ตลอดระยะเวลามากกว่า 100 ปีของการก่อตั้ง BMW ความยั่งยืน คือสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญไม่แพ้กับความล้ำหน้า และสุนทรียภาพในการขับขี่เลย โดยในปัจจุบันได้มีนวัตกรรมมากมายที่ถูกสร้างเพื่อตอบสนองต่อสิ่งเหล่านี้ ซึ่งในงาน “Sustainability through Innovation 2022” ที่มิวนิก เยอรมนี ได้นำเสนอแนวคิดและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีต่างๆ
แบตเตอรี่ทรงกลมสำหรับรถ NEUE KLASSE
แบตเตอรี่ทรงกลมเวอร์ชันที่ 6 ของ BMW eDrive ซึ่งจะถูกใช้กับรถยนต์ไฟฟ้ากลุ่ม NEUE KLASSE ที่จะเปิดตัวในปี 2025 เป็นนวัตกรรมล่าสุดของบีเอ็มดับเบิลยู ด้วยเซลล์ทรงกลมที่ออกแบบสถาปัตยกรรมไฟฟ้าแบบใหม่ ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของพลังงานได้มากกว่า 20% ในพื้นที่เท่ากัน
ความเร็วในการชาร์จเพิ่มขึ้นสูงสุด 30% และเพิ่มระยะทางได้อีก 30% (ตามมาตรฐาน WLTP) การผลิตแบตเตอรี่ทรงกลมแบบนี้ มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการผลิตแบตเตอรี่แบบเดิมมากกว่า 50% ที่สำคัญยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลง 60% เมื่อเทียบกับการผลิตเซลล์แบตเตอรี่รุ่นปัจจุบัน
เครื่องหนังวีแกน
บีเอ็มดับเบิลยูกรุ๊ป ร่วมมือกับบริษัท Adriano di Marti สตาร์ทอัพสัญชาติเม็กซิกัน เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมในการผลิตหนังทางเลือกด้วยวัตถุดิบชีวภาพ ในอนาคตอันใกล้จะมีการนำวัสดุ Mirum ผลิตจากเส้นใยพืชที่รีไซเคิลได้ 100% และ DeserttexTM ซึ่งได้จากเส้นใยของต้นกระบองเพชรและโพลิยูรีเทนชีวภาพ มาใช้หุ้มพวงมาลัยรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูบางรุ่น
วัสดุนี้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับหนังแท้ มีความนุ่ม แต่แข็งแรงและยืดหยุ่น ให้ความรู้สึกพรีเมียมไม่ต่งจากเดิม ซึ่งการเลือกใช้วัสดุทดแทนหนังสัตว์แบบนี้ จะให้รถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูหนึ่งคันมีชิ้นส่วนที่มาจากสัตว์ไม่ถึง 1% และเทียบกับปศุสัตว์แล้ว ฟาร์มกระบองเพชรรักษ์โลกกว่าหลายเท่า เพราะกระบองเพชรช่วยดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เติบโตได้โดยไม่อาศัยน้ำมากนัก แถมไม่ปล่อยก๊าซมีเทนเหมือนสัตว์ และหนังที่ได้ก็ไม่ต้องนำมาฟอก ไม่เกิดน้ำเสียให้ต้องบำบัด รวมๆ แล้วทั้งกระบวนการผลิตปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าการผลิตหนังแบบเดิมถึง 85%
พลาสติกจากซากอวน
ด้วยความตั้งใจที่จะลดปริมาณขยะและไมโครพลาสติกในท้องทะเล บีเอ็มดับเบิลยูมุ่งมั่นวิจัยสร้างวัสดุใหม่จากสิ่งที่เคยเป็นขยะ นำมาสู่การนำอวนหาปลาเก่า และขยะไนลอนจากอุตสาหกรรมการเดินเรือ มารีไซเคิลเป็นวัสดุใหม่ที่เรียกว่า ECONYL ซึ่งหลายคนได้สัมผัสกันแล้วในรูปแบบของพรมปูพื้นใน BMW iX และ The New BMW X1
เม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ได้จากการวิจัย ยังจะถูกใช้ฉีดขึ้นรูปเป็นชิ้นส่วนทั้งภายนอกและภายในของ BMW รุ่น NEUE KLASSE ในสัดส่วนประมาณ 20% ของวัสดุในการผลิตรถทั้งคัน และเพิ่มเป็น 40% ภายในปี 2030
ด้วยกรรมวิธีเหล่านี้นอกจากจะลดขยะในทะเลแล้วยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 25% เมื่อเทียบกับการผลิตเม็ดพลาสติกแบบเดิม
เบาะนั่งจากวัสดุรีไซเคิล
