอริทึม AMP ถือเป็นอัลกอริทึมแรกของโลกและมีความถูกต้องแม่นยำดีที่สุดในปัจจุบัน
ที่สามารถประมาณค่าหยาดน้ำฟ้าได้ครอบคลุมทั่วโลก รวมถึงพื้นที่ที่มีหิมะปกคลุมและทะเลน้ำแข็ง เช่น ขั้วโลกเหนือ และยังสามารถรายงานการเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกได้ด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากกับการวางแผนการรับมือกับการเกิดภัยพิบัติ เตรียมความพร้อมอพยพประชาชนไปสู่พื้นที่ปลอดภัย และช่วยลดความเสียหายทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ผู้ประสบภัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ศูนย์ประสานงานและที่พักฉุกเฉินผู้ประสบภัยพายุโซนร้อนปาบึก ภายใน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้ที่เบอร์ ประสานงานทั่วไป 077-506-410 แจ้งเหตุฉุกเฉิน 083-066-5373 และ 088-757-4847 หรือเข้าไปที่ https://www.facebook.com/kmitlnews/