กระดูกสันหลังเสื่อม ปวดหลัง วิธีดูแลสุขภาพ

สัญญาณเตือน โรคกระดูกสันหลังเสื่อม ปวดคอ ปวดหลัง ปวดร้าวท้ายทอย รู้เร็ว รักษาได้

กระดูกสันหลังเสื่อม นับเป็นโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและความทรมานในผู้สูงอายุ รวมถึงเป็นภาระให้กับผู้ดูแลอย่างมาก

Home / HEALTH / สัญญาณเตือน โรคกระดูกสันหลังเสื่อม ปวดคอ ปวดหลัง ปวดร้าวท้ายทอย รู้เร็ว รักษาได้

เมื่อประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว โรคภัยไข้เจ็บอันเนื่องมาจากความเสื่อมของร่างกายย่อมมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น “กระดูกสันหลังเสื่อม” นับเป็นโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและความทรมานในผู้สูงอายุ รวมถึงเป็นภาระให้กับผู้ดูแลอย่างมาก

ในเรื่องนี้ นพ.ศรัณย์ ก่อวุฒิกุลรังษี แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ และกระดูกสันหลัง ศูนย์กล้ามเนื้อกระดูกและข้อ โรงพยาบาลนวเวช ได้นำชุดข้อมูลความรู้มาอธิบายให้สามารถเข้าใจได้ง่าย ผ่านบทความเรื่องโรคกระดูกสันหลังเสื่อม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การใช้ชีวิตในสังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ

โรคกระดูกสันหลังเสื่อมคืออะไร?

โรคกระดูกสันหลังเสื่อม คือความเสื่อมของโครงสร้างร่างกายที่ช่วยให้มนุษย์สามารถยืนหรือนั่งตัวตรงได้ ประกอบไปด้วย ปล้องกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก ข้อต่อ เอ็นยึดข้อต่อ และกล้ามเนื้อข้างเคียง มักพบในตำแหน่งที่มีการเคลื่อนไหวเป็นประจำ เช่น กระดูกสันหลังส่วนคอ และกระดูกส่วนเอว โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยอายุ 40 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเราพบผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากลักษณะการทำงานที่นั่งหรือยืนในท่าเดิมนานๆ และรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป รวมถึงไม่มีเวลาออกกำลังกายเท่าที่ควร

โครงสร้างของกระดูกสันหลัง

กระดูกสันหลัง (Spine) เป็นโครงสร้างตามธรรมชาติของร่างกายที่สร้างขึ้นเพื่อปกป้องระบบประสาทส่วนกลาง ในที่นี้คือไขสันหลัง และเส้นประสาท และในมนุษย์จะมีรูปร่างแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ เพราะสามารถยืนตั้งตัวตรงได้ และช่วยในการเคลื่อนไหว โดยกระดูกสันหลัง ประกอบไปด้วย

  1. ปล้องกระดูกสันหลัง (Vertebra)
  2. หมอนรองกระดูกสันหลัง (Intervertebral disc)
  3. ข้อต่อระหว่างกระดูก (Facet joint)
  4. เอ็นยึดข้อต่อ (Ligament)

นอกจากนี้ ยังมีกล้ามเนื้อข้างเคียงที่ช่วยพยุงและยึดโยงกระดูกสันหลังชิ้นต่าง ๆ เพื่อใช้ในการเคลื่อนไหวของร่างกายอีกด้วย

สาเหตุของโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

  1. อายุที่มากขึ้น
  2. น้ำหนักตัวที่มากเกินไป
  3. การอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ เช่น นั่งทำงาน หรือยืน
  4. การทำงานใช้งานหลังที่ไม่เหมาะสม เช่น ทำงานในท่าก้มเป็นประจำ เช่น ช่างซ่อมรถยนต์ หรือการแบกของหนัก ๆ เกินเกณฑ์เป็นเวลานาน ๆ
  5. วิถีชีวิตที่ใช้งานกระดูกคอมากขึ้น เช่น การก้มดูโทรศัพท์มือถือ การใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน

เมื่อเกิดการใช้งานซ้ำ ๆ เหล่านี้ หมอนรองกระดูกจะเริ่มมีร่องรอยความเสียหาย จากนั้นก็จะเริ่มมีการสูญเสียน้ำ และมีการยุบตัวลง เกิดการไม่มั่นคงของโครงสร้างเกิดขึ้น กล้ามเนื้อข้างเคียงพยายามพยุงโครงสร้างเหล่านี้ และร่างกายตอบสนองด้วยการสร้างกลุ่มกระดูกงอก เพื่อรองรับโครงสร้างที่ไม่มั่นคงดังกล่าว ผู้ป่วยจะเริ่มปวดเมื่อมีการคลอนของโครงสร้างเกิดขึ้น ถ้าหมอนรองกระดูกที่ยุบและกลุ่มกระดูกที่งอกนี้ไปกดเส้นประสาทข้างเคียงก็จะทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท

อาการของโรคกระดูกสันหลังเสื่อมแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ก็คือ

