การประชุม G20: ความหวังที่เลือนลางบนบทสรุปสงครามการค้า

การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ยังคงเป็นที่จับตาของทั่วโลก โดยเฉพาะการเจรจาระหว่างผู้นำของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ กับจีน เพื่อนำไปสู่บทสรุปของสงครามการค้าที่เกิดขึ้นมาเกือบครบรอบ 1 ปี ในเดือนกรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ เมื่อย้อนมองสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะที่ผ่านมาเชื่อว่า ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างก็รู้ว่าสงครามการค้าที่ยืดเยื้อไม่ส่งผลดีต่อทั้งคู่ ซึ่งสิ่งที่ปรากฏให้เห็นแล้วคือราคาสินค้านำเข้าจากคู่กรณีต่างปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลลบต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต แต่ด้วยจุดยืนที่ผู้นำทั้งสองประเทศแบกรับจึงทำให้การจะยุติเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางการเมือง…

Home / NEWS / การประชุม G20: ความหวังที่เลือนลางบนบทสรุปสงครามการค้า

ประเด็นน่าสนใจ

  • การประชุม G20 ในครั้งนี้ ถือเป็นการดึงให้สหรัฐฯ และจีนกลับมาสู่เวทีเจรจาเพื่อหาทางออกของสงครามการค้าระหว่างกัน อย่างไรก็ดี ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างก็มีจุดยืนที่ต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ของประเทศและฐานเสียงที่ส่งผลต่อสถานะการเป็นผู้นำประเทศ ขณะที่ ข้อเรียกร้องที่แต่ละฝ่ายต้องการกลับเป็นประเด็นที่อ่อนไหวของอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น จึงอาจเป็นไปได้ยากที่การประชุม G20 จะนำไปสู่ข้อสรุปร่วมกันระหว่างคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ซึ่งในท้ายที่สุดสหรัฐฯ อาจเดินหน้าเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และผลกระทบจากการเก็บภาษีครั้งนี้มากกว่าครั้งไหนๆ
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปัจจุบันผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนต่อภาคการส่งออกของไทยอยู่ที่ 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 ขณะที่มีความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะเก็บภาษีสินค้าจีนรอบ 3.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยการทยอยขึ้นภาษีเหมือนครั้งก่อน อันจะมีผลต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมีโอกาสแตะกรอบบนของผลกระทบที่คาดไว้ที่ 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ถ้าทั้งคู่ยังคงเดินหน้าเล่นเกมทางการค้านี้ต่อไป อาจส่งผลกระทบเพิ่มเติมผ่านการซบเซาของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมการส่งออกของไทยในภาพรวมของปี 2562 และต่อเนื่องไปถึงปี 2563

การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ยังคงเป็นที่จับตาของทั่วโลก โดยเฉพาะการเจรจาระหว่างผู้นำของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ กับจีน เพื่อนำไปสู่บทสรุปของสงครามการค้าที่เกิดขึ้นมาเกือบครบรอบ 1 ปี ในเดือนกรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ เมื่อย้อนมองสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะที่ผ่านมาเชื่อว่า ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างก็รู้ว่าสงครามการค้าที่ยืดเยื้อไม่ส่งผลดีต่อทั้งคู่ ซึ่งสิ่งที่ปรากฏให้เห็นแล้วคือราคาสินค้านำเข้าจากคู่กรณีต่างปรับตัวสูงขึ้นและส่งผลลบต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต แต่ด้วยจุดยืนที่ผู้นำทั้งสองประเทศแบกรับจึงทำให้การจะยุติเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางการเมือง และการรักษาคะแนนนิยมจากประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งในฝั่งของสหรัฐฯ นั้นผลโพลล์ทิศทางการดำเนินนโยบายของประเทศ (RealClear Politics) สะท้อนคะแนนนิยมที่มีต่อจุดยืนเชิงนโยบายการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เพิ่มขึ้นในสายตาครัวเรือนอเมริกา

การประชุม G20 ในครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมที่เปิดทางให้คู่กรณีทั้ง 2 กลับมาสู่เวทีการเจรจาอีกครั้ง หลังจากที่จีนมีท่าทีแข็งกร้าวขึ้นโดยการประกาศหยุดเจรจาไปช่วงเวลาหนึ่ง ประกอบกับข้อเรียกร้องของทั้งสองฝ่ายปฏิเสธไม่ได้ว่ายากที่จะนำไปสู่การจะตกลงเงื่อนไขในทุกข้อเพื่อยุติสงครามการค้า ด้วยเหตุผลของฐานเสียงทางการเมือง รวมถึงภาพลักษณ์และอำนาจต่อรองของประเทศในสายตานานาชาติ

ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ และจีน ต่างมีความซับซ้อนและท้าทายที่ยากจะนำไปสู่จุดสมดุล
  เงื่อนไขในการเจรจาเพื่อไปสู่บทสรุประหว่างกัน
ข้อเรียกร้องของจีน ·     ต้องการให้สหรัฐฯ ยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าจีนที่ผ่านมา

·     ต้องการให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรบริษัทเทคโนโลยีของจีน

·     ต้องการให้สหรัฐฯ ปฏิบัติตามกฏการค้าโลกในรูปแบบพหุภาคีภายใต้กรอบ WTO

ข้อเรียกร้องและประเด็นที่สหรัฐฯ กังวล ·     ต้องการให้จีนแก้ข้อกฎหมายในด้านสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา (IP) มีข้อปฏิบัติที่ชัดเจน

·     ต้องการให้จีนเปิดตลาดภาคบริการในประเทศ และมีข้อปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อธุรกิจสหรัฐฯ

·     สหรัฐฯ กังวลด้านความมั่นคงของชาติ โดยห้ามบริษัทสหรัฐฯ ใช้อุปกรณ์การสื่อสารที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ด้วยภาระหน้าที่ผู้นำทั้งสหรัฐฯ และจีนต้องแบกรับ ทำให้การประชุม G20 ในครั้งนี้คงจะมีความท้าทายอย่างมากในการหาสมดุลเพื่อนำไปสู่บทสรุปของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ได้ในทันที แต่การประชุมนี้จะเป็นการชะลอเวลาของการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันให้เลื่อนออกไป ซึ่งในท้ายที่สุดแม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะรู้ถึงผลกระทบเชิงลบที่ตามมาจากการยกระดับแรงกดดันทางการค้าระหว่างกัน แต่ถ้าการเจรจาคืบหน้าล่าช้า ประกอบกับบทบาทในฐานะผู้นำประเทศ สหรัฐฯ คงจำเป็นต้องเดินหน้าเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนที่เหลืออีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปี 2562 ในรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป เหมือนการเก็บภาษีสินค้าจีนในรอบ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยผลกระทบของการเก็บภาษีในรอบนี้คงมากกว่าการเก็บภาษีในรอบอื่นๆ เพราะเป็นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน อาทิ สินค้าเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ของเล่นเด็ก สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และสมาร์ทวอร์ท ซึ่งจะยิ่งกดดันทั้งธุรกิจและเศรษฐกิจจีน รวมทั้งส่งผลโดยตรงต่อผู้บริโภคและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ในช่วงครึ่งปีแรกจะยังคงมีผลต่อเนื่องไปตลอดในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 อีกด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลของสงครามการค้าที่มีต่อการส่งออกของไทยทั้งที่ส่งไปจีนและที่ผลกระทบที่ส่งผ่านมาทางคู่ค้าไทยในอาเซียนน่าจะยังคงอยู่ในกรอบที่ 2,100 – 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะขยับขึ้นสู่กรอบบนของประมาณการก็ต่อเมื่อสหรัฐฯ เริ่มใช้แผนการเก็บภาษีร้อยละ 25 กับสินค้าจีนรอบที่เหลืออีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบทางอ้อมเพิ่มเติมที่ไม่ได้รวมอยู่ในประมาณการ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผ่านแรงกดดันสู่กำลังซื้อของตลาดส่งออกอื่นๆ ของไทย ยิ่งจะซ้ำเติมการส่งออกในภาพรวมของไทยขึ้นอีกและผลกระทบทั้งหมดอาจลากยาวและร้อนแรงต่อเนื่องไปยังในปี 2563

กระนั้นก็ดี หากสหรัฐฯ เดินหน้ากดดันจีนต่อแบบแข็งกร้าว โดยเก็บภาษีสินค้าจีนที่เหลือรวดเดียวทั้งหมดในอัตราร้อยละ 25 หรืออาจยกระดับการเก็บภาษีสินค้าที่เคยเก็บไปแล้วสูงขึ้นอีก พร้อมด้วยมาตรการกดดันธุรกิจจีนในด้านอื่นๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จะยิ่งกดดันให้ภาพการค้าไทยในช่วงที่เหลือของปี 2562 อ่อนไหวลงอีกกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งแนวทางนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นเพราะเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากเกินไป และอาจกระทบฐานเสียงในการเลือกตั้งครั้งใหม่