ใครที่ได้ไปเยือนเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมณี จะมีตึกหน้าตาแปลกๆ ตั้งตระหง่าน จนกลายเป็นเป็นไอคอนที่ใครๆ ก็อดถ่ายรูปด้วยไม่ได้ นั่นคือ “ตึกลูกสูบ” ซึ่งเป็นฐานทัพใหญ่ของ BMW ที่อยู่เคียงข้างมิวนิคตลอด 50 ปีที่ผ่านมา
เห็นใหญ่โตแบบนี้แต่เชื่อไหมว่าในช่วงก่อสร้างนั้นกลับต้องเจอกับระยะเวลาที่บีบคั้น โดยมีเวลาให้ทำการก่อสร้างเพียง 4 ปีเท่านั้น เพราะมีกำหนดเสร็จให้ทันเปิดตัวพร้อมมหกรรมโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1972 ที่มิวนิคเป็นเจ้าภาพ
ถึงแม้จะมีเวลาในการก่อสร้างไม่นาน แต่อาคารนี้ใช้เทคนิคการก่อสร้างสุดล้ำ ด้วยเทคนิคการก่อสร้างแบบแขวน คือสร้างจาก “บนลงล่าง” ซึ่งใช้วิธีให้แต่ละชั้นถูกตรึงอยู่กับโครงสร้างคานเหล็กรูปกางเขนบนหลังคา และเริ่มสร้างชั้นบนก่อนโดยใช้ “แกนทาวเวอร์” ขนาดใหญ่ที่ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กยกทั้งฟลอร์ขึ้นไปด้วยแม่แรงไฮดรอลิก แล้วจึงสร้างชั้นล่างต่อลงมา
ซึ่งสถาปนิกที่เข้าร่วมเสนองานออกแบบใครครั้งนั้น มีเพียงคนเดียวที่ไม่ใช่ชาวเยอรมัน คือคาร์ล ชวานเซอร์ สถาปนิกชื่อดังชาวออสเตรีย และเขาลงทุนสร้างพื้นที่จำลองของอาคารลูกสูบแบบ 1:1 ขึ้นมาหนึ่งชั้นเพื่อความสมจริง จนทำให้เขาชนะใจคณะกรรมการบริหาร และได้รับงานออกแบบตึกนี้ไปครอง ซึ่งงานนี้นับเป็นหนึ่งในงานมาสเตอร์พีชของชวานเซอร์เลยก็ว่าได้
ชวานเซอร์ ตั้งใจให้พื้นที่แห่งนี้มีความทันสมัย เชื่อมต่อกันทุกพื้นที่อย่างราบรื่น โดยมีพื้นที่สำนักงานขนาดใหญ่แสงสว่างทั่วถึงในห้องทรงกลม โต๊ะพนักงานอยู่ใกล้หน้าต่าง ส่วนทางเดินรวมจะผ่านแกนกลางของอาคาร ทำให้ไม่มีใครต้องเดินผ่านพื้นที่ทำงานอื่นเมื่อต้องเดินข้ามแผนก ตลอดจนรูปลักษณ์ภายนอกที่สะท้อนถึงลักษณะเอกลักษณ์ความเป็นแนวหน้าของบริษัทนวัตกรรมยานยนต์
ถัดมาจากตึกลูกสูบชวานเซอร์ ยังออกแบบอาคารทรงแปลกตาที่มีรูปร่างเหมือน “ชาม” ซึ่งเป็นที่ตั้งของ BMW Museum จุดเด่นคือทางเดินภายในเป็นเกลียววนขึ้นไปในอาคารเพื่อเยี่ยมชมการจัดแสดงต่างๆ ได้ครบถ้วน
ทั้งหมดอาจฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่เชื่อเถอะว่าฐานทัพใหญ่ของ BMW ได้ทำให้ทุกคนทึ่งมาตั้งแต่ยุค 70 จนถึงปัจจุบัน จนสื่อหลายสำนักยังยกย่องให้อาคารนี้เป็นอาคารสำนักงานใหญ่ที่เจ๋งที่สุดในโลก