  1. อาการที่เกี่ยวกับระบบโครงสร้าง ได้แก่ อาการปวดคอ อาการปวดหลัง มักจะเป็น ๆ หาย ๆ อาจปวดเวลานั่งนาน ๆ หรือปวดเวลาขยับตัว หากผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอ ก็อาจจะมีอาการปวดร้าวไปที่ท้ายทอย หรือบริเวณไหล่ได้ ผู้ป่วยบางรายที่มีการแข็งตัวของกระดูกสันหลัง ก็จะเกิดการก้มเงยได้ลำบาก ขยับตัวได้ลำบาก
  2. อาการที่เกี่ยวกับระบบประสาท ซึ่งเกิดจากโครงสร้างของกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง ได้แก่ การปวดร้าวไปที่แขนหรือขา อาจมีอาการชา หรือการอ่อนแรงร่วมด้วย ซึ่งอาการจะเป็นข้างเดียว หรือเป็นทั้งสองข้างก็ได้ อาการทางระบบประสาทก็จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของรอยโรคที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยที่มีไขสันหลังถูกกดทับ นอกจากอ่อนแรงแล้ว ก็อาจมีอาการเดินลำบาก การใช้มือหยับจับของได้ไม่ถนัด หรือมีการกลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้

การวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

หลังจากแพทย์ซักประวัติอาการปวด ลักษณะการใช้งาน และประวัติอื่น ๆ และตรวจร่างกาย ทั้งการเคลื่อนไหวกระดูกและข้อ และระบบประสาทแล้ว แพทย์จะส่งทำเอ็กซเรย์กระดูกสันหลังส่วนที่เกี่ยวข้อง หากได้ข้อมูลไม่ชัดเจน จำเป็นต้องทำ MRI เพื่อดูลักษณะของโครงสร้างที่เราสงสัย นอกจากนี้ อาจจำเป็นต้องตรวจการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อด้วยกระแสไฟฟ้า (EMG) ในผู้ป่วยบางราย สำหรับการเจาะเลือดเพื่อดูค่าผลเลือดที่เกี่ยวข้องนั้นจะทำในกรณีที่ต้องการวินิจฉัยแยกโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกัน

การรักษาโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

1.การรักษาแบบอนุรักษ์

-การให้ยาลดปวดหรือยาต้านอักเสบ

-การให้ยาลดปวดเส้นประสาท

-การทำกายภาพบำบัด เช่น การใช้ความร้อน การดึงหลังหรือคอ

-การฉีดยาสเตียรอยด์ เพื่อลดปวดตามข้อบ่งชี้

2.การรักษาโดยการผ่าตัด

ซึ่งรูปแบบการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับลักษณะของรอยโรคที่ผู้ป่วยเป็น เช่น การผ่าตัดเพื่อยกจุดกดทับ หรือการผ่าตัดเพื่อเสริมความมั่นคง โดยการใส่เหล็กดาม

Caucasian ethnicity female suffering from back pain because of uncomfortable mattress

การป้องกันโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

  1. การใช้งานหลังให้ถูกวิธี เช่น เวลาเรานั่ง เราควรจะต้องตัวตรง หลังชิดกับพนักพิง อาจจะมีหมอนเล็ก ๆ รองที่บริเวณหลังกับพนักพิง สำหรับเก้าอี้ที่ดี พนักพิงควรจะสูงถึงบริเวณไหล่ ส่วนเรื่องคอ บางครั้งเราก็จะเผลอในการที่จะก้มคอดูโทรศัพท์ หรืออ่านหนังสือ หรือดูจอโน๊ตบุ๊ค เราจะต้องคอยรู้ตัวตลอดเวลา ว่าคอเราควรจะตั้งตรง ตามองตรง และมองสิ่งที่เราจะมองลงไปประมาณ 15-20 องศา ก็จะช่วยทำให้อาการปวดคอลดลงได้
  2. ไม่ควรใช้หลังในท่าเดิม ๆ นานเกินไป คววรหยุดพักยืดเส้นยืดสาย เช่น การนั่งเกิน 45 นาที ควรมีเวลาพักเปลี่ยนอิริยาบถประมาณ 10-15 นาที
  3. ออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรง และเสริมความยืดหยุ่น เช่น การฝึกเกร็งหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลัง ทั้งในเวลาที่มีการใช้งาน หรือจัดเวลาการออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกลางลำตัว เช่น Planking นอกจากนี้ก็ยังต้องมีการออกกำลังเพื่อเสริมความยืดหยุ่นให้กับร่างกายด้วย
  4. ลดการใช้งานหลังที่ไม่เหมาะสม งดการยกของหนัก หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงบาดเจ็บที่บริเวณหลัง
  5. การควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินเกณฑ์
  6. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

นาฬิกาข้อมือสุขภาพ DTECH รุ่น NB125

นาฬิกาข้อมือ Smart watch เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบออกกำลังกาย และลดน้ำหนัก ช่วยให้บรรลุเป้าหมายการออกกำลังกายได้ง่ายขึ้น มีการแจ้งเตือนเห็นภาพความคืบหน้าผ่านแอปพลิเคชั่น

ราคา 1,299 บาท


ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลนวเวช