หลังจากทาง Mr. Elon Musk ได้เผยโฉมรถกระบะไฟฟ้าเวอร์ชั่นโปรโตไทป์อย่าง Tesla Cybertruck ที่สร้างเสียงฮือฮาปนดราม่า ตั้งแต่การดีไซน์, วัสดุตัวถัง, ออพชั่นภายใน, ขุมพลังไฟฟ้าสมรรถนะสูง เป็นต้น แม้หลายๆ ฝ่ายจะมองดูแล้วไม่ต่างจากรถคอนเซปต์ แต่ทางซีอีโอเผยว่าจะเป็นโปรโตไทป์พร้อมวางจำหน่ายจริงในอีก 2-3 ปี และยังเปิดให้สื่อได้สาธิตทดลองนั่งกัน
แม่ว่าการปรากฎตัวของ Tesla Cybertruck ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกที่หลากหลายทั้งชอบ และไม่ชอบ แต่รถคันดังกล่าวก็ได้นำเสนอสิ่งที่แตกต่างจากรถกระบะทั่วๆ ไป รวมไปถึงรถกระบะไฟฟ้าคู่แข่งอย่าง Rivian R1T จนได้เผยสิ่งที่น่าสนใจด้วยกัน 5 จุด ซึ่งมีด้วยกันดังนี้
1.) ด้านดีไซน์
ด้วยอิทธิพลจากภาพยนตร์ไซไฟในสมัยอดีตทั้ง Star Trek และ Star Wars รวมไปถึงการบุกของเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นในยุคปี 1980 ส่งผลให้ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นยุคทองของวงการไซไฟที่ปรากฎบนสื่อต่างๆ รวมไปถึงการดีไซน์ยานพาหนะที่เน้นความเหลี่ยมมุม ส่วนโค้งเว้าที่น้อยกว่าในปัจจุบัน สะท้อนถึงความทันสมัย น่าดึงดูดใจของคนยุคนั้น
ไม่ว่าจะเป็น Lamborghini Athon, Ferrari 308 GTB และ GTS, Toyota Sprinter Trueno AE86, Delorean DMC-12, Pontiac Firebird เจนเนอเรชั่นที่ 3 เป็นต้น ซึ่งการมาของ Tesla Cybertruck เป็นรูปทรงเหลี่ยมที่ตอบโจทย์กลุ่มคนยุคปี 80 ที่มีช่วงอายุลูกค้า 40 ปีขึ้นไป หรือเด็กหน่อยก็ 30 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ตัวถังทรงเหลี่ยม ยังสามารถวางระบบไฟ LED ทั้งหน้า-หลังให้สวยกลมกลืนได้ด้วย
แต่ด้วยตัวถังทรงเหลี่ยมเรียบๆ แบบนี้ จะส่งผลต่อหลักอากาศพลศาสตร์สูงในระดับหนึ่ง อาจจะก่อให้เกิดเสียงปะทะของลมกับกระจกหน้าได้ในขณะที่วิ่งด้วยความเร็วสูง สำหรับการเสริมฝากระท้ายที่ลาดไม่ต่างจากตัวถังคูเป้ก็จะช่วยลดแรงต้านอากาศได้ในระดับหนึ่ง แต่ด้วยทรงตัวถังที่ยกสูงก็อาจจะทำให้รถเกาะถนนได้ยากเมื่อวิ่งด้วยความเร็วสูงเช่นกัน
ทั้งนี้ จุดเด่นของตัวถังทรงเหลี่ยมลักษณะนี้ก็คือ การปั๊มขึ้นรูปที่ง่าย ช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้ในระดับหนึ่งทีเดียว แต่ด้วยมีมุมเยอะ จะส่งผลต่อแสงสะท้อนที่อาจจะสร้างความรำคาญ และเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
2.) วัสดุตัวถังและกระบวนการผลิต
สิ่งหนึ่งที่สร้างความฮือฮาให้กับการเปิดตัวก็คือ Tesla Cybertruck ผลิตจากวัสดุสแตนเลสตีลหนา 3 มิลลิเมตร ที่ถ่ายทอดมาจากเทคโนโลยีชิ้นส่วนกระสวยอวกาศ SpaceX และใช้โครงสร้างแบบ EXOSKELETON รับประกันความแข็งแรง พร้อมกับกระจกนิรภัยแข็งแรงสูงที่เทียบเท่ากับกระจกกันกระสุน แต่ก็มีคำถามตามมาพอสมควรในด้านของ “น้ำหนัก”
เนื่องจากสแตนเลสตีล มีน้ำหนักมากกว่าอลูมิเนียมในระดับหนึ่ง และยิ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง EXOSKELETON และมีความหนา ย่อมหลีกเลี่ยงน้ำหนักที่มากขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งตัวรถนั้นมีน้ำหนักมากถึง 3,401 กิโลกรัม หรือมากกว่า Rivian R1T ที่มีน้ำหนักราวๆ 2,670 กิโลกรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักที่ผิดวิสัยของรถยนต์ไฟฟ้าเลยทีเดียว
แม้จะระบุว่าตัวรถสามารถทำสมรรถนะได้สูง วิ่งได้ไกลเป็นที่น่าพอใจ แต่ในระยะยาวนี้นจะรับมืออย่างไร โดยเฉพาะความเสื่อมของชิ้นส่วนรถยนต์ที่เกี่ยวข้องกับการรับน้ำหนัก ที่ส่งผลให้เสื่อมสภาพเร็วขึ้นกว่าเดิม
3.) พื้นที่บรรทุกส่วนกระบะท้าย
สิ่งหนึ่งที่อาจจะเป็นข้อดีของ Tesla Cybertruck ก็คือกระบะท้ายที่ไม่มีซุ้มล้อหลังเลย แม้ Rivian R1T กับ Ford F-150 จะมีขนาดกระบะที่ใหญ่ แต่ก็ยังมีซุ้มล้อหลังเล็กๆ อยู่ ทำให้การเก็บของไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่
ด้วยการออกแบบพื้นที่กระบะของ Tesla Cybertruck จะมีลักษณะเว้าเหมือนก้นชาม ไล่ความบางจากส่วนบน แล้วปรับความหนาเมื่อใกล้ถึงพื้น ทำให้มีพื้นกระบะที่สมบูรณ์แบบเลยทีเดียว แถมมีความลึก และความจุ 2,831 ลิตร เพียงพอที่จะสามารถประยุกต์พื้นที่ใช้สอยได้หลากหลาย
ประกอบกับฝากระบะท้ายมีออพชั่นทางลาดเพื่อออำนวยความสะดวกในการบรรทุกสิ่งของไปจนถึงจอดรถมอเตอร์ไซค์ หรือ ATV ได้อย่างสบายใจ
4. ออพชั่นต่างๆ
น่าเสียดายที่ทางบริษัทฯ ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดออพชั่นมากนักนอกจากออพชั่นภายนอก แต่จากภาพดีไซน์ภายในได้เผยรายละเอียดภายในด้วยพื้นที่โดยสาร 6 ที่นั่ง, ไฟส่องสว่างภายในรถ, พวงมาลัยแบบรถแข่ง, จออินโฟเทนเมนต์ขนาดใหญ่และบาง สะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะตัว
แต่ก็ยังมีข้อมูลออพชั่นที่น่าสนใจที่เผยมาจากการทดลองขับขี่ภายในงาน เช่น กระจกหน้าต่างไร้ขอบ, ไฟสปอร์ตไลท์ LED, จอกระจกมองหลังสำหรับฉายภาพจุดบอดด้านหลัง ที่คาดว่าอาจจะให้มุมมองที่กว้างพอจนไม่ต้องใช้กระจกมองข้างเลย แต่อาจจะส่งผลต่อข้อกฎหมายในบางประเทศที่อาจจะทำให้ตัวรถถูกจำกัดการวางจำหน่ายในบางประเทศ, จออินโฟเทนเมนต์ที่ทำหน้าที่เป็นมาตรวัดในตัว พร้อมระบบควบคุมแบบสัมผัส
นอกจากนี้ทาง Mr. Elon Musk ก็ได้นำเสนอว่าที่ Cyberquad รถ ATV 4 ล้อ ขุมพลังไฟฟ้าที่ดีไซน์โฉบเฉี่ยว ที่จะมาเป็นออพชั่นเสริมให้กับ Tesla Cybertruck อีกด้วย ซึ่งราคานั้นคงต้องรอดูกันต่อไป
5. ระบบขับเคลื่อน
อีกสิ่งที่สร้างเสียงฮือฮามากที่สุดก็คือระบบขับเคลื่อนที่มีให้เลือกด้วยกันถึง 3 แบบ แค่รุ่นมาตรฐานก็สามารถวิ่งได้ไกลเกิน 400 กิโลเมตร/ชาร์จเต็ม 1 ครั้ง ยิ่งรุ่นท็อปสุดที่ใช้มอเตอร์แบบ Tri-Motor พร้อมระบบขับเคลื่อน AWD สมรรถนะสูง สามารถให้อัตราเร่งจาก 0-96 กิโลเมตร/ชั่วโมง ภายใน 2.9 วินาที และวิ่งได้ไกลถึง 800 กิโลเมตร/ชาร์จเต็ม 1 ครั้ง ซึ่งกำลังแบตเตอรี่เองก็คงจะมีความจุที่มหาศาลมากเลยทีเดียว ราคาเปลี่ยนแบตใหม่ก็จะสูงตามไปด้วย
ประกอบกับช่วงล่าง ได้เผยว่าจะใช้ระบบกันสะเทือนแบบถุงลมที่มาพร้อมฟีเจอร์ปรับความสูงใต้ท้องรถอัตโนมัติ เมื่อวิ่งบนท้องถนนรูปแบบต่างๆ เช่น วิ่งบนทางไฮเวย์จะลดความสูงลง แต่ถ้าวิ่งบนถนนธรรมดาหรือทางฝุ่น ก็จะยกขึ้นสูงตามที่ผู้ขับขี่เซ็ตไว้
ด้านพละกำลังลากจูงก็ไม่ใช่ย่อย ตัวรถมีกำลังลากจูงวัตถุน้ำหนักตั้งแต่ 3,400 – 6,350 กิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับรุ่น) แต่ทุกรุ่นสามารถรับน้ำหนักสูงสุดถึง 1,587 กิโลกรัม
และนี่ก็คือ 5 จุดเด่นของ Tesla Cybertruck กระบะไฟฟ้าแห่งยุคอนาคตที่ก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมๆ ดึงดูดความต้องการของนักเลงรถกระบะที่ไม่ได้เพียงแค่ตอบโจทย์ด้านพลังงานสะอาด แต่ยังต้องเพิ่มความไม่จำเจอีกด้วย ส่วนจะถามว่าคุ้มค่าหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับสไตล์ ฐานะ และการใช้งานของแต่ละคน
ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ เตรียมวางแผนและเดินหน้าผลิต Tesla Cybertruck ให้แฟนๆ ได้ครอบครองกันภายในปี 2021 เป็นต้นไป นั่นหมายความว่าจะต้องรอกัน 2-3 ปีจึงจะได้ครอบครองเลยทีเดียว ซึ่งอาจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งบุคลิกและออพชั่นที่ตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภค การใช้ทรัพยากร ข้อบังคับกฎหมาย จนได้รถกระบะไฟฟ้าที่เหมาะสม โดนใจที่สุดในอนาคต