ความรู้เรื่องรถ วัสดุหนัง วิธีทำความสะอาด เบาะหนัง

เคล็ดง่าย ๆ ของการดูแลเบาะหนังในรถยนต์ ที่คนรักหนังแท้-หนังเทียมไม่ควรพลาด

การดูแลรักษาเบาะ หรือวัสดุตกแต่งจากหนังไม่ยากอย่างที่คิด ด้วย 6 เคล็ดลับงการดูแลหนังช่วยยืดอายุการใช้งานได้มากขึ้น ทั้งหนังแท้ถึงหนังเทียม

Home / AUTO / เคล็ดง่าย ๆ ของการดูแลเบาะหนังในรถยนต์ ที่คนรักหนังแท้-หนังเทียมไม่ควรพลาด

วัสดุหนัง เป็นอีกหนึ่งในวัสดุที่นิยมประดับตกแต่งในรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นหนังแท้ หรือหนังเทียม โดยมีข้อดีที่การมอบบรรยากาศภายในที่หรูหรา ดูมีราคา ไม่เก็บฝุ่นเหมือนเบาะผ้า แต่ด้วยวัสดุชนิดนี้ต้องอาศัยการดูแลที่พิเศษ เพราะหากไม่ดูแลรักษาดี ๆ ก็จะเกิดการเสื่อมสภาพ แตกลายลา ลอกเป็นขุย ที่นอกจากจะส่งผลต่อการเสียราคาแล้ว ยังทำให้ดูไม่น่ามอง เสียค่าซ่อมแซมหรือเปลี่ยนเบาะ หรือนั่งแล้วรู้สึกคันยุกยิกเพราะรอยแตกมันกวนใจข้างหลัง

แม้ว่าการดูแลรักษาหนังนั้นจะรู้สึกวุ่นวาย ยุ่งยาก และมีราคา แต่ความจริงแล้วไม่ได้วุ่นวายมากนัก แถมดูแลง่ายและไม่แพงกว่าที่คิด และมีวิธีการดูแลรักษาที่หลากหลาย ใช้งานได้ทุกสถานการณ์ เริ่มจาก

1. หาม่านบังแดด หรือเลือกติดฟิล์มกรอง UV

อย่างที่หลาย ๆ ท่านทราบ ว่าการที่วัสดุหนังโดนแสง UV จากดวงอาทิตย์มากไปก็สามารถทำให้วัสดุหนังเสียหายได้ ไม่ว่าจะหนังแท้ หรือหนังเทียม หลาย ๆ แหล่งจึงแนะนำให้นำรถไปจอดที่ร่ม ห่างจากแดด แต่ถ้าสถานการณ์ที่ไม่เอื้อเต็มใจ เช่น จอดรถกลางลานจอดหน้าห้าง หรือจอดกลางดาดฟ้าโล่ง ๆ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจึงเป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กัน

ซึ่งหากรถได้รับการติดฟิล์มกรองแสงลด UV และลดอุณหภูมิภายในรถ ก็อาจจะได้เปรียบ แต่ถ้าติดฟิล์กรอง UV ไม่ดีพอ หรือรถไม่ได้ติดฟิล์ม การหาซื้อม่านบังแดดกระจกบังลมหน้าหรือม่านติดกระจกหน้าต่างก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดรังสี UV เข้ารถได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ไม่เพิ่มอุณหภูมิให้สูงเกินไปแล้ว ยังช่วยถนอมชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงหนังได้อีกด้วย

แต่ถ้ากรณีจอดนาน ๆ ที่บ้าน หรือจอดที่โล่งนานข้ามวัน ควรใช้ผ้าคลุมรถที่ตรงรุ่นจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

2. ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ ก็เพียงพอ

วัสดุหนัง โดยเฉพาะหังแท้นั้น ไม่ควรโดนน้ำมากที่สุด เพราะวัสดุหนังมีรูพรุน น้ำซึมผ่านได้ ยังไม่รวมถึงเบาะหนังที่ผ่านการเจาะรูเพื่อระบายความร้อนอันนี้น้ำเข้าได้ชัวร์ หากน้ำดูดซับนานๆ ก็จะเกิดกลิ่นอับ และขึ้นราได้ ซึ่งการทำความสะอาดนั้นจะต้องดูดเอาเศษฝุ่น หรือเศษขยะออกไปจากเบาะหรือตัวหนังก่อน แล้วค่ายใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ ไม่ต้องใส่น้ำยาใด ๆ ในการเช็ดให้ทั่ว และพยายามรีบทำให้แห้งเร็วที่สุด เช่น การใช้ผ้าแห้งเช็ดซ้ำ หรือการผึ่งลม

ซึ่งการเช็ดเบาะหนังด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำหมาด ๆ ก็เพียงพอที่จะทำให้หนังสะอาดได้โดยไม่ต้องผสมน้ำยาทำความสะอาดจนต้องเช็ดหลาย ๆ รอบ เว้นเสียแต่ว่าเจอคราบสปรกฝังลึก ก็อาจจะต้องใช้น้ำยาเช็ดเฉพาะจุด แล้วรีบเช็ดผ้าให้แห้ง

กรณีหนังเทียมเช่น PU หรือ PVC นั้นค่อนข้างดูแลรักษาง่ายเนื่องจากไม่มีรูพรุนให้น้ำซึมได้เลย แต่ก็ไม่จำเป็นต้องผสมน้ำยาทำความสะอาดใด ๆ ซึ่งจะช่วยย่นเวลาทำความสะอาดเบาะไปได้เยอะทีเดียว หรือหากต้องการความมั่นใจก็สามารถผสมน้ำสบู่อ่อน ๆ ชุบหมาด ๆ แล้วเช็ดได้

แถมท้ายสำหรับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 การใช้แอลกอฮอล์รดพรม หรือฉีดใส่วัสดุหนังโดยตรงอาจจะไม่ใช่ความคิดที่ดี ซึ่งอาจจะทำให้วัสดุหนังหนังแห้งแตกได้จึงควรชุบแอลกอฮอล์ด้วยผ้าขนหนูบาง ๆ เช็ดอย่างระมัดระวัง และหมั่นเคลือบมันที่หนังอีกรอบหลังจากเช็ดเรียบร้อย

3. ศึกษาคู่มือรถดูวิธีทำความสะอาดเบาะที่เหมาะสม

บรรดารถยนต์หรูที่มีวัสดุหนัง หรือสีหนังให้เลือกหลากหลาย ก็ส่งผลให้ต้องมีการดูแลรักษาที่พิเศษ ซึ่งหลังจากรับรถใหม่ หากมีคู่มือรถก็ควรศึกษาถึงการดูแลทำความสะอาดวัสดุตกแต่งภายในรถเป็นสิ่งแรก ๆ หรือสอบถามช่างผู้มีประสบการณ์เพื่อเก็บเป็นข้อมูลสำหรับการทำความสะอาดหนังเฉพาะได้อย่างสบายใจ

4. ใช้น้ำยาเคลือบหนังในปริมาณที่เหมาะสม

ในแผนกน้ำยาเคลือบหนังที่จำหน่ายตามร้านค้า ห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าออนไลน์ ต่างมีให้เลือกหลายสูตร หลายกลิ่น ซึ่งการใช้น้ำยาเคลือบหนังที่เหมาะสมกับประเภทของหนังจะช่วยยืดอายุการใช้งาน และทำให้ดูสวยงาม นุ่มตลอดเวลา

