ประเด็นสำคัญ
- ศรีลังกาพบโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า รวม 4 สายพันธุ์ย่อย
- โดยมี 2 สายพันธุ์ย่อยที่พบในศรีลังกาเท่านั้น
- ทางการศรีลังการะบุ ยังไม่มีเหตุหรือความน่ากังวลใด ๆ ในขณะนี้ แต่ยังคงเฝ้าระวังอยู่
…
วันจันทร์ (23 ส.ค.) ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของศรีลังกาเปิดเผยว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา ซึ่งแพร่ระบาดทั่วประเทศ เกิดการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยใหม่ รวมทั้งหมด 4 ตัว เนื่องจากอัตราการติดเชื้อที่สูง แต่ยังไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีน
ศาสตราจารย์นีลิกา มาลาวิก หัวหน้าแผนกภูมิคุ้มกันวิทยาและเวชศาสตร์โมเลกุลของมหาวิทยาลัยศรีชยวรรธนปุระ ระบุว่ามีการพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตากลายพันธุ์ใหม่ รวมหมดทั้ง 4 สายพันธุ์ย่อย จากการลำดับพันธุกรรม แต่ยังไม่มีเหตุให้ตื่นตระหนกจนกว่าจะทราบถึงผลกระทบของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์เหล่านี้
โดยเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา กลายพันธุ์ใหม่ชนิด A-222V ถูกพบในหลายประเทศ และอีก 3 สายพันธุ์ย่อยจากสายพันธุ์เดลต้า ที่พบในศรีลังกา คือ
- สายพันธ์ุย่อย A-1078S พบในศรีลังกาและมาเลเซีย
- สายพันธุ์ย่อย A-701S และ สายพันธุ์ย่อย R-24C พบในศรีลังกาเท่านั้น
ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสและไม่ได้หมายความว่าเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ มาลาวิกกล่าว
มาลาวิกเสริมว่าผู้เชี่ยวชาญพบการกลายพันธุ์หลายชนิดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์อัลฟา รวมถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่พบในศรีลังกาที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ในประเทศ ซึ่งไม่มีเรื่องให้ต้องกังวล
“ดังนั้นแม้เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่แพร่ระบาดในประเทศอาจจะเกิดการกลายพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะบางอย่าง แต่ก็ไม่มีเหตุผลให้ต้องตื่นตระหนก”
มาลาวิกกล่าวว่าการกลายพันธุ์เหล่านี้ไม่มีแนวโน้มสูงว่าจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 พร้อมขอความร่วมมือประชาชนเข้ารับวัคซีน
ศรีลังกากำลังเผชิญกับยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่ามีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา โดยทางการศรีลังกาประกาศบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิวทั่วประเทศเมื่อวันศุกร์ (20 ส.ค.) และมีผลสิ้นสุดวันที่ 30 ส.ค. ขณะที่โรงพยาบาลหลายแห่งรองรับผู้ป่วยถึงขีดจำกัด เนื่องจากมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ ศรีลังกามียอดผู้ป่วยเสียชีวิตมากกว่า 7,000 ราย และยอดผู้ป่วยอยู่ที่ 390,000 ราย