ความรู้เรื่องรถ แบตเตอรี่รถยนต์

แบตเตอรี่รถยนต์แบบไหนที่ตอบโจทย์ระบบ Start – Stop System โดยเฉพาะ?

ในปัจจุบัน รถยนต์ที่มีระบบ ISS แพร่หลายมากยิ่งขึ้น ช่วยคุณประหยัดน้ำมันยิ่งขึ้น แต่อย่าลืมหาแบตเตอรี่ที่เหมาะสมควบคู่ด้วย

Home / AUTO / แบตเตอรี่รถยนต์แบบไหนที่ตอบโจทย์ระบบ Start – Stop System โดยเฉพาะ?

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีระบบหยุดรถในรอบเดินเบา หรือ ISS ได้ขยายไปสู่รถยนต์คอมแพ็ครุ่นใหม่ราคาจับต้องได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวนั้นสามารถช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำมัน และลดการปล่อยไอเสียในขณะที่รถหยุดนิ่ง แต่ในขณะเดียวกันรถที่มีระบบนี้ก็ต้องการแบตเตอรี่แบบพิเศษ เพื่อช่วยถนอมอายุการใช้งานทั้งตัวแบตเตอรี่ และระบบไฟฟ้าภายในรถโดยเฉพาะ

รู้จักกับเทคโนโลยี Idling Stop System (ISS)

iStop
เทคโนโลยี i-Stop ใน Mazda CX-5

หลาย ๆ ท่าน คงจะคุ้นเคยกับระบบ Idling Stop System (ISS) หรือที่รู้จักกันในนาม Start – Stop System หรือบางค่ายจะเรียก I-Stop ที่จะพบได้ในรถยนต์หรู และรถจักรยานยนต์ แต่ในเวลานี้ เทคโนโลยี ISS ได้ขยายมาสู่รถยนต์คอมแพ็ครุ่นใหม่ ๆ ในราคาที่จับต้องได้อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

เทคโนโลยีนี้จะทำหน้าที่ควบคุม และหยุดการทำงานของเครื่องยนต์ในรอบเดินเบา ซึ่งจะช่วยลดการเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิงในระหว่างรถจอดนิ่ง ๆ เช่น ติดไฟแดง ช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงโดยไม่จำเป็น และลดการปล่อยไอเสีย เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ เขม่าควัน เป็นต้น โดยที่ระบบไฟฟ้าภายในรถยังทำงานตามปกติ

และเมื่อผู้ขับขี่ถอนเท้าออกจากแป้นเบรกและเหยียบคันเร่งเครื่องยนต์ก็จะทำงานใหม่อีกครั้ง เพื่อให้รถสามารถออกตัว ถือได้ว่าเป็นระบบที่สะดวกสบาย และช่วยลดการใช้น้ำมันโดยไม่จำเป็นได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อใช้งานภายในเมืองที่มีการจราจรติดขัด

แต่ข้อเสียของระบบนี้คือการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มากขึ้น ดึงพลังงานไฟฟ้าในระหว่างเดินเครื่องบ่อยกว่า 3-4 เท่า และรับกระแสในการชาร์จไฟฟ้ากลับอย่างรวดเร็วกว่ารถยนต์ที่ไม่มีระบบ ISS ซึ่งหากใช้แบตเตอรี่รถยนต์แบบธรรมดา จะทำให้อายุการใช้งานสั้นลงกว่าเดิม

แบตเตอรี่ที่รองรับเทคโนโลยี Idling Stop System (ISS)

การพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ที่รองรับเทคโนโลยี ISS นั้นจะขึ้นกับ 2 ปัจจัย ได้แก่

  • ความสามารถในการชาร์จไฟฟฟ้ากลับได้อย่างรวดเร็ว (Charge Acceptance)
  • ความสามารถในการคายประจุเร็ว และชาร์จกลับได้จำนวนรอบ (Cycle) ตามมาตรฐาน SBA S0101 ได้มากกว่า 30,000 Cycle
EFB Battery
EFB Battery

จึงเป็นที่มาของการพัฒนาแบตเตอรี่ Enhance Flood Battery หรือ EFB ซึ่งเป็นแบตเตอรี่อิเล็กโทรไลต์เหลวขั้นสูง ที่มาพร้อมกับแผ่นธาตุแบบใหม่ พร้อมสารเคลือบคาร์บอนในแผ่นธาตุ และออกแบบขั้วใหม่ให้ได้แบตเตอรี่มีคุณสมบัติในการชาร์จไฟฟ้ากลับได้เร็ว และมีรอบการใช้งานสูงขึ้น

