หลายคนน่าจะมีคำถามยามถึงเวลาเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ถ้าเลือกเข้าศูนย์คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเปลี่ยนเองเป็นครั้งแรกคงเก้ๆ กังๆ ตัดสินใจไม่ถูก เพราะน้ำมันเครื่องนั้นมีหลากหลายชนิดเสียเหลือเกิน ดังนั้นใครที่ใช้รถก็ควรรู้เรื่องน้ำมันเครื่องเอาไว้สักหน่อย จะได้เลือกให้ถูกต้องเหมาะกับรถของเรา
ก่อนจะเลือก เรามารู้จักน้ำมันเครื่องกันก่อนดีกว่าว่ามีรุ่นไหนบ้าง โดย น้ำมันเครื่อง ถูกแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- น้ำมันเครื่องธรรมดา หรือน้ำมันแร่ (Mineral) ผลิตจากน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานที่ผ่านกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบโดยตรง ระยะแนะนำการใช้งานประมาณ 5,000-7,000 กม. หรือ 4 เดือน สำหรับน้ำมันเครื่องธรรมดาแบบนี้ ส่วนมากจะมีอายุการใช้งานสั้นที่สุดในบรรดาน้ำมันทั้งหมด และแน่นอนว่าราคาก็ถูกที่สุดเป็นเรื่องปกติ
- น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ (Semi Synthetic) ผลิตจากการนำน้ำมันแร่มาผสมกับน้ำมันหล่อลื่นสังเคราะห์ เพื่อเสริมคุณสมบัติให้ดีขึ้นกว่าน้ำมันเครื่องธรรมดา โดยมีระยะแนะนำการใช้งานที่สูงขึ้น อยู่ที่ประมาณ 7,000 – 10,000 กม. หรือ 6 เดือน สำหรับอัตราส่วนการผสมของน้ำมันกึ่งสังเคราะห์ ในประเทศไทยนั้นไม่มีการกำหนดหรือกฎหมายข้อบังคับในเรื่องอัตราส่วนการผสม ดังนั้นแม้จะมีอัตราส่วนของน้ำมันสังเคราะห์อยู่ 20% ก็เรียกว่าเป็นน้ำมันกึ่งสังเคราะห์ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการพัฒนาสูตรการผลิตของแต่ละบริษัทด้วย ด้านราคาที่ถือว่าไม่แพงมาก แถมประสิทธิภาพอยู่ในเกณฑ์ที่ดีพอสมควร จึงเป็นน้ำมันเครื่องแบบที่ได้รับความนิยมที่สุด
- น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ (Fully Synthetic) ผลิตจากน้ำมันหล่อลื่นซึ่งสังเคราะห์ขึ้นเพื่อให้มีคุณสมบัติพิเศษกว่าน้ำมันแร่ทั่วไป โดยมีระยะแนะนำการใช้งานสูงที่สุด อยู่ที่ประมาณ 10,000 – 15,000 กม. หรือ 9 เดือน น้ำมันเครื่องชนิดนี้มีความพิเศษพิถีพิถันมากที่สุด เพราะกรรมวิธีการผลิตทุกอย่างถูกคิดค้นมาจากการวิจัยในแลบทดลองของผู้ผลิตแต่ละยี่ห้อเลย แน่นอนว่าประสิทธิภาพนั้นไม่ต้องพูดถึง จุดเด่นก็คือทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ รองรับการใช้งานในทุกสภาวะการขับขี่ ป้องกันการสึกหรอในชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ได้ดีที่สุด ราคาจึงสูงที่สุด เหมาะกับคนที่ต้องการดูแลรถมากเป็นพิเศษหรือรถที่มีราคาสูง
วิธีดูค่าของน้ำมันเครื่อง
หลังจากรู้จักประเภทของน้ำมันเครื่องแล้ว เรามารู้วิธีดูค่าระดับมาตรฐานของน้ำมันเครื่องประเภทต่างๆ ดีกว่า โดยขอจำแนกดังนี้
มาตรฐาน API (American Petroleum Institute Standard) เป็นมาตรฐานสากลที่กำหนดโดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา โดยน้ำมันเครื่องนั้นจะมีระดับ API อยู่ 2 ประเภท
- หากเป็นน้ำมันเครื่องยนต์เบนซินจะขึ้นต้นด้วย S เช่น API SM, API SN โดยปัจจุบัน API SN Plus เป็นมาตรฐานคุณภาพระดับสูงสุดของน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์เบนซินในขณะนี้ เหนือกว่าในด้านการป้องกันการชิงจุดระเบิดที่รอบต่ำของเครื่องยนต์ฉีดตรงติดเทอร์โบ (T-GDI) ปกป้องการสึกหรอ ทนต่อความร้อน และช่วยประหยัดเชื้อเพลิงดีขึ้น รองรับการใช้งานกับน้ำมัน E85 ทั้งนี้ ระดับคุณภาพที่สูงขึ้นสามารถใช้ทดแทนน้ำมันเครื่องระดับมาตรฐานที่ต่ำกว่าได้
- ส่วนเครื่องยนต์ดีเซลงานหนักจะขึ้นต้นด้วย “C” เช่น API CJ-4 หรือ API CI-4 โดย CK-4 มาตรฐานคุณภาพระดับสูงสุดของน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ดีเซลงานหนัก เน้นรองรับการทำงานสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลงานหนักรุ่นใหม่ล่าสุดระดับ EURO V ประกาศใช้เมื่อปี 2017
ในส่วนสุดท้าย การเลือกน้ำมันเครื่องต้องพิจารณาเบอร์ความหนืดที่เหมาะสมกับการใช้งานด้วย เช่น SAE 10W-30 คือค่ามาตรฐานจาก SAE (The Society of Automotive Engineer) ซึ่งเป็นสมาคมวิศวกรรมยานยนต์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา บอกถึงค่าความหนืดของน้ำมันเครื่อง วิธีอ่านให้แยกเป็น 2 ชุด ค่าชุดเลขตัวแรกคือ 10W เป็นค่าความหนืด หรือการไหลเทของน้ำมันเครื่องที่อุณหภูมิต่ำ เช่น
*0W = สามารถไหลเทและใช้งานได้ตามปกติที่อุณหภูมิ -35 °C โดยไม่เป็นไข
- 5W = สามารถไหลเทและใช้งานได้ตามปกติที่อุณหภูมิ -30 °C
- 10W = สามารถไหลเทและใช้งานได้ตามปกติที่อุณหภูมิ -25 °C
ค่าชุดเลขตัวที่สอง คือ 30 บอกถึงค่าความหนืดของน้ำมันเครื่องที่อุณหภูมิการทำงานปกติของเครื่องยนต์ มีตั้งแต่เบอร์ 20-60 ยิ่งตัวเลขสูงยิ่งมีความหนืดมาก โดยความหนืดของน้ำมันมีผลต่อการหล่อลื่นและลดการสึกหรอ ความหนืดต่ำ เหมาะสำหรับรถใหม่ เน้นอัตราตอบสนอง ความหนืดสูงเหมาะสำหรับใช้งานหลัก รอบจัด เครื่องยนต์ร้อนสูง ความหนืดที่เหมาะสมสำหรับเครื่องยนต์ทั่วไปอยู่ที่ 20-40
ซึ่งหลายคนเลือกเปลี่ยนน้ำมันเครื่องคงเป็นเรื่องค่าความหนืด เพราะอุณหภูมิอากาศในไทยต่อให้ใช้ 20W ก็ยังไม่น่ากังวล และสำหรับเครื่องยนต์ใหม่ปัจจุบันก็เริ่มกันที่เบอร์ 20 แล้ว และค่อยๆ ปรับให้หนืดขึ้นเมื่ออายุเครื่องยนต์เพิ่ม เพื่อให้เครื่องยังคงความฟิต รักษากำลังอัด และลดการกินน้ำมันเครื่อง
ซึ่งหลายคนเลือกเปลี่ยนน้ำมันเครื่องคงเป็นเรื่องค่าความหนืด เพราะอุณภูมิอากาศในไทยต่อให้ใช้ 20W ก็ยังไม่น่ากังวล และสำหรับเครื่องยนต์ใหม่ก็มักจะเริ่มกันที่ 40 และปรับค่อยๆ ปรับให้หนืดขึ้นเมื่ออายุเครื่องยนต์เพิ่ม เพื่อให้เครื่องยังคงความฟิต
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะกำลังคิดอยู่ว่ามีวิธีเลือกน้ำมันเครื่องแบบง่ายกว่านี้มั้ย เราขอแนะนำให้รู้จักกับ Lube Advisor ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยแนะนำน้ำมันเครื่องที่เหมาะสมกับรถแต่ละคัน เพียงเข้าไปที่ลิ้งค์ http://ptt.lubricantadvisor.com/ แล้วทำตามขั้นตอนดังนี้
เลือกแบรนด์ และรุ่นรถของเรา
เมื่อเลือกแล้วก็จะแสดงชนิดของน้ำมันเครื่องที่เหมาะสมกับรุ่นรถของเราขึ้นมาดังนี้
ซึ่งเหมาะมากสำหรับมือใหม่ที่กำลังจะเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เพราะนอกจากจะทุ่นเวลาในการเลือกแล้ว ยังได้คำแนะนำดีๆ อีกด้วย