เพราะผิวสัมผัสของเบาะที่นั่งมีความสำคัญอย่างมากในการรับรู้ถึงบรรยากาศของผู้ขับขี่ บีเอ็มดับเบิลยูจึงมุ่งพัฒนาเบาะที่นั่ง ที่มอบสุนทรียภาพทั้งในด้านรูปทรง และวัสดุศาสตร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพยายามใช้ประโยชน์จากวัสดุรีไซเคิลแบบหมดจด จนได้เบาะที่นั่งต้นแบบออกมามากมายหลายรูปแบบ
3D Knit Seat Concept เป็นเบาะที่นั่งซึ่งสร้างขึ้นจากวัสดุรีไซเคิล 100% ที่ทอเส้นใยจากวิธีการถักแบบ 3 มิติ ซึ่งแทบไม่มีของเสียจากการผลิต และใช้เวลาน้อยกว่ากระบวนการผลิตทั่วไป ตัวเบาะมีคุณภาพสูง ผ้าที่สร้างขึ้นโดยใช้วิธีการถักแบบ 3 มิติให้ความนุ่มสบายและมีลวดลายสวยงาม และยังไร้ตะเข็บ
Infinite Loop Seat Concept เป็นเบาะนั่งที่โดดเด่นด้วยการใช้วัสดุรีไซเคิล เศษสิ่งทอซึ่งถูกแปรรูปเป็นเส้นด้ายสังเคราะห์ กระบวนการผลิตใช้น้ำในการผลิตน้อยกว่าการปั่นฝ้ายประมาณ 98% และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 80% เมื่อเทียบกับกระบวนการผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์แบบเดิม ส่วนโครงแข็งของพนักพิงทำจากวัสดุที่เหลือจากอุตสาหกรรมพลาสติก หรือจากโฟมที่นั่งของรถยนต์เก่าที่หมดอายุการใช้งาน นอกจากนี้ วัสดุคอมโพสิตที่ทำจากฝุ่นและขยะโพลีสไตรีนยังสามารถใช้สำหรับการผลิตพนักพิงที่นั่งแบบประหยัดทรัพยากรได้
Grown Innovation Seat Concept เป็นแนวคิดของเบาะนั่งที่ผสมผสานสิ่งทอสังเคราะห์ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล 100 % กับเส้นใยธรรมชาติและวัสดุชีวภาพชนิดใหม่ที่ได้จากแบคทีเรียนาโนเซลลูโลส ส่วนประกอบอื่นของพื้นผิวเบาะ Grown Innovation ประกอบด้วยวัสดุสิ่งทอสังเคราะห์ที่ผลิตโดยใช้กระบวนการพิมพ์ 3 มิติ ที่ตอบสนองจินตนาการนักออกแบบได้อย่างไม่มีข้อจำกัดทั้งรูปทรงและสีสัน ส่วนของพนักพิงที่เป็นลายไม้ ผลิตจากเส้นใยพืชโตเร็วที่ปล่อยคาร์บอนต่ำอีกด้วย
เทคโนโลยี EfficientDynamics
บีเอ็มดับเบิลยูเปิดตัวเทคโนโลยี EfficientDynamics เมื่อปี 2007 โดยมีเป้าหมายลดการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะเดียวกันก็ไม่ลดทอนสุนทรียภาพในการขับขี่อื่นๆ พูดง่ายๆ คือรถแรงเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม แต่รักษ์โลกมากขึ้น
BMW EfficientDynamics เกี่ยวข้องกับการจัดการพลังงานและความร้อน การออกแบบแอโรไดนามิกส์ การลดแรงเสียดทานในชิ้นส่วน การลดน้ำหนักด้วยโครงสร้างเทคโนโลยีขั้นสูงน้ำหนักเบา ทั้งหมดนี้ทำให้รถยนต์ของ BMW ลดการปล่อย CO2 ลงได้ 53 % เมื่อเทียบระหว่างปี 1995 ถึง 2020
ปัจจุบันแนวคิด BMW EfficientDynamics ยังคงถูกใช้งานแม้จะเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า BMW iX xDrive50 สร้างสถิติใหม่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในกลุ่ม Sports Activity Vehicle (SAV) ที่ทดสอบโดยนิตยสาร Edmunds โดยใช้พลังงานเพียง 21.1–20.7 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/100 กิโลเมตร ในขณะที่ BMW i4 M50 ก็ใช้พลังงานเพียง 22.5–18.0 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/100 กิโลเมตร
และนี่คือ 5 นวัตกรรมรักษ์โลกที่บีเอ็มดับเบิลยูนำมาใช้ เพื่อนำไปสู่การทำธุรกิจที่ใช้พลังงานและทรัพยากรลดลง สะท้อนความรับผิดชอบต่อสังคมและการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศ และคุณภาพชีวิต