แต่หากใช้น้ำยาเคลือบเบาะหนังแท้ในปริมาณมากหรือใช้บ่อยเกินไป นอกจากจะสิ้นเปลืองแล้ว หากน้ำยาเคลือบเสื่อมสภาพลง ก็จะส่งผลให้หนังแข็งขึ้นมาทันที และต้องใช้น้ำยาเคลือบในปริมาณมากขึ้น หรือบ่อยขึ้นจึงจะทำให้หนังนิ่มเป็นปกติ ดังนั้นการใช้น้ำยาในปริมาณที่เหมาะสมตามฉลากที่ระบุไว้ ก็จะช่วยลดปริมาณการใช้น้ำยาเคลือบลง รวมถึงยังเป็นการถนอมเบาะหนังให้นุ่มยาวนาน

ส่วนหนังสังเคราะห์ก็มีน้ำยาเคลือบเฉพาะด้วย ซึ่งผู้ใช้รถควรศึกษาข้อมูลผ่านฉลากให้ถี่ถ้วนด้วย

หรือหากคุณมีเบบี้โลชั่น หรือวาสลีน ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่เหมาะกับการใช้เป็นน้ำยาเคลือบเบาะได้เป็นอย่างดี แต่ก็ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมเช่นกัน

5. ลงทุนหาผ้าหรือแปรงนุ่ม ๆ

แม้แต่อุปกรณ์ทำความสะอาดเองก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะวัสดุหนังที่ต้องใช้วัสดุที่มีผิวสัมผัสที่นุ่ม ไม่แข็งกระด้าง จนส่งผลทำให้วัสดุหนังเกิดรอยขูดขีดได้ ซึ่งอาจจะต้องใช้ผ้าขนหนูนุ่ม ๆ ผ้าไมโครไฟเบอร์ หรือแม้แต่แปรงขัด ในกรณีที่ใช้อุปกรณ์เก่า เช่น แปรงสีฟัน หรือผ้าเก่าที่ไม่ได้ใช้งาน ก็ต้องดูว่าขนแปรง หรือเนื้อผ้าแข็งกระด้างเกินไปหรือไม่ ถ้าไม่แข็งหรือสากเกินไปก็เป็นอันใช้ได้

นอกจากนี้ก็ควรแยกผ้าเช็ด หรือแปรงขัดส่วนประกอบรถต่างหาก เพราะหากใช้ร่วมกันอาจจะมีน้ำยาเคมี หรือคราบสปรกตกค้างที่อาจจะส่งผลต่อการสร้างความเสียหายให้กับเบาะได้เช่นกัน

6. ควรทำความสะอาดตอนเบาะเย็น ๆ

หากคุณกำลังเตรียมการทำความสะอาด แต่เผอิญว่ารถของคุณจอดกลางแดด หรือเพิ่งขับรถไปได้ไม่นาน หรือแม้แต่เพิ่งปิดฮีทเตอร์ในเบาะไปได้ไม่นาน ขอให้โปรดรอให้เบาะมีอุณหภูมิที่เย็นลงก่อน เพราะอาจจะส่งผลต่อการเกิดความเสียหายของตัวหนังได้หากทำความสะอาดแรง ๆ ทางที่ดีที่สุดควรจอดรถในที่ร่ม เปิดประตูระบายความร้อนก่อนสักระยะจึงค่อยเริ่มทำความสะอาดได้

จะเห็นได้ว่า เทคนิคที่กล่าวมานั้นไม่ยากอย่างที่คิด หากต้องการดูแลเบาะหรือวัสดุหนังภายในรถยนต์ให้คงทนสวยงามตลอดเวลา สิ่งสำคัญที่สุดของการดูแลรักษา คือการรู้จักตัววัสดุหนังเป็นอย่างดี เพื่อคุณสามารถดูแลรักษาเบาะได้อย่างเหมาะสมและตรงจุด ลดค่าใช้จ่ายซ่อมเบาะในระยะยาว และทำให้คุณดูเหมือนคนรักเบาะหนังได้เป็นอย่างดี โดยที่ไม่ต้องลงทุนมากนัก