แฟน ๆ รถยนต์ Tesla คงทราบดีกันว่าหลังจากที่มีข่าวการอัปเดทซอร์ฟแวร์ใหม่อย่าง 2020.48.26 ซึ่งเป็นซร์ฟแวร์รองรับอุปกรณ์ external speaker โดยจะได้รับในล็อตผลิตหลังเดือนกันยายน 2020 เป็นต้นไป ซึ่งเจ้าของรถเทสล่าสามารถ Custom เสียงแตรได้ จนกระทั่งกลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์ของไทย หลังจากที่มีผู้ใช้รถยนต์เทสล่า ได้ลองคัสตอมใส่เสียงน้าค่อมลงไป
ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับจากแฟน ๆ ชาวไทยพอสมควร โดยเฉพาะมีการเปรียบเปรย หรือแม้แต่ปรารถนาที่อยากให้แตรรถ มีเสียงที่หลากหลายกว่านี้ แต่ต้องระลึกไว้เสมอว่า ในบางประเทศก็ไม่อนุญาตให้มีการเปลี่ยนเสียงแตรใด ๆ และจะล็อกเสียงตามกฎหมายที่กำหนดไว้เท่านั้น
ซึ่งใน พ.ร.บ. จราจรทางบกของไทย ก็มีกำหนดไว้แล้วเช่นกัน…
โดยใน พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ได้กำหนดไว้ว่ารถยนต์ต้องมีแตรสัญญาณโดยกำหนดให้เป็นเสียงเดียว ดังไม่น้อยกว่า 90 – 115 เดซิเบล เอ (จากด้านหน้ารถ 2 เมตร) มีระยะได้ยินไม่น้อยกว่า 60 เมตร และติดตั้งได้เพียง 1 ชุดเท่านั้น
ไม่อนุญาตให้ติดตั้งเสียงแตรแบบอื่น แตรสองเสียง เสียงแตกพร่า หรือดัดแปลงเสียงสัญณาณอื่นไม่ได้ รวมถึงไม่อนุญาตติดตั้งแตรลม หากฝ่าฝืน จะมีมีโทษปรับ 1,000 – 2,000 บาท
นอกจากนี้ในมาตรรา 13 ยังไม่อนุญาตให้ใช้เสียงสัญญาณไซเรน เสียงสัญญาณนกหวีด หรือเสียงสัญญาณเฉพาะสำหรับรถยนต์เจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติภารกิจฉุกเฉิน ได้แก่ รถตำรวจ รถพยาบาล รถกู้ภัย รถฉุกเฉิน และรถดับเพลิง หรือยานพาหนะอื่น เช่น เรือ รถไฟ ตามที่อธิบดีกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความสับสนในการใช้ถนนได้
แถมท้ายสำหรับมาตรา 14 มาตรา การบีบแตร จะใช้ได้เฉพาะเมื่อจําเป็นหรือป้องกัน อุบัติเหตุเท่านั้น โดยจะต้องกดในจังหวะสั้น ๆ แต่จะกดยาว หรือกดย้ำถี่เกินไปไม่ได้ หรือที่เรียกกันว่า “บีบแตรด่า” หากฝ่าฝืนจะมีมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
แม้ว่าในปัจจุบันนี้ มีหลายข้อมูลและงานวิจัยที่ระบุว่าเสียงแตรที่ใช้ในปัจจุบัน จะสามารถกระตุ้นอารมณ์โกรธให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนได้ในระดับหนึ่ง จนถึงขนาดว่ามีการวิจัยหาเสียงแตรที่เหมาะสมที่จะช่วยลดความเครียดและลดอารมณ์โกรด โดยยังคงไว้การแจ้งเตือนของผู้ขับขี่ได้อย่างชัดเจน รวมถึง Tesla เองก็ได้ลองเชิงการหาเสียงแตรที่เหมาะสมจากผู้ใช้งานจริง แม้จะเป็นระบบที่แปลกใหม่แต่ก็ต้องคำนึงถึงกฎหมายในแต่ละรัฐ แต่ละท้องถิ่น และแต่ละประเทศด้วย เพราะนอกจากจะสร้างความสับสนแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนแล้ว ยังต้องเสียเวลา และค่าใช้จ่ายสำหรับโทษปรับโดยไม่จำเป็น
ดังนั้น ก่อนเปลี่ยนเสียงแตร โปรดคิดสักนิด เสียงเดิมอาจจะไม่รื่นรมย์หู แต่ก็ช่วยเตือนให้ระมัดระวังอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี และเป็นเสียงที่คุ้นเคยทุก ๆ ฝ่าย หากคุณนึกสนุกเปลี่ยนเสียงแตรเป็นเสียงอื่น บางทีอาจจะไม่ได้ช่วยเตือนคนอื่นอย่างที่คิด เผลอ ๆ เสียงใหม่นี้ทำให้ผู้ขับขี่หัวร้อนเสียงเอง…ก็เป็นได้
เครดิตข้อมูลโดย กรมการขนส่งทางบก, พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522