ความรู้เรื่องรถ ยางรถยนต์ ยางล้อรถ

ไขข้องใจ ก่อนซื้อยางเก่าค้างสต็อกต้องดูอะไรบ้าง และใช้ได้ดีเหมือนยางใหม่ไหม?

การตัดสินใจซื้อยางเก่าค้างสต็อกราคาถูกมาใช้แบบนี้จะน่าไว้ใจได้หรือไม่? ด้วยบทความนี้จะช่วยให้คุณคลายข้อกังวลนี้กัน

Home / AUTO / ไขข้องใจ ก่อนซื้อยางเก่าค้างสต็อกต้องดูอะไรบ้าง และใช้ได้ดีเหมือนยางใหม่ไหม?

เมื่อถึงเวลาที่เจ้าของรถต้องเปลี่ยนยางเส้นใหม่เพื่อการเกาะถนนที่ดีขึ้น ภายในที่นุ่มนวล และช่วยรีดน้ำเมื่อขับรถลุยฝน หรือเจอน้ำขัง แต่ในบางครั้งก็ต้องเจอกับตัวเลือกที่มีมากกว่าแค่แบรนด์ยางรถยนต์หรือโปรโมชั่น โดยเฉพาะเจอกับสิ่งที่เรียกว่ายางใหม่ และยางเก่า ที่ทำให้เจ้าของรถต้องหัวปั่นในการเปลี่ยนยางใหม่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นยางใหม่ที่ลายแก้มยางคม ๆ สีดำมันวาว แต่ราคาสูง กับยางเก่าฝุ่นจับที่ขายกันในราคาถูก ๆ สบายกระเป๋า

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตัดสินใจซื้อยางเก่ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นยางรุ่นโปรดที่ตอบโจทย์รถคู่ใจมากที่สุด หรือด้วยราคาโปรโมชั่นไปจนถึงราคาล้างสต็อกที่น่าดึงดูดใจ แต่ยางเก่าค้างสต็อกแบบนี้จะน่าไว้ใจได้หรือไม่ ด้วยบทความนี้จะช่วยให้คุณคลายข้อกังวลนี้กัน

ยางใหม่ – ยางเก่า ดูได้อย่างไร?

ผู้ขับขี่สามารถสังเกตและเข้าใจอายุของยางได้ไม่ยาก โดยดูได้จากตัวเลข 4 ตัวที่อยู่ในกรอบ โดยเลข 4 ตัว จะแบ่งเป็นเลขคู่หน้าสำหรับระบุสัปดาห์ที่ผลิต (1 ปีจะมีด้วยกัน 53 สัปดาห์) และเลขคู่หลังจะบอกปีที่ผลิต

ยกตัวอย่างเช่น 0421 หมายถึงยางเส้นนี้ผลิตในสัปดาห์ที่ 4 หรือราว ๆ ช่วงปลายเดือนมกราคมปีคริสต์ศักราช 2021 หรือพุทธศักราช 2564 นั่นเอง

ยางเก่าค้างสต็อก น่าซื้อมาใช้หรือไม่?

การที่จะซื้อยางล้างสต็อกราคาถูกก็อาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับประหยัดค่าใช้จ่าย หรือหารุ่นยางที่ถูกใจได้ยาก แต่ก็สร้างความกังวลใจว่าซื้อไปแล้วยางจะใช้ทนทานไม่แพ้ยางใหม่หรือไม่

ในความเป็นจริง การนับอายุขัยของยางจะเริ่มจากการที่ยางเส้นนั้นถูกใส่เข้ากับล้อ และลงพื้นถนนเรียบร้อย และจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพลงเมื่อวิ่งบนท้องถนน เติมลมยาง และจอดพักอย่างต่อเนื่อง

ตามปกติ เจ้าของรถจะต้องตรวจเช็คสภาพยางทุก ๆ 10,000 กม. และไม่ควรใช้นานเกิน 3 ปี หรือ 50,000 กิโลเมตร หรือหากพบว่าดอกยางสึกจนถึงสะพานยาง หรือยางบวม ก็ควรต้องเปลี่ยนทันที

ส่วนยางที่ผลิตมานานมากกว่าหลายปี แต่ยังไม่ถูกใช้งานมาก่อนนั้น จากข้อมูลการทดสอบทั้งจากผู้ผลิตยาง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศ และนอกประเทศ อาทิ National Highway Traffic Safty Administration (NHTSA), TUV Rheinland Group Ltd., ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “ยางที่ผลิตมานาน แต่ประสิทธิภาพการใช้งานจะไม่ต่างกัน” แม้จะเก็บนานกว่า 3 ปี แต่หากเก็บรักษาถูกวิธีก็จะใช้งานได้ตามปกติเหมือนยางใหม่ จึงสบายใจได้

แม้ว่ายางที่ถูกเก็บในสต็อกเป็นเวลานาน แต่ถ้าหากเก็บในภาพที่ไม่ดี ก็สามารถส่งผลกระทบต่อความทนทานของยางรถยนต์ในระยะยาว อาทิ สภาพที่เก็บโดนแสงแดดส่องเข้าตัวยางจัง ๆ พื้นที่จัดเก็บมีความสกปรกจนโดนของมีคม สารเคมีเข้ากับผิวยางโดยตรง ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของรถควรพิจารณามากกว่าตัวเลขอายุยางที่ผลิตเสียอีก

ข้อควรรู้ก่อนซื้อยางเก่าค้างสต็อก

นอกเหนือจากการดูรุ่นของยาง เลขอายุผลิตที่แก้มยาง และราคาแล้ว สิ่งที่เจ้าของรถควรให้ความสำคัญกับการดูรายละเอียดอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย อาทิ

  1. สำรวจร้านจำหน่ายยางรถยนต์ว่ามีการจัดเก็บยางรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ถูกต้องหรือไม่ อาทิ การจัดเก็บในพื้นที่แห้ง มีอากาศถ่ายเท ไม่โดนแสงแดดส่องถึง วางยางในแนวตั้งเป็นระเบียบ หรือหากยางวางนอนก็ต้องมีมาตรฐานในการจัดเก็บยางที่ถูกต้อง และพื้นที่จัดเก็บยางมีความสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย สามารถทำความสะอาดพื้นที่จัดเก็บได้ง่าย
  2. สังเกตฉลาก ซีลหุ้มยางว่าอยู่ในสภาพดีแค่ไหน รวมถึงตัวยางมีการเปื้อนสารเคมี ของเหลว หรือโดนของมีคมบาดและทิ่มแทงหรือไม่
  3. สังเกตรอยกดทับทั้งตรงดอกยาง และแก้มยาง ซึ่งจะบ่งบอกถึงสภาพการจัดเก็บยางในสต็อกได้เป็นอย่างดี
  4. สอบถามถึงการรับประกันคุณภาพยางว่ายังใช้ได้อยู่หรือไม่ ทั้งจากผู้ผลิตยาง และประกันจากร้านจำหน่ายยาง
ภาพจาก standret @freepik.com

แม้จะเป็นยางค้างสต็อก แต่ถ้าเก็บรักษาไว้อย่างดีจากร้านจำหน่ายยางที่มีมาตรฐาน และมีความน่าเชื่อถือ ก็ช่วยสร้างความสบายใจให้แก่เจ้าของรถที่ต้องการซื้อยางเปลี่ยนได้สบายกระเป๋า และใช้ได้นานอย่างสบายใจไม่แพ้ยางใหม่ จะเป็นยางเก่าค้างสต็อกก็ตาม

แต่…สิ่งที่ควรต้องระมัดระวังยิ่งกว่นั่นคือ “การปลอมอายุยาง” ที่เจ้าของร้านหัวใสทำการดัดแปลง ปรับเปลี่ยนเวลาผลิตบนยางเส้นเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำป้ายอายุยางปลอมมาปิดทับยางเส้นเก่า หรือหนักสุดคือการทำลายอายุยางเดิม แล้วปิดอายุยางใหม่ จนตรวจสอบอายุของยางรถจริง ๆ ได้ยาก

ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้รถเกิดความวิตกกังวลว่ายางรถที่ซื้อมานี้จะใช้ได้นานแค่ไหน เกิดได้ยางเก่าที่เก็บรักษาไม่ดีหรือผ่านการใช้งานมาแล้วก็อาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ในอนาคต หรืออาจจะต้องซื้อยางใหม่เร็วขึ้นกว่าเดิม หากไม่อยากพลาด ควรสังเกตช่องเวลาที่ผลิตให้ดีว่ามีการปิดทับอยู่หรือไม่อยู่เสมอ