AGM Battery
AGM Battery

ขณะเดียวกันยังมีแบตเตอรี่ Absorbent Glass Mat Battery หรือ AGM ซึ่งแบตเตอรี่ชนิดนี้จะใช้สำหรับรถยนต์ที่มีระบบไดชาร์จอัจฉริยะโดยเฉพาะ แต่สามารถใช้ร่วมกับรถยนต์ที่มีระบบ ISS ได้เช่นกัน

โดยจะมาพร้อมกับแผ่นกั้นแผ่นธาตุแบบใยแก้ว (Glass Mat) ที่สามารถดูดซึมน้ำกรดไว้ด้วยตัวเอง ช่วยป้องกันการรั่วไหลน้ำกรดออกจากแบตเตอรี่ได้ 100% และปรับปรุงสารเคลือบให้มีคุณสมบัติชาร์จไฟฟ้ากลับได้เร็ว มีรอบการใช้งานสูงมากกว่าแบตเตอรี่ EFB ถึง 2 เท่า

โดยเจ้าของรถสามารถหาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ที่มีระบบ ISS ได้จากสัญลักษณ์ทั้ง EFB และ AGM โดยเฉพาะ

ความแตกต่างของแบตเตอรี่ EFB และ AGM

ด้วยแบตเตอรี่ทั้ง 2 ชนิดนี้ จะมีความสามารถในการคายประจุได้เร็ว ชาร์จไฟฟ้ากลับได้เร็ว และทำรอบชาร์จกลับได้มากกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป หรือแบบ SMF (Seal Lead Maintenance Free ) เหมาะสำหรับรถยนต์ที่มีระบบ ISS แต่ทั้ง 2 แบบนั้นจะมีคุณสมบัติ และการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนี้

แบตเตอรี่ EFB: สตาร์ทเครื่องยนต์ได้มากว่า SMF 3 เท่า สามารถจ่ายไฟฟ้าขณะเครื่องยนต์หยุดทำงานได้ การใช้งานแบบ Deep Cycle (25% DOD) ได้มากถึง 600 – 1,000 Cycle ช่วยลด CO2 ประมาณ 3 – 5% และช่วย ช่วยประหยัดน้ำมันได้ 3 – 5%

รวมถึงอิเล็กโทรไลต์ในทางปฏิบัติจะไม่ระเหยจึงมีความปลอดภัยสูงกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป และยังสามารถทำงานในช่วงอุณหภูมิตั้งแต่ -50 ถึง 60 องศาเซลเซียสเป็นต้นไป จ่ายไฟได้อย่างสม่ำเสมอคงที่ ใช้งานไม่ยุ่งยาก เหมาะสำหรับรถยนต์ขนาดเล็ก หรือขนาดกลาง

และในปัจจุบัน แบตเตอรี่ EFB มีให้เลือกหลายรุ่น หลายแบรนด์ในไทย จึงสามารถหาซื้อได้ไม่ยาก

แบตเตอรี่ AGM: สตาร์ทเครื่องยนต์ได้มากว่า SMF 5 เท่า จ่ายไฟฟ้าขณะเครื่องยนต์หยุดทำงานได้ยาวนานแบตเตอรี่ EFB การใช้งานแบบ Deep Cycle (25% DOD) ได้มากถึง 1,200 – 1,500 Cycle ช่วยลด CO2 ประมาณ 7 – 10% และช่วยประหยัดน้ำมันได้ 7 – 10%

และด้วยที่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้เร็ว ทนต่อการชาร์จคืนได้มากกว่า จ่ายไฟได้คงที่ต่อเนื่อง แต่มีข้อจำกัดในด้านอุณหภูมิการใช้งานที่ไม่คงที่เท่ากับแบบ EFB หากเกิดภาวะ Over Discharge บ่อย ๆ ก็จะส่งผลต่ออายุการใช้งาน อีกทั้งแบตเตอรี่ชนิดนี้หาซื้อได้ยาก มีราคาสูงกว่าแบบ EFB และนิยมใช้กับรถหรูขนาดใหญ่จนถึงซูเปอร์คาร์มากกว่า

บทสรุป

ด้วยเทคโนโลยีรถยนต์สมัยใหม่ที่ระบบไฟฟ้ามีความจำเป็นอย่างมาก ผู้ขับขี่จึงต้องเลือกแบตเตอรี่รถยนต์ที่เหมาะสมกับรถยนต์สมัยใหม่ยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยให้แบตเตอรี่ และระบบไฟฟ้าภายในรถมีอายุการใช้งานที่ยาวนานแล้ว ยังช่วยสนับสนุนในด้านการลดมลพิษ ประหยัดน้ำมัน ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว และดึงประสิทธิภาพการใช้งานรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ได้อย่างเต็มที่

เครดิตข้อมูลจาก batteryworld.varta-automotive.com ,centurybatteries.com.au ,thaipuma.com 1, 2